ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ดวงฤดีที่ยิ่งใหญ่ : กลอนจรรโลงใจ - ลูกแมวถูกทิ้ง 29 พค 2564


ดวงฤดีที่ยิ่งใหญ่ : กลอนจรรโลงใจ


    เล่นคน(ตัว)เดียว ก็ได้ สบายดี.................................เมื่อไม่มี (ผู้)ที่ใกล้ชิด มิตรสหาย

อากาศดี ขืน(มัว)ลีลา น่าเสียดาย........................เอี้ยวบิดกาย ใต้แสงอาทิตย์ สุขจิตดล


    ความร่มเย็น เช่นนี้ (เมื่อ)มีโอกาส............................ก็อย่าขาด ศรัทธา (มัว)หาเหตุผล

จงบันเทิง เริงใจ ในชีพชนม์...............................ใยต้องทน ถึงชาติหน้า ประสบ(ผล)บุญ


    ไม่ต้องรอ ฐานะดี ค่อยมี(ความ)สุข..........................ไม่ต้องทุกข์ เพียงเพราะว่า ทรัพยา(สมบัติ)สุญ

ไร้ยศถา บรรดาศักดิ์ หลักฐานทุนฯลฯ..................มิทำให้ ใจเป็นจุล สิ้นคุณธรรม

 

    ตราบหัวใจ ใสเย็น เป็นปกติ....................................ปราศอุปธิ กิเลส เจตทรามต่ำ

ไม่โลภมาก อยากมี-เป็น เร้นบาปกรรม.................ก็มิจำ เป็นต้อง เศร้าหมองมัว


    ลูกแมวเพิ่ง ถูกทิ้ง ยัง(มีหัวใจ)ยิ่งใหญ่......................หลังจากได้ กิน-นอน ผ่อนคลายทั่ว

อนาคต ข้างหน้า หาหวาดกลัว............................ยังตรองตรึก(ได้) รู้สึกตัว (ก็)สุขหัวใจ

 

    คำสรรเสริญ นินทา ในอากาศ..................................สิสามารถ ตัดสิน ชีวินไม่

(คน)ชอบก็ชม (ใคร)สมคิด ก็พิสมัย.....................(คน)ชังก็ใช้ ปากติฉิน เสียด(สี)นินทา

 

    มิใส่ใจ ในมารยา เหล่ามนุษย์..................................(ใคร)ทำได้ดุจ หลุดพ้น (คำ)คนครหา*

ผู้แน่นหนัก ถือหลักธรรม ศีล(ธรรม)สัมมา.............เลิกถือสา ค่านิยม สังคมทราม


    ทรัพย์ยิ่งใหญ่ ในมนุษย์ คือ(ความ)สุจริต..................มีชีวิต โดยไม่ต้อง ข้องคำถาม

ว่าชาตินี้ มีอะไร ได้(เจริญ)งอกงาม......................ชาติหน้าต้อง สนองตาม ทำ(กรรม)อะไร(ไว้)?


๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*คนส่วนใหญ่ในโลก นิยมชมชอบ-ยอมรับคุณค่าของคนที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง ความรู้ความสามารถ

ใครที่อุตสาหะพยายามพัฒนาชีวิตตน จนมีสิ่งเหล่านั้นก็รอดตัวไป ไม่ค่อยโดนใครดูถูกเหยียดหยามนินทา

แต่ถ้าใครไม่มี ก็อย่าเอามาเป็นสาระสำคัญของชีวิตเลย.

อย่ามัวแต่(ท่องจำ)ไม่ยึดมั่น : กลอนคติเตือนใจ





อย่ามัวแต่(ท่องจำ)ไม่ยึดมั่น : กลอนคติเตือนใจ


    พบคราบงู อยู่ข้างบ้าน.................................คือสัญญาณ(เตือนว่า) ทุกวันนี้

ความปลอดภัย ไม่เคยมี............................มวลชีวี มีศัตรู


    ธรรมชาติ ประสาธน์โลก..............................ให้ชุ่มโชก โรคภัยสู่

อย่ามัวเห็น รักเอ็นดู.................................มิมองดู สัจธรรม(ความเป็นจริง)


    นอกเสียจากพร้อม อยากยอมรับ..................อาชญาสรรพ ชั่วร้ายส่ำ

เป็นปกติ ชีวีกรรม....................................(ที่)ต่างริยำ ทำต่อกัน

 

    (นอกจากนั้น)ยังมีผู้ ดูเลื่อมใส......................รักกลไก บรรลัยสรรค์

ไร้เมตตา ปราศศีลธรรม์............................ดิบเถื่อนดัน สันดานตน


    เสพสุขใน เกมไล่ล่า...................................ทำร้าย-ฆ่า(ผู้อื่น) ปรีดาผล

รัก(การ)เบียดเบียน คอยเวียนวน................เป็นสุขล้น ท้นฤทัย

 

    นี่(จึง)มิใช่ โลกในฝัน..................................เปี่ยมสุขสันติ์ บันเทิงใฝ่

ล้นทุกข์โศก โรคเภทภัย...........................ตลอดไป ตลอดกาล

 

    (ภัย)เก่าผ่านไป (ภัย)ใหม่ผ่านมา.................เป็นสัจจา โลกาฐาน

(ความ)มิประมาท ประเสริฐดาล.................ทุกสถาน ทุกกาลเพียร


    อย่ามัวแต่ "ไม่ยึดมั่น".................................ท่องจำกัน ถูกปั่นเศียร(ปั่นหัว)

รู้จักหา ศึกษาเรียน..................................ความรู้เปลี่ยน* แปลงทุกวันฯ


๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*หมั่นศึกษาหาความรู้ จะได้รับมือทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การท่องจำคำว่า "ไม่ยึดมั่น" ไม่ทำให้พ้นทุกข์ โดยที่ไม่รู้อะไร-ไม่ทำอะไรเลย.

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โอกาสทำดี-ทำชั่ว : กาพย์ยานี๑๑



ลูกแมวตัวที่ 2 ในรอบ 1 สัปดาห์ที่พบถูกทิ้งวัด
หลังจากเช็ดหน้าเช็ดตาเช็ดตัวแล้ว ค่อยดูสะอาดขึ้น
ตายังบวมแดงอยู่เลย คงร้องไห้มาทั้งคืน+ไม่สบาย อายุประมาณไม่เกิน 1 เดือน

โอกาสทำดี-ทำชั่ว : กาพย์ยานี๑๑

เริ่มต้นฤดูทิ้งแมว


    ชีวัน ช่างรันทด...................................เพิ่งปรากฏ(ตัว) บนโลกนี้

ไม่นาน กาลกลับกลี...........................(ถูก)อัปเปหิ ทิ้งทอดวัด


    ชลเนตร เทวษไหล.............................ทุกข์หทัย ให้สาหัส

อนิจจา มารดาพลัด(พราก).................ยังไม่หัด ให้หย่านม


    ขณะที่ (บาง)ชีวีสุข.............................อีกหลาย(ชีวิต)ทุกข์ คลุกขื่นขม

ร่ำไห้ ใจจ่อมจม................................ตรมตรอมจิต ชีวิตจร

 

    แยบยล ดูคนอื่น.................................คอยหยิบยื่น อุทาหรณ์(สอนใจ)

สัจจา คุณากร...................................ใยต้องวอน เดือดร้อนตน


    ใช่ว่าสิ มีแต่สุข..................................(โลก)ยังดื่นทุกข์ ทุกแห่งหน

(มี)ปัญหา สาละวน.............................ปะปนอยู่ (จง)รู้แก่ใจ

 

   (ดำรง)ชีวา อย่าประมาท......................หากผิดพลาด เพียรแก้ไข

(หาก)ปล่อยปละ ละเลยไป..................หนทาง(รอด)ไร้ ไม่ทันการณ์

 

    พบเห็น เป็นโอกาส............................จงฉลาด ใจอาจหาญ

เกื้อหนุน ทำบุญทาน...........................ตามพื้นฐาน ประมาณตน(ทำแล้วไม่เดือดร้อน)


    หวังบรรลุ สุคติ..................................จงดำริ จิตติ*กุศล

ให้สม กับเป็นคน.................................กระมลเลิศ ประเสริฐเทอญฯ


๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*[จิด-ติ] (สก. จิตฺต)=น. ความคิด, ความตริตรอง, สติปัญญา, ความตั้งใจ, ประโยชน์, ความฉลาด, ความเลื่องลือ.

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พูดง่ายแต่ไม่ทำ : กาพย์ยานี๑๑



พูดง่ายแต่ไม่ทำ : กาพย์ยานี๑๑


    หลักนำ หลายสำนัก...................................นิยมมัก ชักชวนหมาย

ถ่าย(ทอด)กัณฑ์ ธรรมบรรยาย..................โน้มเลื่อมใส ใจศรัทธา


    บอกเล่า ราวบรรลุ......................................ธรรมเอกอุ สู่เทศนา

สร้างภาพ สรรพโสภา..............................ลาภ-สักการ์ ปองเจริญ


    ฉาบฉวย ด้วยจริต......................................บ่ชอบพิศ คิดผิวเผิน

ธรรมทัศน์ ขาดๆเกินๆ..............................แค่ฟังเพลิน สรรเสริญไกร

 

    (พูด)ถูก-ผิด ไม่พิจารณา............................มอบศรัทธา มาเลื่อมใส

เงินทอง ปองกายใจ................................ยอมถวาย ใคร่อุปฐาก


    การพูด พิสุทธิ์(ธรรม)ง่าย..........................ทำให้คล้าย(คำพูด) ละม้ายยาก

แสดงธรรม ลึกล้ำหลาก...........................แต่ส่วนมาก ล้วนผลักไส(ไม่ทำตามคำพูด)

 

    คำพูด (เรื่อง)ความหลุดพ้น........................ได้ยินจน จำขึ้นใจ

แต่(การ)กระทำ สิทำไม...........................ยังหลงใหล ในโลกีย์

 

    ธรรมไซร้ มีไว้พูด......................................ท้าพิสูจน์ วิมุตติศรี(วิมุตติ=ความหลุดพ้น)

ผู้ใด ในปัถพี..........................................ละยินดี โลกียธรรม?


    ยังคง หลงลาภยศ.....................................สักการฯลฯจด จ้องโปรดล้ำ*

สนใจ วินัยธรรม.....................................เพียงคำพูด ที่สุดเลยฯ


๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*คนพวกนี้ส่วนใหญ่ จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ฐานะยากจน ชีวิตยากลำบากมาก่อน

บางคนก็พอมีบ้างแต่ไม่มาก คิดโลภมาก-มักง่าย มุ่งหมายมาหากินกับผ้าเหลือง

บวชมาก็เพื่อจะได้หาความร่ำรวย ยศถาบรรดาศักดิ์ มีคนกราบไหว้เคารพ มีชีวิตที่สุขสบาย

มิได้เข้าใจหรือสนใจที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังเลย แค่ทำพอเป็นพิธี-ผิวเผิน-ฉาบฉวย

ผู้ที่เข้าใจหลักธรรมวินัย ลองสังเกตจะเห็นได้ไม่ยากว่า

คนพวกนี้แค่ชอบพูด-แสดงกิริยาท่าทางให้ดูน่าเลื่อมใส แต่การดำเนินชีวิต-การกระทำกิจต่างๆ จะไม่สอดคล้องกับธรรมวินัยและคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หนักไปทางทำตามความนิยมชมชอบส่วนตัว ผสมผสานกับค่านิยมของสังคม เพราะเมื่อเป็นที่ชื่นชอบจากสังคม ก็จะหาลาภสักการะได้มากมายและง่ายดาย

มีไม่น้อยที่ฝักใฝ่ทางไสยศาสตร์ เพราะคนงมงายไสยศาสตร์มีมาก เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมเสียด้วยซ้ำ

แต่ก็ยังเรียกตัวเองว่าเป็นพระสายปฏิบัติ ชอบตั้งสำนักอยู่ในป่า บ้างก็บุกรุกทำลายป่า สร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตอลังการ โดยเฉพาะประเภท"ที่สุดในโลก" ล่อใจให้คนมาเที่ยวจะได้รับลาภสักการะล้นเหลือ.


                                     พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สังขิตตสูตร
[๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระ- *วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟัง แล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ด เดี่ยวอยู่เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อประกอบ สัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่ง สมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็น ไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย หมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อ ปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคน เลี้ยงง่าย ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลาย กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไป เพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็น ไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย หมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อ ความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี ท่านพึง ทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ

กรอบกรรม : กลอนคติธรรม



กรอบกรรม : กลอนคติธรรม


    กรอบเปล่าว่าง แต่กว้างใหญ่....................เพียงหัวใจ(ตน) ภายในเห็น

ใช้กำหนด กรรมกฎเกณฑ์.......................เพียรบำเพ็ญ เป็นกิจจา


    บุญ-กุศล บนคติ.....................................มรรคนิธิ วิภูษา(คติ=แนวทาง,นิธิ=ขุมทรัพย์,ิวิภูษา=เครื่องแต่ง)

เสมอศีล สัตย์จินดา...............................ตราบชีวา ถือกระทำ


    เพื่อบรรลุ จุดมุ่งหมาย.............................เหินห่างหาย ชั่วร้ายส่ำ

บาปหลุดพ้น (รวมทั้ง)อกุศลกรรม............ตั้งใจทำ จำให้ดี

 

    หลัก ทาน-ศีล-ภาวนา.............................บุญกิริยา ประเสริฐศรี

(ทาน)แบ่งปันให้ ไม่ตระหนี่.....................ทำเท่าที่ มิลำเค็ญ


    (ศีล)ไม่ทำผิด หลักศีลธรรม.....................เบียดเบียนกรรม ต่ำทรามเว้น

อบรม(จิต)ใจ ใสสะอาดเย็น.....................วิสุทธิ์เฟ้น เร้นมลทิน

 

    กุศลกรรม กระทำนิตย์.............................ชูชีวิต อุกฤษฏ์วศิน(อุกฤษฏ์=สูงสุด,วศิน=ผู้สำรวมอินทรีย์)

สุจิตรา ไร้ราคิน......................................งามโศภิน อจินไตย(สุจิตร=ยิ่งใหญ่,อจินไตย=สิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน)

 

    กุศลธรรม กรรมาบท...............................วางกรอบกฎ พรตพิสัย

สุจริตกาย วาจา-ใจ................................ประยุกษ์ใช้ ในชีวี


    เมื่อปราศจาก อกุศล...............................ย่อมหลุดพ้น มลวิถี

ประเสริฐภพ ประสบดี..............................ได้-เป็น-มี นิรันดรฯ


๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ความทุกข์เป็นเครื่องเตือนใจ : กาพย์ฉบัง๑๖




ความทุกข์เป็นเครื่องเตือนใจ : กาพย์ฉบัง๑๖

 

ข่าวโควิด-วัคซีนล้น.......................ทำให้บางคน

เหลืออดเหลือทนบ่นระอา

 

    ส่วนคนเข้าใจ(จะ)ไม่ถือสา.....................ชีวาตม์สัจจา

คอยหาความรู้ดูไว้

 

    ความทุกข์เป็นเครื่องเตือนใจ.....................จงอย่าหลงใหล

ชีวีมิใช่ให้หฤหรรษ์

 

ปัญหามาปลุกทุกวัน.....................ให้ปราศสุขสันติ์

ต้องตั้งขันติอดิศัย

 

ทุกอย่างมิได้ดั่งใจ.......................แค่บางอย่างไซร้

อาจสมใจมาดปรารถนา

 

ความมีศีลธรรม์ปัญญา......................คุณธรรมสัมมา

(ความ)เข้าใจสัจจา(พาให้)ประสิทธิ์ผล

 

ช่วยยังชีวีนิรมล.....................ทุกข์ปลอดรอดพ้น

มิอับจนจิตคิดสงสัย

 

สามารถก่อกรรมอำไพ......................ดำเนิน(ชีวิต)อย่างมั่นใจ

ปลอดภัยไม่หม่นมัวหมอง

 

    ตั้งตนอยู่บนครรลอง......................หลักความถูกต้อง

มิข้องชั่วช้าอกุศล

 

เมื่อหลัก(ความ)ถูกต้องจองประจญ......................เป็นเหตุเป็นผล

ให้พ้นทุกข์ยากลำบากเข็ญ


อยู่ในโลกได้อย่างร่มเย็น......................ชีวิตใช้ให้เป็น

คือประเด็นสำคัญจรรโลง

 

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ความสุขสิ้นสุดไว ยามทุกข์ใยผ่านไปช้า : กลอนคติชีวิต



ความสุขสิ้นสุดไว ยามทุกข์ใยผ่านไปช้า : กลอนคติชีวิต


    เวลาแห่ง สุขสันติ์ แสนผ่านไว.................................ทว่ายาม ทุกข์ใจ ใยเชื่องช้า?

คือพจี ที่ได้ยิน จนชินชา...................................ทั่วโลกา นราพบ ประสบเป็น


    แท้ที่จริง(เร็ว-ช้า) แค่เพียง "ความรู้สึก"....................ณ ส่วนลึก ของหัวใจ ไม่ชอบ(ทุกข์)เข็ญ

อยากมีแค่ ความสุข สนุกเล่น............................ตลอดไป ไม่เว้น เร้นเวลา


    แต่ชีวา หาได้ ให้เพียงสุข......................................ยังมอบทุกข์ ทรมาน มีปัญหา

ขึ้นอยู่กับ เคราะห์กรรม ตามชะตา-.....................ชีวิตใคร ในมรรคา กฎแห่งกรรม

 

    บางชีวัน ปัญหาสู่ อยู่เสมอ....................................ต้องพร่ำเพ้อ โศกเศร้า เช้าจรดค่ำ

บางชีวี มีสุขเย็น เป็นประจำ...............................อกระรื่น ชื่นฉ่ำ เป็น(ปกติ)ธรรมดา


    เรื่องเดียวกัน บันเทิงใจ ในบางคน..........................(แต่)กับอีกคน ยลเห็น เป็นปัญหา

สิ่งเดียวกัน บ้างคร้านเกลียด เครียดระอา.............แต่เป็นที่ ปรารถนา อยากจะมี(ในคนอื่น)

 

   ขึ้นอยู่กับ อัตตะ ทัศนคติ .......................................มโนธรรม ดำริ เลือกวิถี

แลเบื้องสุด จุดมุ่งหมาย ในชีวี............................หลากประเด็น เป็น-มี อยู่ที่คน(แต่ละคน)

 

    ไม่อยากท้อ ก็อย่าทำ กรรมชั่วบาป.........................รู้จักหลาบ รู้จักจำ กรรมอกุศล

มีสำนึก ตรึกตรอง ครรลองกล.............................ก่อกรรมดี มีผล ดลพิไล


    อกุศล* (ละ)มูล พอกพูน=เหตุ.................................อุปธิ กิเลส** เจตสาไถย

จึงก่อกรรม ทำตน จนทุกข์ใจ..............................กุศลมูล*** หนุนนำให้ ไร้ทุกข์เอย


๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[68] อกุศลมูล 3 (รากเหง้าของอกุศล, ต้นตอของความชั่ว)
       1. โลภะ (ความอยากได้)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย— hatred)
       3. โมหะ (ความหลง —)


**[318] กิเลส 10 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง)

       1. โลภะ (ความอยากได้)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
       3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา)
       4. มานะ (ความถือตัว)
       5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
       6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง)
       7. ถีนะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย)
       8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
       9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว)
       10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)


***[67] กุศลมูล 3 (รากเหง้าของกุศล, ต้นตอของความดี )

       1. อโลภะ (ความไม่โลภ, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโลภะ, ความคิดเผื่อแผ่, จาคะ)
       2. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ, เมตตา)
       3. อโมหะ (ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง, ปัญญา)