ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งคนมีชีวิตต้องศึกษา

                                         


ความรู้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งคนมีชีวิตต้องศึกษา
ขออุทิศให้กับ ผู้อ่อนประสบก่ารณ์ ผู้บาดเจ็บทางจิตใจเพราะความไร้จริยธรรม


จริยธรรม 
เป็นศาสตร์และศิลป์ไม่ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรของระบบการศึกษาสมัยใหม่
จะมีบ้าง ก็เพียงเนื้อหาที่กระจัดกระจายไร้ความสำคัญ

ผู้เขียนไม่ทราบเหมือนกันว่า มีเหตุผลอะไร? ที่นักการศึกษาจึงทำเช่นนั้น
จะอ้างว่า เป็นเรื่องศาสนาก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะสามารถแยกหลักจริยธรรมออกจากหลักความเชื่อทางศาสนาได้โดยง่าย

โดยเนื้อหาแล้ว หลักจริยธรรมเป็นกระบวนการศึกษาความรู้ที่เป็นนามธรรม
โดยผ่านทางจิตใจ
เป็นกระบวนการศึกษาที่ต้องวัดผลที่ความยอมรับ การนำไปปฏิบัติจริง
ไม่ใช่การท่องจำ ไม่ใช่การขีดเขียน
ทำให้การประเมินผล การให้คะแนนทำได้ยากยิ่ง

โดยเนื้อแท้แล้ว
หลักจริยธรรม ไม่ใช่ความรู้ด้านวิชาการ
ไม่ใช่ความรู้ด้านอาชีพ
แต่เป็นความรู้ด้านการดำเนินชีวิต

ซึ่งโดยเนื้อแท้อีกเช่นกัน
หลักจริยธรรม เป็นศาสตร์ที่สำคัญและจำเป็นกับคนทุกๆคน
ยิ่งกว่าศาสตร์ใดๆที่มีการกำหนดให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน
สำคัญและจำเป็นยิ่งกว่าทักษะใดๆ
ที่มีการส่งเสริมให้มีการประกวดแข่งขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง

จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึง ณ ปัจจุบัน
ผู้เขียนพบว่า
นักศึกษาที่สอบเข้าสาขาชั้นยอดในมหาวิทยาลัย
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการชั้นสูง
ตลอดจนนักการอาชีพผู้ประสบกับความสำเร็จในอาชีพของตน
จำนวนมากที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอ
กลับล้มเหลวและสอบตกในด้านหลักจริยธรรม

นักกฎหมาย ไม่รักษาความยุติธรรม
นักการแพทย์ ปฏิบัติต่อผู้ป่วย ประหนึ่งเหยื่อทางการแพทย์
นักปกครอง มองดูประชาชนของตนว่า เป็นดั่งทาสโง่ๆ
ครูอาจารย์ ทำกับลูกศิษย์อย่างเดียวกับที่พ่อค้าทำกับลูกค้าของตน
นักศึกษาไม่รักการเรียน ไปสนใจสิ่งยั่วยุต่างๆที่ล่อหลอกเยาวชนอยู่ทั่วไปหมด
สามี-ภรรยา นอกใจกัน ละเลยหน้าที่ต่อครอบครัวและบุตรหลาน
บุรุษ-สตรี สำส่อนร้อนเร่าในกิจกรรมทางเพศ
ผู้คนในสังคมเสแสร้ง หลอกลวง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบกันอย่างโหดร้าย
ผู้คนต่างเห็นแก่ตัว ทำชั่วต่อกันอย่างไม่ละอายและเกรงกลัวต่อบาป

ไม่มีเหตุผลกลใดที่จะมาอ้างและอธิบายถึงความเสื่อมทรามทางจริยธรรมของบุคคลเหล่านี้
นอกเสียจากการไม่สนใจใยดี การไม่เห็นประโยชน์ การเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อการหารายได้

ที่สำคัญ หลักจริยธรรมไม่ได้ตอบสนองความต้องการด้านสัญชาติญาณสัตว์ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คน
มิหนำซ้ำ ยังขัดขวาง-กีดกั้น-ป้องกัน-ชักจูง-สั่งสอน ให้ลด-ละ-เลิกความต้องการทำตามอำเภอใจของคน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกทางจิตใจที่ดื้อรั้น-ดื้อด้าน-ดึงดัน-ควบคุมได้ยาก เป็นอย่างยิ่ง

หลายต่อหลายชีวิต รักษาความไร้จริยธรรม และถ่ายทอดสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น
ปานประหนึ่งมรดกตกทอด
หลายต่อหลายชีวิตมีทัศนคติที่ดูหมิ่นดูแคลนเหยียดหยาม หลักจริยธรรม
และถ่ายทอดทัศนคตินี้ไปสู่ลูกหลานปานประหนึ่งเป็นสิ่งชั่วช้าสามาญย์

การที่จะทำให้หลักจริยธรรมเป็นสิ่งที่ถูกมองเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิต
จึงจำเป็นต้อง รอให้เจ้าของชีวิตได้รับบทเรียนจาการใช้ชีวิตที่ไร้จริยธรรมของตน
จนต้องประสบกับชะตากรรมอันโหดร้าย เจ็บปวด ลำบากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
แล้วหันไปพึ่งพาเครื่องรางของขลัง ไสยศาสตร์ มนตร์ดำ โหราศาสตร์
จนเมื่อการกระทำเหล่านี้ ไม่บังเกิดผลอันใดที่ให้ความสงบสุขกลับมา
นั่นแหละ จึงหันหน้าเข้าพึ่งศาสนา
ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้าง สะสม รักษา ธำรงไว้ซึ่งหลักจริยธรรม ศีลธรรม เอาไว้อย่างเหนียวแน่น
(แม้ว่า นักการศาสนาบางคนกลับไร้จริยธรรมเสียเอง)

คนบางคนโชคดี ที่สามารถเรียนรู้บทเรียนชีวิตได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องถูกทาง
ได้อาศัยหลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น ลดปัญหาอุปสรรค ละมีความสุขสงบ

คนบางคนโชดดีที่ถือกำเนิดในครอบครัวที่ยึดหลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
ทำให้ได้รับการถ่ายทอดจริยธรรม ได้รับการขัดเกลาจิตใจตั้งแต่วัยเยาว์
ชีวิตของคนเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนคนที่มีบุญวาสนา
เพราะเป็นคนที่มีชีวิตที่ราบรื่น มีปัญหาอุปสรรคน้อย และมีความสงบสุข

ผู้เขียน เป็นคนหนึ่งซึ่งถือกำเนิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่เห็นความสำคัญของหลักจริยธรรม ชีวิตในวัยเยาว์จึงดำเนินไปตามอำเภอใจ
จนเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น การทำตามอำเภอใจในชีวิตทำให้ต้องประสบกับปัญหา อุปสรรคนานัปการ
ความเจ็บปวด ความเสียใจ จากการกระทำที่ผิดพลาด-ล้มเหลว จนแทบไม่อยากจะมีชีวิตอยู่
ได้นำพาผู้เขียน ให้หวนกลับไปสนใจศึกษาพุทธศาสนา หลักปรัชญาและจิตวิทยาอย่างจริงจัง

ได้แยกแยะหลักจริยธรรมที่เป็นสัจจะสากล ออกจากหลักความเชื่อทางศาสนาพุทธ
และได้นำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง หนักแน่น

ทำให้ชีวิตที่เคยเปรียบเสมือนผ้าสกปรกกลับผุดผ่อง ราวกับจะส่องประกายระยิบระยับ
สามารถรับรู้ได้ด้วยจิตใจที่ผ่องใสเอิบอิ่ม เปี่ยมด้วยความสงบสุข
จนผู้ที่พบประสบหน้าต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า ผิวพรรณ-ใบหน้า ผุดผ่องนวลใส
ผิดไปจากอดีต

ผู้เขียนขอจบบทความนี้
ด้วยการขอชวนเชิญให้ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ได้ลองเจียดเวลาศึกษาหลักจริยธรรม และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันดูบ้าง

แล้วท่านจะพบว่า
ชีวิตเดียวกัน คนเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม
กลับกลายเป็นเสมือนหนึ่งได้เกิดใหม่ เป็นคนใหม่ ที่สดใส ก้าวไกลยิ่งกว่าเดิม ฯ

๒๙ กันยายน ๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น