ชีวิตต้องดำเนินไป
การดำรงชีวิต ต้องประกอบกิจกรรม เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย
ทุกคนล้วนมีหลักในการดำเนินชีวิต แม้แต่เด็กทารก ก็ถือตนเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก
สามารถแยกหลักดำเนินชีวิตออกเป็นหลักใหญ่ๆ ที่นิยมกัน คือ ๓ หลัก อันได้แก่
หลักตามใจตัวเอง หลักสังคม และหลักศีลธรรม
ในที่นี้ จะขอกล่าวแต่เฉพาะประเด็นที่มีปัญหาสำหรับผู้มีศีลธรรมเป็นหลักดำเนินชีวิต คือ
ระดับของหลักศีลธรรม
หลักศีลธรรมมีหลากหลาย แยกย่อยออกได้ตามระดับความสำคัญ ความใหญ่ ความเลิศ ฯลฯ
ดังเช่นที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ในบรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ เป็นธรรมอันเลิศ และ ความไม่ประมาท เป็นธรรมใหญ่กว่าธรรมทั้งปวง
เป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ธรรมทานชนะทานทั้งปวง
แต่พระองค์ก็ทรงสอนห้ามภิกษุแสดงธรรมแก่ผู้ที่ไม่ฟังธรรมด้วยความเคารพ
ไม่ให้แสดงธรรมแก่ผู้ที่ฟังไม่เข้าใจ/ไม่สนใจ
หลักศีลธรรมที่หลากหลาย แยกย่อยแตกต่างกันนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม
จะต้องศึกษาหาความรู้ให้กว้างขวาง แตกฉาน และจะต้องฝึกฝน นำไปประพฤติปฏิบัติให้ชำนาญ
มี มโนสุจริต จริงใจ ขจัดอัตตา กิเลส ออกไป และไร้อคติ
จึงจะรู้ซึ้งและเข้าอกเข้าใจในหลักศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเกิดการขัดกันในหลักศีลธรรม
ปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง คือ เวลา สถานที่ บุคคล และสถานการณ์
ผู้ประพฤติปฏิบัติ ต้องรู้จักเลือกหลักศีลธรรมที่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า
เลือกที่จะงดเว้น ไม่ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมที่เล็กกว่า สำคัญน้อยกว่า
ตัวอย่างเช่น
หลักความสุจริต ความยุติธรรม และหลักการไม่พูดปด
หลักความสุจริต ความยุติธรรม ย่อมใหญ่กว่า สำคัญกว่า
หากคิดพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว อาจเข้าใจว่า
หลักศีลธรรมทั้ง ๓ นี้จะเป็นไปในทางเดียวกัน สอดประสานไม่ขัดแย้งกัน
แต่ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติควบคู่กันไป จะพบสัจจธรรมที่ว่า
ในโลกที่สับสนอลม่านใบนี้ ในสังคมที่มากไปด้วยคนฉ้อฉล ทุจริต ลำเอียง เล่นพรรคเล่นพวก
ระเบียบ-กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่หละหลวม ฯลฯ
การคงไว้ซึ่งความสุจริต ความยุติธรรม ในบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้วิธีพูดปด (โดยไร้ทุจริต)
คนที่มีอำนาจ มีอิทธิพล มีการศึกษา มีกำลังฯลฯ แต่ขาดศีลธรรม
มักเอาความได้เปรียบที่ตนมีอยู่ มาเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนผู้อื่น
เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในโลกใบนี้
การพูดปด เพื่อรักษาสุขภาวะของคนสุจริต
เพื่อช่วยเหลือคนสุจริต ให้ได้รับความเป็นธรรม
ปลอดภัยจากการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบจากคนทุจริต
เป็นสิ่งที่สุจริตและยุติธรรมอย่างยิ่ง
การปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นหลักศีลธรรม
การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ที่ถูกต้อง
แต่หากผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำผิดศีลธรรม
การละเว้น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง
ไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่ง
มีผู้คนจำนวนมากที่ยังลังเล ไม่เข้าใจในแนวคิดเรื่อง ระดับความสำคัญ ความใหญ่ ของหลักศีลธรรม
จึงขอชวนเชิญให้ทำการศึกษา ระดับของหลักศีลธรรม
แล้วท่านจะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนา
ประพฤติปฏิบัติตามหลักศีลธรรมได้มากขึ้น สะดวกขึ้น และสบายใจยิ่งขึ้น ฯ
๑ กันยายน ๒๕๕๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น