ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หน้าหนาว/หน้าฝน : กาพย์ยานี ๑๑




หน้าหนาว/หน้าฝน : กาพย์ยานี ๑๑


       รังสิมา ระเรื่อเลื่อน..............ค่อยๆเคลื่อน คล้อยครึ้มเขา
สนธยา ราตรีเยา.......................คืบคลานเข้า มาเท่าแทน

       ชุติดา รกะดาว....................ศศิพราว วาววับแหวน
รงค์ชาด ค่อยคลาดแคลน............กาฬะแล่น แน่นนภา

        ค้างคาว เบาโบยบิน.............ออกหากิน ถิ่นถ้ำผา
เงาดำ รำระย้า............................เป็นสายยาว ราวสายชล

       ภาคเหนือ อากาศหนาว..........ภาคใต้ผ่าว พายุฝน
คลื่นลม โถมทับจน......................ทรายกระจัด หาดกระจาย

       คลื่นเค้ ทะเลคลั่ง..................ดุจจะพัง ให้ฝั่งหาย
กัดเซาะ ทะเลาะทราย..................ไม่ปราณี มิปรานอม

       ต้นไม้ ตามชายหาด.................ระเนระนาด มิอาจน้อม
ขุดราก ถอนโคนรอม......................ฉุดกระชาก ลากลงทะเล

       เมฆฝน ล้นหลากฟ้า.................มหึมา ระหนระเห
ลมซัด ฝนสาดเท...........................จนท่วมบ่า พนาดร

       เขาชุ่ม อุ้มไม่ไหว.....................ถล่มไถล ทะลายทะถอน
โคลนดิน หินห่าคลอน.....................ท่อนไม้ซุง พุ่งทะยาน

       บ้านช่อง ต้องพินาศ...................สวนโดนกวาด สัตว์โดนกว้าน
คนเซ เร่ซมซาน..............................อับชีวิต อนิจจา

       ผลให้ ภัยพิบัติ..........................เพราะคนขัด ตัดป่าคร่า
บุกรุก ปลูกยางพารา..........................เหตุตัณหา พาระกำ ฯ

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

การทำความดี เป็นเกียรติยศของชีวิต : โตฏกฉันท์ ๑๒



การทำความดี เป็นเกียรติยศของชีวิต : โตฏกฉันท์ ๑๒


      อุษโยค อวสาน...........ทิพวาร จรแจ้ง     (อุษาโยค=เวลาใกล้รุ่ง,ทิพ=วัน)
สุริย์ศรี ระวิแรง..................ชุติแพลง นภดล     (ชุติ=แสงสว่าง,นภดล=ฟ้า)

       อุปะภา ระประกฤติ........นฤมิต สิทธิ์ผล     (อุป=ใกล้,ภาระ=งานหนัก,ประกฤติ=ความเป็นปกติ,สิทธิ=ความสำเร็จ)
พิถยา พิภพ์จล...................อินทรี ยะชะตา        (พิถย=วิถี,พิภพ=โลก,จล=สั่นไหว-เคลื่อนที่,
                                                       อินทรีย์=สิ่งมีชีวิต,ชะตา=ลักษณะทำให้เกิดเหตุดี/ชั่ว)

       อนิลา อุปการ...............ธุระภาร อุณหา     (อนิล=ลม-อากาศ,อุปการ=ความช่วยเหลือ,
                                                                   อุณห=ความร้อน-ความอบอุ่น)
นิศชล พิรุณา......................ชลธาร ชลธี           (นิศาชล=น้ำค้าง,พิรุณ=ฝน,
                                                                   ชลธาร=แม่น้ำ,ชลธี=ทะเล)

       พสุธา อวิรุทธ์................ทุมะผุด สุทธ์ศรี     (อวิรุทธ์=สะดวก,ทุมะ=ต้นไม้
                                                                     สุทธ์=สะอาด-บริสุทธ์)
บุษบา ติณ์ขจี.......................พฤกษา นฤมล          (ติณ=หญ้า,นฤมล=ไม่มีมลทิน)

       ดิรฉาน นรชาติ................ภวะอาต มะชนม์    (นรชาติ=คน,ภว=ความมี-เป็น,ชนม์=การเกิด)
ภุญชา ปฏิสนธิ์......................กุลสืบ รตะพันธุ์         (ภุญช=กินอาหาร,รตะ=ยินดี )

       ศุภะภาร กิจะธร...............อนุสรณ์ อรสรรค์     (ศุภ=ความดีงาม,ธร=ผู้รักษาไว้,
                                                                       อร=สวยงาม,สรรค์=สร้าง)
สุริยา ทิพวรรณ......................สรการย์ พสุกล          (สร=แกร่งกล้า,การย์=หน้าที่,
                                                                       พสุ=ประเสริฐ)

       พินิจตาม คติตั้ง................จิตะสั่ง สะกุศล       (สะ=สวยงาม)
อุทิศา นฤมล..........................วิริย์ทน ยศะธีร์           (ธีระ=ปราชญ์)

        จุติมา สมะมุ่ง....................สิริรุ่ง สุระศรี         (สม=ควร,สุระ=กล้าหาญ)
ชุติกรรม ชำนะมี.......................สุวกฤดิ ชีวิตเอย ฯ     (สุว=ดีงาม,กฤดิ=เกียรติ)

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แม่.....: โคลงสี่สุภาพ



แม่.....โคลงสี่สุภาพ


. อันอ้อมกอดแม่แล้............อุ่นอบ
กว่าแห่งไหนในพิภพ.............สบสู้
หนาวใดในโลกจบ................เพราะแม่
รักใดในโลกรู้.......................แต่แท้แม่ถนอม ฯ

. อันกับข้าวแม่แล้................อร่อยนัก
กว่าแห่งไหนในจัก-................(ก)รวาลนี้
แม่มีเสน่ห์ปลายจวัก...............ปักอก ลูกแฮ
รักแม่มิแร่ลี้..........................ลับหล้าสุธาสวรรค์ ฯ

. อันคำพูดแม่แล้...................สุจริต
ประหนึ่งปิยะมิตร.....................ชิดเชื้อ
แม่สอนสั่งรังสฤษฏ์..................สุขส่ง
เพราะแม่ลูกแลเคื้อ...................คู่ค้อมเคียงสกุล ฯ

. อันสรรพ์สิ่งแม่ให้..................ใดเสมอ
แหล่งหลากยากจักเจอ...............เพียบเพี้ยง
เสมือนว่ามาบำเรอ....................ลูกแหง่
ใจแม่หมายแลเลี้ยง...................กว่าสิ้นอาสัญ ฯ

. อันพระคุณแม่เพี้ยง................พระสุรีย์
สอดส่องผองปถพี......................ปกป้อง
งามดุจดั่งรังค์ระวี........................วิสิษฏ์
หลอมหล่อต่อชีพพ้อง..................สุดหล้าประภาสรรค์ ฯ

. รำลึกคุณแม่ไท้........................เทียมทาน
กรานกราบศุภอุปการ....................เทิดฟ้า
กตัญญูกตเวทิฐาน........................แด่แม่
ตราบแผ่นดินสิ้นหล้า.....................ตราบให้ไตรสนอง ฯ

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

รัก...ไม่ใช่แฟชั่น : กาพย์ยานี ๑๑



รัก...ไม่ใช่แฟชั่น : กาพย์ยานี ๑๑


      รัก...ไม่ใช่ของหวาน..................ไม่ใช่การ พาลละเล่น
รัก...คือการก่อเวร............................เกิดผลกรรม ตามติดตน

      รัก...ไม่ใช่เครื่องประดับ...............ต้องสอดรับ กับเหตุผล
รักทั้งที ให้วิมล................................ไม่สัปดน สร้างมลทิน

      รัก...ไม่ใช่น้ำดื่ม.........................สุธาลืม ทุกข์สรรพสิ้น
ผิดพลั้ง รั้งลงดิน...............................ฝังชีวิน จินตนาการ

      รัก...ไม่ใช่ยาวิเศษ.......................มีฤทธิ์เดช เพทไพศาล
ต้องอดทน ทรมาน.............................ตามสังสาร  ปันเป็นไป

      รัก...ไม่ใช่แฟชั่น.........................อย่าเห็นมัน ทันสมัย
วายวุ่น เยาว์รุ่นวัย...............................มหันตภัย ทำลายตัว

      รัก...ไม่ใช่ภารกิจ.........................ต้องใคร่คิด ติดใจ-หัว
รักอุบาทว์ น่าหวาดกลัว.......................เสียทรัพย์-ตัว ชั่วชีวี

      รัก...ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์..................บูชาผิด พลาดเป็นผี
รัก...ไม่ใช่ความดี...............................จริยธรรม กรรมาวัตร

    ไม่ใช่ อย่าได้รัก...........................มักมากจัก มักอสัตย์
เป็นบาป อัปพัทธ์................................ทางพิบัติ อุกอาจเอย ฯ

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฤดูหนาว ในหัวใจ : กลอนจรรโลงใจ



ฤดูหนาว ในหัวใจ : กลอนจรรโลงใจ
(ฉันทลักษณ์ที่ผมคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง)

       อันฤดูหนาว.....................เริ่มราวเดือนพฤศจิกาฯ
จบปลายกุมภาฯ......................จึงจะกรายจากกรากจร

       ครั้นหนาวคราวใด..............ฟ้าใสสะอาดพิลาสสร
ลมหนาวร้าวรอน......................พาอ่อนกำลังวังชา

       คืนหนาวยาวนาน................วารวันสั้นไวให้หา
เร่งงานกรรมา...........................ก่อนอาภาอำลาเลือน

       ฤดูหนาวผ่านมา...................ไคลคลาผ่านไปหมายเหมือน
วงจรย้อนเยือน...........................ขับเคลื่อนโลกหล้าจักรวาล

       หากใยหัวใจ........................ของข้าฯหนาวให้ในหาญ
เหน็บหนาวยาวนาน.....................ไม่พานพบอบอุ่นไอ

       มืดมนยลยาว........................อยู่ราวไร้เช้าเศร้าไฉน
รันทดรดใจ.................................จนชลนัยน์ไหลหลั่งริน

       แสวงหาที่พึ่ง.........................ที่ซึ่งสุขใจใสถวิล
หรรษาอาจิณ...............................จวบสิ้นสังขารอันตรธาน

       สบแต่ศีลธรรม.......................พอนำชีวาสนาน
พุทธาสาธุการ..............................ปณิธานบันเทิงเริงไท

       ควบคุมความคิด......................ขัดเกราจิตสุจริตใส
หลีกเร้นเห็นภัย..............................ห่างไกลอบายบาปกรรม

       ดุจกายได้ยา...........................โรคาละหายคลายคล้ำ
สุขสงบสบงาม................................อร่ามฉ่ำชุ่มชื่นเอย ฯ

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

ครรลองของชีวี ที่ดีงาม : อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑



ครรลองของชีวี ที่ดีงาม : อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑


       สัมมา ทิฐิมุ่ง..................จิผดุง ผลาดล
วิญญู ภคยล.........................สุทิศา คตาสม

       สังกัปป์ ดำริคอบ..............สุขุม์รอบ ระบอบรมย์
ศรัทธา สรณคมน์.....................พุทธธรรม อำนวยไท

       วาจา สุจริต.....................สติชิต วินิจฉัย
พูดจา ปิยะใจ.........................สิริเลิศ ประเจิดเรา

       สัมมา กระทำดี.................บ่มิมี ฤดีเมา
บุญทาน กุศลเทา....................ปริฉุด มนุษย์ชน

       อาชี วะประเสริฐ................มิละเมิด ระบิลมล
ซื่อสัตย์ ทมะทน......................พิสมัย พิไลพูน

       สัมมา วิริยะ.......................อุตสะ หะนุกูล
บาปชั่ว ชนะสูญ.......................สิริสม ภิรมย์สันติ์

       สัมมา สติตั้ง.....................ริระวัง ฤดีรัน
สุขี มิพลั้งผลัน.........................เพราะมิพลาด ประมาทพรวน

       ตั้งใจ จิตระจุ่ง...................หิริมุ่ง จรุงมวล
ชีวิต ประกิดถ้วน.......................สุทธ์กรรม อำไพพร ฯ

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สิ่งที่เธอมี สิ่งที่เธองาม : สาลินีฉันท์ ๑๑



สิ่งที่เธอมี สิ่งที่เธองาม : สาลินีฉันท์ ๑๑

 
      เธอมี มิใช่สวย................มิใช่รวย เสน่หา
เธองาม ล้ำเลยตา..................ฤ เรียวขา ปทุมมี

      เธอมี มิใช่ทรัพ-...............ยะสินกับ พาหนะศรี
เธองาม มิใช่ที่........................บุพการี มีสกุล

      เธอมี ศีลธรรม..................กุศลนำ ล้ำสถุล
เธองาม สัมมาคุณ....................วิทยา กรุณมี

      เธอมี สติปัญญา.................และเมตตา สง่าศรี
เธองาม ความสุนทรีย์.................และหน้าที่ วิกรมกรอง

      เธอมี ความเข้มแข็ง.............ฤดีแกร่ง มิแหนงหมอง
เธองาม ตามครรลอง..................จริยา พฤทธาธรรม

      เธอมี ทักษะสม....................สุขุมคม อารมณ์ขำ
เธองาม วจีกรรม.........................และความคิด สุจริตครบ

      เธอมี ความละเอียด...............ละไมเมียด ละเลียดสบ
เธองาม ความสงบ.......................เสงี่ยมอด ทมะทน

      เธอมี สิ่งที่ฉัน.......................มุหมายมั่น ถวัลย์ถล
เธองาม ล้ำเลอชน.......................มิอาจหา ระดาเลย ฯ

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

ดอกไม้-ผู้หญิง : โคลงสี่สุภาพ


ดอกไม้-ผู้หญิง : โคลงสี่สุภาพ

. เฟื่องฟ้าดอกจริงแท้............อยู่กลาง
เห็นพร่างพราวเบาบาง............กลีบเลี้ยง
ปราศจากกลิ่น-ผล.,พราง.........ร่วงหล่น รกแล
เปรียบหญิงใคร่แต่ง(ตัว)เพี้ยง...แต่ไร้ความดี ฯ

. จำปีมีร่มครึ้ม.......................ทรงสูง
หอมกลิ่นจอมดอมจูง................จิตคว้า
ดุจหญิงมีสิเนห์.,ยูง..................สูงศักดิ์
ใครใคร่ครองต้องล้า.................ป่ายเอื้อมปีนหา ฯ

. ปานว่าดอกกล้วยไม้..............สายสมร
รูป-กลิ่นโศภินพร......................เพริศฟ้า
ทนทานก่อนจราญจร................ไกลจาก
ลักษณะหญิงพริ้งหน้า...............แกร่งก้อมความดี ฯ

. ดรุณีตริดั่งคล้าย....................พวงชมพู
เริงร่าระย้าพรู...........................พรั่งย้อย
สดใสใคร่ชวนชู.........................ชมชื่น
ใคร่จับประดับห้อย.....................แส่กล้าทรามกราย ฯ

. สัตตบรรณสีสันไร้...................สะดุดตา
หากกลิ่นสรรค์คันธา....................เฟื่องฟุ้ง
ยามเย็นยิ่งสนธยา.......................โชยกลิ่น
หญิงย่อมงามร่ำรุ้ง.......................ยิ่งล้ำสนธยา ฯ

. ราชพฤกษ์หรือลมแล้ง..............หรือคูณ
ดูไป่งามจำรูญ............................แต่ต้น
ดอกอร่ามเหลืองกูล.....................ฝักแก่ ทำยา
เฉกเช่นอิสตรีล้น..........................คุณเกื้อทรามกาย ฯ

. โกมลโกมลแท้.........................เทียมทาน
ชูช่อรอทะยาน.............................สู่ฟ้า
จากโคลนปรี่ผลิบาน......................เรืองรุ่ง
ดั่งหญิงงามสุทธิ์ท้า.......................เทิดท้วยกุศล ฯ

. ดอกมะลิมิด้อย...........................ดีงาม
เปรียบแม่รักฝักความ.....................ห่วงให้
ลูกดี / ชั่วพัวทราม........................แม่รัก
บริสุทธิ์ผุดผ่องไซร้.......................กว่าน้องนางใด ฯ

. ลั่นทม=ระทม;เข้า......................ใจผิด
ทมะ=ฝึกตนจิต.............................คิดท้น
สุขุมลุ่มลึกศิตฏ์.............................สตรี
มีกลิ่นหอมลอมล้น.........................คุณล้ำอำไพ ฯ

๑๐. ดาหลาดาราเหง้า.....................เสาวภา
งามสุดสะดุดตา............................ยิ่งแล้ว
สมุนไพรให้คุณ;อา-.......................หารอิ่ม
ดั่งหญิงงามพร่ำแพร้ว.....................เปี่ยมด้วยความดี ฯ

๑๑. อิสตรีดี-งามเพี้ยง.....................(ดอก)กุหลาบ
ปัญญาเป็นหนามปราบ....................ภัยร้าย
รูปสวยไม่ฉวยฉาบ.........................ตกแต่ง
จิตแกร่งแฝงดั่งคล้าย......................ดอกไม้หนามแหลม ฯ

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หัดแต่ง " ฉันท์ " กันง่ายๆ

                                                                             Flickr 

หัดแต่ง ฉันท์ กันง่ายๆ

น่าจะเคยได้ยินคำว่า กาพย์กลอนโคลงฉันท์
ซึ่งอันที่จริง ถ้อยคำดังกล่าวข้างต้น เปรียบได้กับการลำดับความง่ายไปหายากของบทร้อยกรองของไทย
การจะหัดแต่งฉันท์ให้ง่าย ต้องผ่านการหัดแต่งบทร้อยกรองอื่นๆมาก่อน จนชำนาญ จึงจะบังเกิดผล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีคลังศัพท์ คำคล้าย,คำเหมือน,คำไวพจน์ เก็บไว้ จะทำให้แต่งบทประพันธ์ได้สะดวกขึ้น

ฉันท์ 
เป็นการประพันธ์ ฉันทลักษณ์ 
ที่มีการกำหนดจังหวะของพยางค์เสียงหนัก(ครุ) - เสียงเบา(ลหุ) เป็นกฎลักษณะเด่น
ฉันท์ มีที่มาจากประเทศอินเดีย ของเดิมแต่งเป็นภาษาบาลี และสันสกฤต 
โดยเฉพาะในภาษาบาลี มีตำราที่กล่าวถึง วิธีแต่งฉันท์ไว้ เป็น ๑๐๘ แบบ
เรียกชื่อว่า "คัมภีร์วุตโตทัย" 
(แต่ที่คนไทยคุ้นเคยน่าจะเป็นบทสวดมนตร์ของศาสนาพุทธ)

ไทยเราเอามาใช้ไม่หมด เลือกเอามาแต่เฉพาะแบบที่เห็นว่าไพเราะ
อ่านแล้วมีทำนองอันสละสลวย และเหมาะแก่การที่จะบรรจุคำในภาษาไทยได้ดี เท่านั้น 
ไทยเราได้เลียนแบบโดยเพิ่มเติม บังคับสัมผัสระหว่างวรรค เพื่อให้เกิดความไพเราะตามแบบนิยมของไทย ซึ่งไม่มีในภาษาเดิม

ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ)
และ สระเกินทั้ง  คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา
และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่นตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา
ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น(รัสสระที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ
 คำ  ก็ดี คำที่ประสมด้วย สระอำ ในแม่  กา ก็ดี ใช้เป็นลหุได้
ในอดีต คำที่ประสมด้วยสระอำ เรายังใช้เป็นคำ ลหุ 
แต่ปัจจุบันไม่ใคร่นิยมใช้เป็นคำลหุ เพราะถือว่า เป็นเสียงที่มีตัวสะกดแฝงอยู่ด้วย

*ความเข้มงวดในฉันทลักษณ์ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนิยม กวี และผู้เขียนตำรา ...ไม่มีความตายตัว 

ในบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของไทยแต่อดีต นิยมแต่งไม่กี่แบบ อันได้แก่

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
โตฏกฉันท์๑๒
วสันตดิลกฉันท์๑๔
มาลินีฉันท์ ๑๕
สัททลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
สัทธราฉันท์ ๒๑
วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
มาณวกฉันท์ ๘
ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
        ฯลฯ

การหัดแต่งฉันท์ ควรเริ่มจากแบบง่ายๆ ไปหายาก
โดยมีฉันท์ ที่เป็นแบบพื้นฐานไม่มากแบบ
หากแต่งจนคุ้นเคย สามารถปรับไปแต่งฉันท์อื่นๆได้ง่ายๆ

การหัดแต่ง
ขอแนะนำให้เริ่มต้นไปตามลำดับ  ดังจะกล่าวต่อไปนี้

.วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
.สาลินีฉันท์ ๑๑
.ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
.อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
.อินทรวงศ์ฉันท์ ๑๒ 
.วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
.อีทิสังค์ฉันท์ ๒๐

วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ แต่งคล้าย กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒/กาพย์สุรางคนางค์๒๘
สาลินีฉันท์ ๑๑ , อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แต่งคล้าย กาพย์ยานี ๑๑
อินทวงศ์ฉันท์ ๑๒ แต่งคล้าย อินทรวิเชียรฉัท์ ๑๑
ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ แต่งคล้ายกลอนหก


การปูพื้นฐานเพียงเท่านี้ ก็พอแก่การปรับตัวไปสู่การแต่งฉันท์ทั้งหมดได้ ที่เหลือก็คือ หมั่นสร้างประสบการณ์

ความยากของการแต่งฉันท์คือ การรู้ศัพท์ที่เป็นรูป ครุ , ลหุ 
จำเป็นจะต้องรู้จักศัพท์ประเภท คำคล้าย,คำเหมือน,คำไวพจน์ ไว้มากๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์บาลี-สันสกฤต ที่ภาษาไทยนำมาใช้
(ผู้เขียนใช้วิธีอ่านพจนานุกรม แล้วจดบันทึกไว้เป็นคำๆ ทำแบบง่ายๆไว้ดูเอง-ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่อยากเผยแพร่)
หากไม่จดบันทึก-ท่องจำไว้ ก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้
ข้อจำกัดของศัพท์ ทำให้การแต่งฉันทให้ได้เนื้อหาตามต้องการเป็นเรื่องยาก-ใช้เวลานาน
คนแต่งจึงไม่อยากแต่ง
ความที่มีคำ ลหุ + ศัพท์บาลี-สันสกฤต ทำให้ฉันท์ส่วนใหญ่อ่านยาก-เข้าใจยาก

คนอ่านจึงไม่อยากอ่าน

* บทความที่เกี่ยวข้อง


วิธีแต่งกลอนให้เก่ง....ไพเราะ 

ฉันทลักษณ์-ตัวอย่าง

วิชชุมาลาฉันท์ ๘ 



สาลินีฉันท์ ๑๑
 

 ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
 

 อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
 

( คำภาษาบาลี อย่าสนใจ เพราะแต่งแบบบาลี ไม่มีสัมผัสใน - สัมผัสนอก )

อินทวงสฉันท์ ๑๒
 

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
 

อีทิสฉันท์ ๒๐
 

ภาพประกอบ จาก  <http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/chan/index.html#20etis>
*ในเว็ปข้างบน มีบางฉันท์ ที่สร้างแผนผังผิดหลักฉันทลักษณ์
เมื่อเข้าไปค้นหา ขอให้เปรียบเทียบ กับ ฉันท์ตัวอย่างด้วย

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

อาการแบบนี้ หรือที่เรียกว่า " รัก "? : กลอนรัก



อาการแบบนี้ หรือที่เรียกว่า " รัก "? : กลอนรัก
(ฉันทลักษณ์ที่ผมคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง)

        เปรียบปลูกต้นไม้.................ไว้ในกระถางเล็กๆ
รดน้ำพร่ำเสก.............................ให้ออกดอกงามวิไล

        ดอกไม้ของฉัน......................แม้มันไม่งามไสว
แต่เป็นดวงใจ..............................ฉันเอาใจใส่ได้มา

        ตั้งแต่พบเธอ..........................ใจเฝ้าละเมอเพ้อหา
อยู่ทุกเวลา..................................ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ?

        วันใดได้พบ............................ยิ่งเพิ่มอยากสบพบใส
วันใดไม่ได้...................................พบ.,ไม่เป็นอันกิน-นอน

        อาการอย่างนี้...........................เกิดมาไม่มีใครสอน
ไม่เป็นมาก่อน.................................รุ่มร้อนพะวงฤทัย

        อาการแบบนี้.............................พอมีใครรู้บ้างไหม ?
ฉันใคร่เข้าใจ...................................ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง

        แต่อยากถามเธอ.........................ตั้งแต่เจอกันครั้นหลัง
เหมือนฉันหรือยัง ?............................ตั้งหน้าตั้งตาเฝ้าคอย

        อาการอย่างนี้.............................เริ่มมีเพิ่มทีละน้อย
เกิดขึ้นบ่อยๆ.....................................จนพลอยเป็นเรื่องธรรมดา

        ช่วยตอบฉันที..............................ทำไมก่อนที่นิทรา
คิดถึงเธอหนา....................................ประหนึ่งว่าอยู่ในใจ

        อาการแบบนี้................................ที่เรียกว่า " รัก " ใช่ไหม ?
จะทำเช่นไร ?.....................................จะได้สวยดั่งไม้งาม ฯ

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔