ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

มีดวงตา-มืดบอด : กลอนคติสอนใจ



มีดวงตา-มืดบอด : กลอนคติสอนใจ

    ฝนพรำ ย่ำรุ่ง..................หมอก(ฝน)คลุ้ง คละขาว เบาบาง
นภา กระจ่าง......................หาก ร้าง ว้างไร้ ไกรสูรย์
เมฆคล้ำ กล้ำคลุม...............ประชุม ปรกฟ้า อาดูร
ลมพัด ลัดพูน.....................เกื้อกูล อากาศ สะอาดอาย

    ทุจริต มิจฉา...................อุรา พาให้ ไม่เห็น
เท็จ-จริง สิ่งเจน...................เฉกเช่น เมฆบูรณ์ สูรย์หาย
ความคิด มิจฉา....................แปรผัน ปัญญา ประกาย
กลับเสื่อม สลาย..................จนกลาย จริง-เท็จ-เจตนา

    หากแม้น ว่ามี..................ทรงศี ลธรรม กรรมสัตย์
สัมมา จริยวัตร.....................สะอาด ทัศนะ สิกขา
ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี.....................ศีลธรรม นำทัศน์ พัฒนา
ทวี ปัญญา..........................สิริ ชีวะ สถาวร

    ศีลผลัก รักษา..................อุรา ย่อมจะ สกปรก
มลทิน จินต์รก......................ลามก ยกฉ้อ ย่อหย่อน
อกุศล กิเลส.........................ต้นเหตุ บาปธรรม กำธร
ประวิง นิ่งนอน......................ยิ่งจัก ยากถอน ย้อนทน

    จงทุ่ม เทใจ.....................ใฝ่ศีล รักษา ปฏิบัติ
ทุจริต จิตขจัด.......................ดัดใจ ให้ลุ กุศล
ศึกษา พยายาม.....................หลักธรรม ความดี ปรีดิ์ดล
ลบเขลา เมามน.....................วิกล จนสิ้น ภินท์พาน(ภินท์=ทำลาย)

    เหมือนเมฆ จางหาย...........จากกราย นภา พลันสว่าง
ปัญญา กระจ่าง......................ชีวะ สะพร่าง สุขศานติ์
มุ่งสู่ สุคติ..............................อริยะ สร้างสรรค์ บันดาล
สุขี ธีรธาร..............................ตลอด นิรันดร์ กาลเทอญ ฯ

๓๐ กันยายน ๒๕๕๗

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ครรลองของคู่รัก : กาพย์ฉบัง๑๖




ครรลองของคู่รัก : กาพย์ฉบัง๑๖

    ฟ้าแลบยามเริ่มรุ่งสาง.................เคล้าด้วยเสียงคราง
ฟ้าร้องคำรามตามมา

    ไร้เสียงซ้องของปักษา...............(คง)เพราะไร้สุริยา
รังค์รองรุจิราประไพ

    เมฆคลุมนภาหมดปรากฏไม่...............ขอบฟ้าคลาไคล
ชั่วอึดใจสายฝนพรำ

    ไพรสณฑ์ผลรื้นชื้นฉ่ำ................ประกายสายน้ำ
ต้องแสงรำไรใสสี

     ถึงมีน้ำล้นชลธี.................ป่าไม่ใยดี
เหมือนมีพิรุณสุนทร์พิไล

    จะแปลกแยกจากจิตใจ.................(ของ)นราหาไม่
ที่ใคร่ครองรักสลักเสลา

    มิใช่ได้ใครก็เอา................กามกลั้วมัวเมา
พาเรามีกินมีใช้

    หากทว่าหาได้ใส่ใจ...............คอยสนิทชิดใกล้
ให้ความอบอุ่นละมุนหา

    (แต่)ต้องการคนที่มีเวลา...............ร่วมหรรษ์นันทนา
ชีวาคู่คิดชิดสหาย

    ดูแลยามไข้ไม่สบาย................อยู่เคียงข้างกาย
มิคลายความคิดถึงกัน

    ผูกหัวใจสายสัมพันธ์................(ทุก)ชีวิตมุ่งมั่น
เสมอสวรรค์วิมานแมน ฯ

๒๙ กันยายน ๒๕๕๗

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

นักเดินทางแห่งวัฏสงสาร : กลอนคติเตือนใจ



นักเดินทางแห่งวัฏสงสาร : กลอนคติเตือนใจ

    เดินทาง จนกระ ทั่งเกิด................กำเนิด บนโลก ใบนี้
สังขาร สานสร้าง ชีวี........................เป็นที่ ยึดทัศน์ อัตตา

    เพลิดเพลิน เผชิญ ชีวิต................ประดิษฐ์ ประจัญ ปัญหา
สบทุกข์ สุขะ เวทนา........................คืนวัน ผ่านมา ผ่านไป

    พบเจอ ความยาก ลำบาก..............ล้นหลาก ประสบการณ์ ลานให้
เรื่องสนุก เริงร่า สบายใจ...................เรื่องเศร้า ร้าวไหม้ หลายมี

    (เรื่อง)บีบคั้น บั่นความ รู้สึก............ระลึก ใดเล่า เท่านี้
(เรื่อง)ผ่อนคลาย ระหาย ฤดี...............กลับมี กำลัง วังชา

    หากมอง เหมือนการ ท่องเที่ยว.......ให้เปลี่ยว เดียวดาย นักหนา
ผู้คน พ้นผ่าน ไปมา..........................ชั่วครู่ ชั่วครา อาทร

    อาจยล คือการ ผจญภัย.................เร้าใจ ร้ายซุ่ม รุมซ่อน
มิตรน้อย คอยหา อาวรณ์....................ศัตรู สลอน รอบตน

    เฉกการ ท่องเที่ยว ทั้งหลาย............สุดท้าย ต้องกราย จากพ้น
ของที่ ระลึก ตรึกดล...........................กับตน ก็เพียง เวรกรรม

    เดินทาง มาทั้ง ชีวิต.......................อ้างสิทธิ์ (ใน)อัตตา ระส่ำ
เมื่อจาก พรากที่(อยู่)ประจำ.................เที่ยวตาม อำนาจ วัฏฏา

    เสบียง (มี)เพียงบุญ พูนสม..............อุดม/แคลนขาด วาสนา
ขึ้นกับ (การ)ก่อกรรม ทำมา..................ไม่น้อย/มากกว่า ชะตาเอย ฯ

๒๘ กันยายน ๒๕๕๗

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

ทำผิด-ทำถูก : กลอนคติสอนใจ




ทำผิด-ทำถูก : กลอนคติสอนใจ

    เช้านี้สุรีย์แสงจ้า นภากระจ่าง.............คงเพราะฝนพร่าง ตลอดทั้งวันวาน
แดดจัดบาดตา กายาสะท้าน..................เริ่มร้อนรนราน ก่อนกาลอันควร

    เมฆาหลากก้อน ลอยร่อนเกาะกลุ่ม......บางครั้งกลุ้มรุม บังสูรย์พูนผวน
แดดดับกลับไร้ ให้เหเรรวน.....................เหมือนฝนจลจวน พรวนพลปรนเปรอ

    ไม่ว่าจะรู้ตัว หรือไม่ก็ตาม...................ความโง่มัก ลาม ก่อนความฉลาดเสมอ
แลยามใดที่ ฤดีเผอเรอ..........................ก็จะพบเจอ ความเซ่อซ่าประจำ

    กว่าจะรู้ตัว (ว่า)ก่อกรรมทำผิด.............ก็(หลังจาก)เกิดวิกฤติ ประชิดกรายกล้ำ
แต่หากใส่ใจ ใคร่จด สลดจำ....................สามารถเก็บงำ ทำทดบทเรียน

    ถ้าดื้อถือรั้น ปัญญาเต่าตุ่น...................(ทำ)ผิดข้นจนคุ้น พูนถนัดผลัดเพี้ยน
กล้าทำกรรมชั่ว ทั่วริวิเชียร.......................มิอาจแปลงเปลี่ยน ปรับปรุงจรุงตน

    ถ้าเป็นคนดี มีปัญญาฉลาด...................ระวังพลั้งพลาด มิขาดกุศล
สติสัมปชัญญะ รักษากมล........................พยายามพร่ำพ้น มลทินจินดา

    ชีวะจะงาม พร้อมความสำเร็จ................แก้หนต้นเหตุ เผด็จสรรพ์ปัญหา
ละผิด-ทำถูก ปลุกปั้นจรรยา......................ศีลธรรมนำพา วัฒนาสถาพร

    ทำถูกให้เจน จนเป็นนิสัย......................ฤดีพิไล ยิ่งใหญ่ไกรสร
สุจริตสิทธา สุนทราอาทร..........................เสริมสุขสโมสร ไถ่ถอนทุกข์เทอญ ฯ

๒๗ กันยายน ๒๕๕๗

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

บริหารเงิน : โคลงสี่สุภาพ



บริหารเงิน : โคลงสี่สุภาพ

. ฝนตกค่ำจรดเช้า...................จุใจ
หลังจากห่างเหินไกล................เกือบแล้ง
สุริยนอยู่หนใด ?......................ไป่สบ
พบเมฆาแผ่แกล้ง.....................กลบฟ้าพลาผยอง ฯ

. มองเห็นเพียงแสงเรื้อง............รำไร(เรื้อง=เรือง)
จนเพลาผ่านไคล.......................สายคล้อย
เหมือนฝนมิใส่ใจ.......................ธุรกิจ
ปิดโอกาสเหลือน้อย...................พ่อค้าแม่ขาย ฯ

. อย่างไรยังเปิดร้าน...................ปกติ
พากเพียรพยายามมิ....................เกียจคร้าน
ฝนตกก็ช่างสิ.............................เสมือนเอ่ย
ขืนอยู่เฉยทรัพย์ม้าน....................กิน-ใช้เช่นเดิม ฯ(ม้าน=เหี่ยวแห้ง)

. ตราบยังเริ่มเปิดร้าน.................ย่อมมี
โอกาสขายของดี.........................แม้น้อย
หาควรปล่อยชีวี...........................สูญเปล่า
เอาแต่เล่นเป็นร้อย......................ไร้วุฒิภาวะ ฯ

. คนสมัยใหม่ต้องพึ่ง...................เงินตรา
แลกเปลี่ยนสิ่งของอา-...................หารเกื้อ
นอกจากเพียงเพื่อหา.....................จับจ่าย
ขวนขวายเก็บออมเอื้อ....................เผื่อไว้อนาคต ฯ

. เงินหมดหากเจ็บไข้....................ขึ้นมา
เอาอะไรเป็นค่ายา.........................ค่ายื้อ?
ชีวิตวิกฤติถา................................เคราะห์ถ่วง
อาจจำล่วงเงินรื้อ...........................ออกใช้ไขขัดสน ฯ

. จงเตือนตนอย่าคร้าน...................ทำกิน
อย่าจับจ่ายจนชิน...........................ก่อหนี้
เงินเหลือก่อนชีวิน..........................วายดับ
ดีกว่าเงินลับลี้................................แต่ครั้งยังชนม์ ฯ

. รายจ่ายอย่าให้ล้น.......................รายรับ
อย่าก่อภาระสรรพ...........................เกินกล้า
ความสันโดษคือทรัพย์.....................อันยิ่ง(สันโดษ=ยินดีเท่าที่มีเท่าที่ได้)
เห็นสิ่งของสินค้า............................อย่าซื้อเกินจำเป็น ฯ

๒๖ กันยายน ๒๕๕๗

*สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธน    ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง (พุทธพจน์)

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

ความจำ-ความรู้-ความดี : กลอนหก



ความจำ-ความรู้-ความดี : กลอนหก

    สามารถ จดจำ คัมภีร์.......................ศาสนา ศีลธรรม คำสอน
สวดมนตร์ บ่นท่อง คล่องคอน................พูดสอน=แค่มี " ความจำ "

    (สำนึก)รู้คุณ บุญทาน ศานติ..............สมาธิ-ศีล-ภา วนาพร้ำ(พร้ำ=พร้อม)
(สำนึก)รู้โทษ โฉดหยาบ บาปกรรมฯลฯ....ช่ำชอง ต้อง" ความ รู้ " จริง

    แต่ " ความ ดี " สิ แตกต่าง.................ต้องสร้าง ต้องย้ำ ทำยิ่ง
กาย-วา จา-ใจ ใฝ่อิง.............................ละทิ้ง สิ่งชั่ว มัวเมา

    ถือศีล ชินส่ำ ธรรมสัตย์......................ปฏิบัติ ประจำ ค่ำเช้า
ตั้งอก ตั้งใจ ใฝ่เกลา..............................ค่อยเข้า (ลักษณะ)" คนดี " มีดาล

    ทัพพี มิรู้ รสแกง...............................คือ" ความ จำ " แจง แข็งขาน
จำได้ (แต่)ทำไม่ ได้การ.........................(เป็น)ได้แค่ อันธพาล จัญไร

    " จำได้-เข้าใจ-ใคร่รู้ ".........................ทางสู่ ปฏิบัติ วัตรใส
ก่อกรรม" ทำดี "นิรามัย...........................ฝึกใจ จนมั่น จรรยา

    " ความดี " จึงจะ บังเกิด......................ประเสริฐ สมมาตร ปรารถนา
จึงเป็น " คนดี " ปรีชา.............................ควรค่า มาเกิด เป็นคน

    " ความจำ-ความรู้-ความดี "..................ใครมี สิ(บรร)ลุ กุศล
เลิศล้ำ จำเริญ เพลินดล...........................สิริล้น พ้นทุกข์ สุขเอย ฯ

๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

อยากได้ลูกชายหรือลูกสาว ? : บทความ



อยากได้ลูกชายหรือลูกสาว ? : บทความ

๏ ผมไม่ได้มีความรู้ด้านสังคมวิทยาอะไรมากมาย
    ที่พอรู้บ้างก็เป็นเพียงประสบการณ์ที่ได้เห็นได้ฟังได้อ่านมาเท่านั้น
    เมื่อเช้าตอนไปจ่ายตลาด ระหว่างรอซื้อกับข้าวก็ได้ยินแม่บ้าน 2 คนคุยกัน
    คนที่แก่กว่าพูดด้วยใบหน้าที่เปี่ยมความสุขว่า ลูกสาวของเธอเพิ่งคลอด ได้ลูกสาวคนที่สอง
    คู่สนทนาก็แสดงความยินดีพร้อมพูดว่า ลูกสาวตัวเองยังไม่ได้ลูกสาวเลย
    คนที่แก่กว่าก็พูดให้กำลังใจและอวยพรขอให้ได้หลานสาวไวๆ
    ทำให้ผมคิดว่า อะไรทำให้คนไทยอยากได้ลูกสาวและดีใจที่ได้ลูกสาวขนาดนั้น ?
    ดูเหมือนลูกชายจะไม่เป็นที่ต้องการเอาเสียเลย(ล้อเล่น)

ผมเป็นคนอีสาน อาศัยอยู่ภาคอีสาน
    ที่เห็นจนเจนตาเจนใจคือ เด็กผู้หญิงจะอ่อนหวาน น่ารัก ว่านอนสอนง่าย ช่วยงานบ้านได้
    ส่วนเด็กผู้ชายจะดื้อ-ซน ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน มักไม่เอาถ่าน สูบบุหรี่ กินเหล้าและเสียคนเป็นจำนวนมาก
    การเลี้ยงลูกชาย มักมีค่าใช้จ่ายมากกว่าลูกสาว ทั้งค่าอาหาร ค่าการศึกษา 
    และค่าใช้จ่ายจิปาถะโดยเฉพาะค่าเสียหายที่เจ้าลูกตัวแสบไปก่อเรื่องไว้ ฯลฯ
    พอแต่งงาน ฝ่ายชายต้องเสียเงินทองค่าสินสอด แถมต้องเป็นฝ่ายย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง เป็นกำลังช่วยงานครอบครัวฝ่ายหญิง
    ส่วนลูกสาวโดยเฉพาะคนสุดท้อง จะถูกคาดหวังให้อยู่ดูแลพ่อแม่จนแก่จนเฒ่า คอยผลิตสมาชิกให้แก่ครอบครัว
    เรียกว่า พอคนไทยมีลูกสาว ก็เริ่มฝันเห็นกำไรอันงดงามในอนาคตกันเลยทีเดียว
    คนไทยจึงถือว่าการมีลูกสาวหลายคนเป็นความโชคดี
    กลับกัน พอมีลูกชายก็จินตนาการเห็นแต่เรื่องขาดทุน มีแต่เสียกับเสีย(ใส่ไฟเล็กน้อย)
    แต่ผมก็เคยได้ยินคนแก่พูดว่า มีลูกสาวเหมือนมีไหปลาร้าตั้งอยู่หน้าบ้าน
    (ปลาร้ามีกลิ่นแรง รสชาติอร่อยสำหรับคนอีสานส่วนใหญ่)
    (ความหมายคือ ใครมีลูกสาวจะเป็นที่กล่าวขานข้ามหมู่บ้าน ข้ามตำบล ข้ามอำเภอกันขนาดนั้น และจะดึงดูดผู้ชายให้มาหาถึงบ้าน)
    ก็มีหลายครั้งเหมือนที่ได้ยินว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน
    (คงหมายถึงความประพฤติที่เสื่อมเสีย โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กผู้หญิงกลับชอบเป็นฝ่ายเที่ยวไปหาผู้ชาย)

ต่างจากคนจีน
    ที่อยากได้ลูกชาย ไม่อยากได้ลูกสาว
    ใครยังไม่ได้ลูกชาย จะพยายามมีลูกไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ลูกชาย(มีขีดจำกัดอยู่)
    ใครได้ลูกชายแล้วก็อยากได้อีกหลายๆคน
    เพราะคนจีนให้ความสำคัญกับการสืบทอดวงศ์สกุลโดยลูกชาย
    เด็กผู้ชายชาวจีนจะถูกคาดหวังจากพ่อแม่ญาติพี่น้องทุกด้าน ทั้งความสำเร็จ ความร่ำรวย เกียรติยศ ชื่อเสียง
    ลูกชายจะเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา และเป็นผู้ทำพลีกรรมให้แก่พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว
    ลูกชายคนโตมักจะได้รับการสืบทอดกิจการต่อจากพ่อ แต่คนจีนมักจะสร้างกิจการให้แก่ลูกชายทุกคน
    พอแต่งงาน แม้ฝ่ายชายจะต้องเสียค่าสินสอด และฝ่ายหญิงจะต้องมาอยู่บ้านฝ่ายชาย
    แต่โดยประเพณีนิยม พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบค่าสินสอดที่ได้จากฝ่ายชายให้ลูกสาวและเพิ่มเงินทองสมบัติแถมมาให้อีก นัยว่า เป็นเครื่องบรรณาการครอบครัวฝ่ายชาย ให้เมตตา รักและเอ็นดูลูกสาวตนเองด้วย และแสดงถึงความมีฐานะของฝ่ายหญิง
    ในกรณีที่คู่สมรสไปสร้างครอบครัวใหม่ การยกเงินสินสอดและแถมทรัพย์สินแก่ลูกสาว เท่ากับเป็นการให้ทุนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
    ทำให้คนจีนพอมีลูกชาย-หลานชาย ก็ดีอกดีใจฉลองกันเป็นการใหญ่ ยิ่งกว่าถูกรางวัล
    ผมเคยได้ฟังคำพูดจากปากผู้เฒ่าชาวจีนว่า ลูกสาวที่แต่งงานไป " เป็นของคนอื่น " คำๆนี้ สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง
    กรณีที่คนไทยแต่งงานกับคนจีน
    ถ้าผู้ชายไทยแต่งกับผู้หญิงจีน เท่าที่ผมเคยเห็นมักจะราบรื่นดี
    แต่ถ้าผู้ชายจีนแต่งกับผู้หญิงไทย เห็นมีหลายกรณีที่เกิดความขัดแย้งขัดเคืองใจ ในหมู่ญาติที่ต่างยึดธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายตนซึ่งแตกต่างจากอีกฝ่าย
    คือ พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเก็บค่าสินสอดไว้เอง  ฝ่ายชายก็มองว่านี่เป็นการขายลูกสาว(คนจีนไม่มีความคิดว่าค่าสินสอดคือค่าเลี้ยงดูลูกสาวอย่างที่คนไทยชอบอ้างกัน) แถมจะเอาลูกชายของเขาไปด้วย เป็นการเอาเปรียบกันชัดๆ
๏ ส่วนคนอินเดีย
    การมีลูกชายคือ เปรียบปานเทพทรงประทานของมีค่าจากสวรรค์มาให้
    เพราะคนอินเดีย ให้ความสำคัญกับการสืบทอดวงศ์สกุลเหนือสิ่งอื่นใด
    ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ล้วนหามาได้โดยผู้ชาย เป็นของผู้ชาย
    ส่วนผู้หญิง เป็นได้แค่คนช่วยดูแลงานบ้านงานเรือน เลี้ยงเด็ก
    พอแต่งงาน ฝ่ายหญิงก็ต้องเสียเงินทองค่าสินสอดให้ฝ่ายชาย และย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย ช่วยงานบ้านงานเรือน เป็นแรงงานรับใช้ครอบครัวฝ่ายชายด้วย
    มีข่าวน่าเศร้าในประเทศอินเดียให้เห็นเรื่อยๆ เรื่องที่พ่อแม่และสามี ทำร้ายลูกสะใภ้จนพิการ/เสียชีวิต เพราะไม่ได้ค่าสินสอดตามที่ต้องการ
    ผมไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับคนอินเดียแต่งงานกับคนไทย
    แต่คิดว่าถ้าจะมีปัญหาก็คงเป็นกรณีที่ผู้ชายอินเดียแต่งกับผู้หญิงไทย เพราะต่างฝ่ายต่างจะเอาสินสอดจากอีกฝ่าย

หลายๆประเทศในเอเชีย จะไม่นิยมส่งเสริมให้ลูกสาวได้ศึกษาเล่าเรียน หรือลงทุนกับลูกสาว
    เพราะแต่งงานไปก็ต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เป็นแรงงานให้ครอบครัวฝ่ายชาย
๏ คนฝรั่งตะวันตก
    ลูกๆพอโตขึ้นต้องออกจากบ้านพ่อแม่ ไปสร้างหลักปักฐาน สร้างฐานะของตัวเอง
    ผู้ชาย-ผู้หญิงไม่ค่อยมีการแตกต่างด้านอาชีพ หน้าที่ กิจกรรมกันมากนัก
    เรื่องการแต่งงานไม่มีประเพณีนิยมอะไรสำคัญมากไปกว่า ฝ่ายชายให้แหวนเพชรแก่ฝ่ายหญิง
 และทำพิธีแต่งงานกันในโบสถ์
     ทำให้คนฝรั่งตะวันตก ไม่ค่อยยึดติดเรื่องการมีลูกชายหรือลูกสาว
     ถึงจะพอมีความโน้มเอียงที่คุณแม่ๆอยากมีลูกสาว และคุณพ่ออยากได้ลูกชายอยู่บ้างก็ตาม
  
๏ ว่ากันตามความเป็นจริง
     ความแตกต่างของการมีลูกชาย-ลูกสาว เกิดจากวัฒนธรรมประเพณีที่คนสร้างขึ้น มากกว่าเหตุผลทางกายภาพ
     ค่านิยมเช่นนี้เปลี่ยนแปลงได้ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วตามการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนนอกสังคมเกษตร และในหมู่ชนที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น
     ความยึดติดกับการอยากมีลูกชาย-ลูกสาว จะไม่ยั่งยืนอยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ตลอดกาลนานอย่างแน่นอนฯ

๒๔ กันยายน ๒๕๕๗

ทุกข์ถ้วนหน้า : กลอนสิ่งแวดล้อม



ทุกข์ถ้วนหน้า : กลอนสิ่งแวดล้อม 
(ฉันทลักษณ์ที่ผมคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง)

    ....................................................แสงอรุณ รุ่งสาง ดั่งผ้าไหม
คลี่อ่อนนุ่ม คลุมฟ้า นภาลัย.....................สีสดใส ใคร่ตื่น มาชื่นชม

    .....................................................สกุณา ร่าเริง บันเทิงสม
เพรียกเพลงร้อง พร้องร่าย ไพรระงม..........รัญจวนจิต ชิดจม รมย์ฤดี

    .....................................................กระเล็นหลง ส่งเสียง เรียงถี่ๆ
กิ่งก้านไต่ ตาส่อง ป้องไพรี......................พร้อมท่าที ปรี่ขยับ อย่างฉับไว

    .....................................................ลมพัดดิน กลิ่นหญ้า หอมมาให้
บริสุทธิ์ ผุดผาด สะอาดไอ.......................จึงจำนง จงใน ไพรพนา

    .....................................................(หวัง)ให้อยู่ยง คงยาม ความเป็นป่า
คู่ปฐพิน ดินแดน แผ่นนภา........................เพื่อโลกหล้า สมดุล สุนทรทาน

    ......................................................อย่ามัวหวัง ตั้งจิต พิษฐาน
(จง)ประกอบด้วย ความดี+วิชาการ.............สู้ต่อต้าน กระแส แส่ทำลาย

    .......................................................(ความ)อยากมั่งมี ยีย่ำ ทำฉิบหาย
เศรษฐกิจ คิดนำ ธรรมชาติกลาย.................ดุจจะสาย เกินแก้ แล้โลกา

    .......................................................เห็นแก่ตน จนเร้น เห็นปัญหา
เห็นแก่ได้ โลภมาก หลากนานา..................(จึง)ไม่เห็นค่า อนาคต หมดสิ้นครัน

    ........................................................ภัยธรรมชาติ บัดนี้ ทวีผัน
ภัยมนุษย์ สุดร้าย ไม่เกรงทัณฑ์...................ทำให้วัน และคืน ขาดรื่นรมย์

    ........................................................ปัญหาซุก รุกซ้ำ ระยำถม
มีชีวิต (แต่)จิต(หวั่น)ไหว ใจกรอมกรม..........ทั่วสังคม สมควร ทุกข์ถ้วนเอย ฯ

๒๓ กันยายน ๒๕๕๗

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

อกุศลหนทางเสื่อม : กลอนเจ็ด



อกุศลหนทางเสื่อม : กลอนเจ็ด

    อากาศ อบอ้าว ราวจะเรียก................พร้องเพรียก พายุ พัดสู่สัณฑ์
ฟ้าโปร่ง โล่งเปล่า เร่าร้อนปัน.................แสงจัด สาดจ้าน ครั่นกายี

    หน้าฝน แท้ๆ แต่ขาดฝน....................ร้อนรน จนคลาด ปราศสุขี
ความชื้น คงเชือน เหมือนไม่มี.................หรือนี่ (คือ)สัญญาณ (หน้า)ฝนผ่านใย ?

    ไม่มี เมฆา มาบังแดด........................สูรย์แผด ส่องเผา ผ่าวไฉน
ไม่มี กุศล กำโบลใจ..............................ก็ไร้ สุขสันติ์ ลาญร่มเย็น(กำโบล=ลูบไล้)

    ชนมัก จักทำ ตามใจอยาก..................การจะ กระดาก (ส่วน)มากไม่เห็น
(ความ)เกรงอก เกรงใจ กลายดั่งเป็น.........สาปเร้น สูญไร้ กับสายลม

    ความโลภ โอบรัด อัตตาหลั่ง...............สรรค์สั่ง พลังซ่าน กระสันสม
ความเหี้ยม โหดร้าย ใจจ่อมจม.................เบียดเบียน เพียรบ่ม อารมณ์(มืด)ดำ

    ความไม่ เชื่อบุญ-สุนทาน-บาปฯลฯ........ดั่งส้อง ต้องสาป ตรับทรวงต่ำ
ความไม่ เชื่อหมด กฎเวรกรรม...................ย่อมทำ สาไถย (อย่าง)ไม่เกรงกลัว

    ถึงมี ปริญญา ความสามารถ..................เมื่อปราศ ศีลธรรม ประจำทั่ว
ไม่สร่าง ต่างซึ่ง สัตว์หนึ่งตัว......................เมามัว ชั่วเดช กิเลสดอง

    ถึงมี สินทรัพย์ คับสมบัติ.......................อำนาจ รัฐกุม รุ่มผยอง
(ถ้า)วิถี ชีวิต ผิดครรลอง...........................ก็ต้อง ตกต่ำ ระกำเอย ฯ

๒๒ กันยายน ๒๕๕๗

วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

สวรรค์ในอก นรกในใจ : กาพย์สุรางคนางค์๓๒



สวรรค์ในอก นรกในใจ : กาพย์สุรางคนางค์๓๒

    " สวรรค์ ในอก.....................นรก ในใจ "
(เป็น)อุปมา อุปไมย..................มิใช่ สัจจะ
ถ้อยเทียบ เปรียบเปรย...............เอ่ยคำ ธรรมะ
ถึงส ภาวะ...............................อุระ ประจญ

    คนโง่ มักง่าย.......................กล่าวร้าย ป้ายสี
" สวรรค์ ไม่มี............................ที่พูน บุญผล
นรก ก็ไร้..................................ใดรอ ทรชน
ภพอื่น ดื่นพ้น............................ยลเห็น เร้นจริง

    วิญญาณ ว่างเปล่า..................เราตาย ไคลสุญ
(เป็น)สุขฤา คือบุญ.....................(เป็น)ทุกข์ทูน=บาปยิ่ง
กฎแห่ง เวรกรรม........................ศีลธรรม ความจริง
(คือ)จินตนาการ อันยิ่ง................กลิ้งกลอก หลอกลวง "

    (อธิบาย)เป็นเรื่อง ธรรมดา........ชะตา ชีวิต
นรา ลิขิต..................................พิสดาร พานห้วง
ประสบ พบการณ์........................แผกสาน พล่านทรวง
เวรกรรม ตามดวง........................ปวงสัตว์ อัชฌา

    สัมผัส ที่หก...........................ยากยก พิสูจน์
(ทำ)ได้เพียง เรียงพูด..................หลักพุทธ ศาสนา
มิใช่ ลวงหลอก...........................กลิ้งกลอก มารยา
มิใช่ ใฝ่หา.................................เงินตรา บารมี

    เป็นเพียง ผู้ชี้..........................วิถี สว่าง
ให้เห็น หนทาง............................ล้างทุกข์ (เป็น)สุขี
ด้วยจิต เมตตา.............................กรุณา ปราณี
แผ่ทั่ว โลกนี้................................จิรกาล นานเอย ฯ

๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

บาปบุญดุลยภาพ : กาพย์ยานี๑๑



บาปบุญดุลยภาพ : กาพย์ยานี๑๑

    สอดแทง แสงสุดท้าย...................ตะวันย้าย ปลายปัจฉิม
เรืองทอง รองทาบพิมพ์.....................ริมขอบฟ้า นภาฟอง(ฟอง=คะนอง)

    จำรัส จัดเรียงรงค์.........................อย่างบรรจง ยรรยงจ้อง(ยรรยง=งามสง่า)
หลากสี ระวีส่อง...............................ฉลองกัษณ์ รัตติกาล(กัษณ์=กษณะ=ขณะ)

    รักชม รมย์ธรรมชาติ......................งามประสาท สะอาดศานติ์(ประสาท=ยินดีให้)
ศรัทธา แด่สาธารณ์...........................วิจิตรปาน ทุกวารไป

    เชื้อชาติ ศาสนา...........................โลกสร้างมา ฤาหาไม่ ?
ชนชั้น วรรณะใช้...............................ประโยชน์ใด ไปล่สากล ?(ไปล่=ผาย)

    ใดผู้ ที่ดูงาม.................................ด้วยพูดหยาม พล่ามเหยียดผล ?
ใครมี ความพิมล................................โดยยกตน เหนือคนตรา ?

    ยิ่งยก ยิ่งตกต่ำ..............................ยิ่งเหลื่อมล้ำ ย้ำปัญหา
จิตใย ใจมารยา..................................อวิชชา อนาถชวน

    เกิดใน โลกใบนี้..............................ทุกฤดี ชีวะล้วน
ร่วมภพ ร่วมรบกวน...............................เวรกรรมก่อ ต่อแก่กัน

    เวียนกาย วายกลับเกิด......................ทราม/ประเสริฐ กำเนิดสรรค์
บาปทูน บุญเกื้อทัน...............................เสมอหน้า ศรัทธาเทอญ ฯ

๒๐ กันยายน ๒๕๕๗

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

คำแม่สอน : โคลงสี่สุภาพ




คำแม่สอน : โคลงสี่สุภาพ

. กลิ่นควันจากถ่านไม้..................โชยมา
แม่อยู่หุงปรุงอา-..........................หารเช้า
เตือนว่าเป็นเวลา..........................ควรตื่น
คืนสติสัมปชัญญะเร้า.....................เริ่มต้นใหม่วัน ฯ

. แข็งขันกวาดบ้านช่อง.................เรือนชาน
แบ่งเบาภาระงาน..........................เล็กน้อย
ตามกำลังแก่กาล..........................วัยเด็ก
สรรค์เสกคุณค่าร้อย.......................ปลูกเค้าเป็นคน ฯ

. จึงจรจลอาบน้ำ..........................แต่งตัว
เวลาไหลไม่มัว..............................ชักช้า
ทานอาหารในครัว..........................รสแม่
ที่ดูแลไป่ล้า..................................แต่เช้าตลอดชนม์ ฯ

. ไปโรงเรียนหนรู้..........................วิชา
นอกจากในตำรา............................แต่ห้อง
โลกรอบตัวต่างตรา.........................สรรพศาสตร์
คนฉลาดสำเหนียกส้อง....................เสาะสู้แสวงหา ฯ

. พัฒนาความคิดให้.......................เกริกไกล
พัฒนาอุปนิสัย................................อ่อนน้อม
พัฒนาขัดเกลาใจ............................สุจริต
พัฒนาชีวิตพร้อม.............................แกร่งกล้าอนามัย ฯ

. ใส่ใจสิ่งแวดล้อม..........................รอบตน
หลีกเลี่ยงเหล่าทรชน........................ชั่วร้าย
เลือกคบหาแต่คน.............................สุจริต
มิตร/ศัตรูดูคล้าย..............................ควรรู้คัดกรอง ฯ

. ผองอาชญาอย่าล้ำ.......................ล่วงลอง
อบายมุข=ทุกข์จำจอง.......................ทั่วแท้
ราคีริแส่ครอง...................................ทรามเสื่อม
ค่านิยมฉลหลากแล้...........................อย่าได้ใยดี ฯ

. ความมีศีลธรรมเอื้อ........................อำนวย
มั่งมีศรีสุขรวย...................................ราบรื้น
วิถีชีวีสวย........................................สะอาด
ปราศเภทภัยไคลครื้น.........................เหล่านี้แม่สอน ฯ

๑๙ กันยายน ๒๕๕๗

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

กินน้อย-ใช้น้อย : กลอนแปด



กินน้อย-ใช้น้อย : กลอนแปด

    วาสนา (เมล็ด) หญ้าน้อย ลอยมาตก............ไกลผืนดิน ถิ่นดก วิโยคศรัย(ศรัย=อาศัย)
รอยแยกบน ถนนจอง ต้องจำใจ.......................ผลิยอดใบ ไตรเอิบ ค่อยเติบโต

    ทุกคืนวัน กันดาร อาหาร-น้ำ........................โดนเหยียบย่ำ ซ้ำซาก แสนอักโข
ความอดทน คือพลัง คลังเดโช.........................ไม่เลโล โอ้เอ้ เกเรรน

    มีน้ำน้อย ใช้น้อย ค่อยเติบใหญ่.....................มิต้องไป แข่งขัน กระสันสน
มีต้นน้อย ใบน้อย ร่อยกังวล..............................ออกดอกผล ดลให้ ได้เห็นงาม

    ชีวิตคน ลางคน เริ่มต้นจาก...........................ครอบครัวหลาก ยากจน ดิ้นรนหลาม
แต่ไม่หยุด อุตส่าห์ พยายาม.............................อยู่ด้วยความ อดทน แม้จนใจ

    เมื่อมีน้อย ใช้น้อย คอยประหยัด.....................มิอึดอัด ขัดเคือง คิดเรื่องใหญ่
 เมื่อใช้น้อย มีน้อย ด้อยอันใด............................เป็นสุขง่าย ไม่ยาก ลำบากเยือน

    กิน-ใช้น้อย พลอยช่วย ด้วยโลกา...................ประหยัดรับ ทรัพยา หายากเหมือน
อนาคต สดใส ไม่ลางเลือน...............................ดูวันเคลื่อน เดือนคล้อย พร้อยเพริศเพียง

    มีมากมาย ใช้น้อย คอยตระหนัก.....................อนุรักษ์ โลกรุ่ม อย่าสุ่มเสี่ยง
ทำลายสิ่ง แวดล้อม พร้อมลำเลียง......................เห็นแต่เพียง ตนได้ ในปัจจุบัน

    โลกใกล้กาล บรรลัย รู้ไว้เถิด.........................หยุดก่อเกิด ตัณหา อย่ากระสัน
มีโลกดื่น อื่นใด ให้อยู่กัน ?................................เพียงโลกเรา เท่านั้น พึงพรั่นเอย ฯ

๑๘ กันยายน ๒๕๕๗  

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

จะรักจะใคร่ : กาพย์สุรางคนางค์๒๘




จะรักจะใคร่ : กาพย์สุรางคนางค์๒๘

    ..................................อาหาร การกิน
มักหา ถวิล........................รสลิ้น สนอง
โภชนา ค่าคุณ...................คิดครุ่น เรื่องรอง
วิตก บกพร่อง....................ของคน มากมาย(วิตก=ความคิด)

    ..................................วิถี ชีวิต
สนุก ขลุกคิด.....................กิจชวน ขวนขวาย
มักเสาะ ก่อกรรม์.................เสี่ยงสรร อันตราย
สร้างความ เสียหาย.............ถึงตาย ให้ตน

    ...................................แม้แต่ เรื่องรัก
สนุก สุขมัก........................ฝักใฝ่ หมายผล
ขาดความ รอบคอบ..............ลอบรีบ ร้อนรน
จึงพบ ประสบคน.................ทุกข์ท้น (เป็นปกติ)ธรรมดา

    ...................................จะรัก จะใคร่
จงอย่า อยู่ใต้......................แรงสัตว์ ปรารถนา
กำเนิด เป็นคน.....................ล้นลาน ปัญญา
ควบคุม อุรา........................รักษา คุณธรรม

    ....................................ทำตาม ใจอยาก
นำความ ลำบาก....................ทุกข์ยาก กระหน่ำ
ชั่วสาป บาปเซ่น....................ก่อเวร เป็นกรรม
ชีวิต ตกต่ำ............................ติดตรำ ดวงแด

    ......................................ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี
สำนึก ตรึกมี..........................พามิ พ่ายแพ้
สิ่งล่อ ลวงใจ.........................โลกหลาย ให้แล
(หาก)หลงใหล ได้แต่..............ท้อแท้ ทรมาน ฯ

๑๗ กันยายน ๒๕๕๗

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

น้ำตาลหนึ่งเม็ด : กลอนเจ็ด



น้ำตาลหนึ่งเม็ด : กลอนเจ็ด

    คนปรุง อาหาร น้ำตาลตัก.............พูนช้อน (รีบ)ร้อนนัก มักร่วงหล่น
เล็กน้อย ร่อยนับ สำหรับคน...............มิพอที่ มีผล (จึง)บ่สนใจ

    น้ำตาล หนึ่งเม็ด ที่เล็ดลอด...........มดน้อย ค่อยดอด คาบเก็บไว้
หวนกลับ รังรี่ แสนดีใจ.....................ที่ได้ อาหาร เพื่อพันธุ์พงศ์

    คนรวย ล้นเหลือ เมื่อจ่ายจับ..........ไม่นับ พาที (เหมือน)เรื่องขี้ผง
(เงิน)ละลาย หายวับ กลับดำรง...........มั่นคง ฐานะ พสุนอง(พสุ=สมบัติ)

    กินทิ้ง กินขว้าง คล้ายล้างผลาญ......สนุก สนาน ศานติ์สนอง
กระทำ ตามใจ มิไตร่ตรอง..................ข้าวของ เครื่องใช้ ไร้จำเป็น

    โฉบเฉี่ยว เที่ยวทาง ต่างประเทศ......แค่เศษ เงินหาญ สำราญเห็น
โรงแรม ห้าดาว ราวกับเป็น..................ของเล่น ของส่ำ คนร่ำรวย

    ที่ดิน ถวิลหา ซื้อมาเก็บ..................เพชรทอง ส้องเสพ ปานเทพท่วย(ท่วย=หมู่,เหล่า)
สัตว์เลี้ยง เพียงพร่ำ เพลินอำนวย..........เครื่องช่วย ประดับ ปรับบารมี

    ในขณะ ที่คน ล้นโลกหลาก..............อดอยาก บากยัน ผ่านวันนี้
อนาคต หมดไร้ เหมือนไม่มี..................ขาดที่ อาศัย ใช้ทำกิน

    ว่างเปล่า ข้าวหุง เครื่องนุ่งห่ม...........ทุกข์ตรม ทุกตื่น วันคืนสิ้น
ที่ยืน ยังไร้ ใช้ชีวิน..............................ที่ดิน อย่าหวัง ดั่งฝันไป

    ร่วมโลก ร่วมคน รวย-จนคู่................(แต่)ต่างคน ต่างสู่ อยู่อาศัย
ต่างมี ชีวิต และจิตใจ...........................(แต่)ตัวใคร ตัวมัน นิรันดร ฯ

๑๖ กันยายน ๒๕๕๗