ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

หมุนล้อกงแห่งสงสารวัฏ : กาพย์ยานี๑๑

ผิวหนังบริเวณโคนเล็บนิ้วก้อย รับอุณหภูมิได้ไวกว่าหลังมือ (ผู้เขียน)

ลูกแมวอายุ 1 วัน เดิมมี 5 ตัว ตายตั้งแต่วันแรก 1 ตัว เหลือเลี้ยง 4 ตัว
ตัวที่ตายอาจเพราะฝีมือคนที่เอารกลูกแมวไป
เลี้ยงวันที่ 2,3 ตายวันละ 1 ตัว คงเพราะคนเลี้ยงไร้ความสามารถ-ไร้ประสบการณ์
เหลือแค่ตัวที่แข็งแรงสุด 2 ตัว ลูกแมวรู้สึกตัวเมื่อไรก็ร้อง-คลานหาแต่แม่แมว 
เห็นแล้วเศร้าใจมาก ช่วยอะไรไม่ได้เลย
ถ้าแม่แมวเลี้ยงเองน่าจะรอดทั้งหมด เพราะแม่แมวอายุหลายปี ตัวใหญ่

สายสะดือยังติดอยู่เลย

หมุนล้อกงแห่งสงสารวัฏ : กาพย์ยานี๑๑

    แมวท้อง(แก่) ถูกทิ้งวัด................................ที่อัตคัด พรหมวิหาร

(แอบ)คลอดลูก ซุก(ซ่อนใน)อาคาร...............กลับโดนพาล บันดาลภัย


    (ขับ)ไสแม่(แมว) แส่เอารก(ลูกแมว)..............คนสกปรก อกสาไถย

ปราศแม่ (ลูก)จะอยู่อย่างไร?........................(คน)หลงคุณไสย ไร้ศีลธรรม์


    แม่(แมว)ถูก หมาหมู่ต้อน(รุมกัด)...................ชีพจากรอน จรอาสัญ

ลูกแมว วัย ๑ วัน..........................................เกิดจากครรภ์ สิ้นมารดา

 

    ไม่มี ใครที่รัก(ทุกคนเมินรับเลี้ยง)..................อาภัพนัก ประจักษ์ปัญหา

ตั้งแต่ เพิ่งเกิดมา.........................................ก็พบ(กับคำ)ว่า "ชะตากรรม"


    ความคิด เมื่อมิจฉา......................................ย่อมชักพา อกุศลล้ำ(ล้ำ=ผ่านเข้าไป)

ความดี มีศีลธรรม.........................................จะประจำ (เฉพาะผู้มี)สัมมาทิฏฐิ


    (เป็น)เบื้องต้น แห่งกลไก.............................ของจิตใจ ใคร่ดำริ

ก่อกรรม จนชำนิ...........................................เป็นปกติ (โดย)มิรู้ตัว

 

    หมุน กง* สงสารวัฏ.....................................ยิ่งยืนหยัด ภพชาติทั่ว

ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว..........................................มิต้องกลัว ถ้าทำดี(ย่อมได้ดี)


    อบรม พรหมวิหาร........................................เป็นบุพการย์ นิพพานวิถี(การย์=กิจ,หน้าที่)

ก่อกุศล หนทางนี้.........................................(จะ)มีสุขสันติ์ ทุกวันคืนฯ


๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕


*กง = น. วง ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถม้า เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ไม้ดอกงามแต่ทรามกลิ่น : กลอนคติสอนใจ



ไม้ดอกงามแต่ทรามกลิ่น : กลอนคติสอนใจ

    ปลูกไม้ดอก งอกงามดี........................................ขมันขมี มิเกียจคร้าน

ความรู้สรร เฟ้นบันดาล....................................หวังไม้พันธุ์ ตระการกอง


    แต่เหลือเชื่อ(ผิดคาด) ผีเสื้อ(กลับ)ไม่-..................มีเยื่อใย ไร้เฉียดข้อง

บินผ่านเผิน เมินไป่มอง...................................ไพล่จับจ้อง ผองวัชพืช(ที่มีดอกเล็กจิ๋ว-ไม่สวยงาม)


    (สงสัยว่า)สุมาลี สีสันสด......................................กลับปรากฏ รสจางจืด

บ่ประทิน กลิ่นชวนชืด......................................ยืดขยาย(พันธุ์) ได้เพราะคน(ชอบดอกสวย-ใหญ่)

 

    เปรียบเสมือน เครื่องเตือนจิต...............................อย่าหลงผิด ติดอกุศล

แม้รูป(กาย)สิ งามวิมล.....................................หลงตัวตน ล้นราคา(ตีค่าตัวเองสูงส่ง)


    แต่ถ้ามี นิสัยเสีย................................................ชวนระเหี่ย เมื่อคบหา

ตระบัดสัตย์ ปราศธรรมา..................................ขี้อิจฉา เห็นแก่ตัวฯลฯ


    ก็ไม่มี คน(ดี)ที่ไหน............................................อยากคบใคร่ นอกจาก(คน)ชั่ว

คนทุจริต จิตมืดมัว..........................................ขืนเกลือกกลั้ว (ต้อง)พัวพันภัย

 

    จงสำคัญ ใจอันสวย(งาม)...................................กุศลทวย อวยนิสัย

ความคิดงาม ล้ำพิไล.......................................สว่างไสว ในปัญญา


    ครองชีวิต ไม่ติดเขลา........................................ช่วยบรรเทา เบาปัญหา(ตน-คนใกล้ชิด)

หากประสบ พบอัชฌา......................................จงคบค้า สมาคมเทอญฯ


๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วัฏสงสารเป็นรากฐานของความทุกข์ : กาพย์ยานี๑๑


วัฏสงสารเป็นรากฐานของความทุกข์ : กาพย์ยานี๑๑

    กิน-นอน ลดทอนไม่................................ทุกวันใคร่ คู่กายขันธ์

อดอยาก(อดนอน) ลำบากพลัน...............ดั่งทัณฑ์โทษ สลดชีวา


    (ตั้งแต่)เส้นผม จรดปลายเท้า...................คือมูลเค้า ของโรคคร่า(คร่า=ฉุดลากอย่างรุนแรง)

(ร่างกาย)สังขาร สร้างปัญหา..................สาเหตุให้ ได้ทุกข์ตรม


    ก่อกรรม-รับกรรมกาจ...............................ต้องมิขาด สังขารสม(กาจ=ว. ร้าย, กล้า, เก่ง)

ชั่ว-ดี ชี้เงื่อนปม(ผล).............................(อาศัย)สังขารก้ม หน้ารับกรรม

 

    (เพราะฉะนั้น)ตราบที่ มีสังขาร...................ทุกข์ทรมาน (ต้อง)พานกรายกล้ำ(ไม่สิ้นสุด)

เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ตรำ...........................ตามวัฏฏะ สงสารตรึง


    นักปราชญ์ อดีตกาล................................ทะเยอทะยาน หมั่นคิดถึง

สงสาร ลาญรำพึง.................................คะนึงหา มรรคามี


    เพื่อให้ ได้พ้นทุกข์..................................(จะ)ต้องไม่ขลุก โลกวิถี

(อยากจะ)พ้นโลก (ต้อง)พ้นโลกีย์...........(ต้อง)พ้นกิเลส ตัณหาทวย

 

    คือคติ พุทธธรรม.....................................ที่ต้องนำ ไปทำด้วย

(เพื่อ)หยุดเกิด-แก่-เจ็บป่วย....................-ตาย;ช่วยพ้น สงสารวัฏ


    วิถี อริยมรรค...........................................(เป็น)วิถีหลัก ปฏิบัติ

วงจร (การมี)สังขารตัด(ขาด)..................ชะงัดดี นิรันดร(สิ้นทุกข์อย่างแท้จริง)


๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๔
[๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย เมื่อความหวั่นไหว(จิต)ไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ๑- เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีตัณหา เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีการจุติและการอุบัติ เมื่อไม่มีการจุติและการอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ โลกอื่น และระหว่างโลกทั้งสอง นี้คือที่สุดแห่งทุกข์.
ความพ้นทุกข์แบบพุทธศาสนา จึงไม่ใช่การพ้นทุกข์แบบจิตวิทยา
แต่เป็นการหยุดเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดวัฏสงสาร.(ผู้เขียน)

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

นี่หรือคือวัดพุทธศาสนา? : กลอนคติเตือนใจ





นี่หรือคือวัดพุทธศาสนา? : กลอนคติเตือนใจ

    นี่หรือ คือวัด พุทธศาสนา?..................................เข้า(วัด)มา (ก็)เห็นป้ายเชิญ เงินบริจาค

โครงการ ก่อสร้าง ช่างมีมาก..............................อยากมี อยากได้ ไม่เพียงพอ


    ตู้ขอ บริจาค ตั้ง(ไว้)หลากหลาย...........................(เหมือน)รายจ่าย ก่ายกอง ต้องหมั่นขอ(เงิน)

(เห็นอยู่)ทุกวัน/เดือน/ปี ไร้รีรอ............................(คล้าย)เห็นใคร ก็ใคร่ขอ บ้าบอเบน


    มาบวช รับ(งาน)สวดมนต์ ระคนเทศน์....................ร้อยเลศ มารยา สามานย์เห็น

กิจกรรม ธรรมวินัย ไม่จัดเจน..............................(ชอบ)ทำเล่น เช่นคน กาม วนเวียน(ฆราวาส)

 

    (ตัวเอง)ไม่มี ศีลธรรม (แต่)เที่ยวพร่ำสอน..............ราวแสดง ละคร (บท)ซับซ้อนเขียน

สอน(เขา)อย่าง (ตัวเอง)ทำอย่าง ห่างเล่าเรียน*....(ไม่)พากเพียร ประพฤติตาม ธรรมวินัย(*เล่าเรียน=สิกขา)


    ชอบชวน (บริจาค)ทำบุญ ทำกุศล........................แต่ตน ตระหนี่ มิชอบให้(แต่ชอบรับ)

(สอนเขา)เมตตา ปราณี มีน้ำใจ...........................(จง)เอาเงิน มาให้ อาตมา

 

    อ้วนท้วน สมบูรณ์ แสนพูนสุข..............................ปราศทุกข์ ทรมาน ไร้ปัญหา

อยู่ดี กินดี มิต้องมา............................................อุตส่าห์ หากิน เหนื่อยดิ้นรน(เหมือนคนทั่วไป)


    ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สักการะ.................................ชื่นชู ยอดธุระ ชีวะผล

นิพพาน นั้นเอาไว้ พูดให้คน................................ศรัทธา มาหาตน ท้นนิยม


    (ชอบ)จับกลุ่ม สุมหัว มั่วสังสรรค์..........................เป็นกิจกรรม์ ฉันทะ สนุกสม

งานฉลอง(นานา) คล่องจัด มนัสชม.....................งามสังคม สมคิด จริตเอยฯ


๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

สังขิตตสูตร

             [๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระ-
*วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟัง
แล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ด
เดี่ยวอยู่เถิด ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้
เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อประกอบ
สัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่ง
สมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็น
ไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อ
ปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคน
เลี้ยงง่าย ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย
ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ
             ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลาย
กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไป
เพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็น
ไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ
ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย
หมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อ
ความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี ท่านพึง
ทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ฝีดาษลิง Monkeypox คืออะไร ติดต่ออย่างไร อาการ การรักษา และวัคซีน



แผนซ้อมสงครามชีวภาพปีที่แล้ว ทำนายฝีดาษลิงระบาดไปทั่วโลกปีนี้
วันที่ 22 พ.ค. 2565 เวลา 09:59 น.
ในเดือนมีนาคมปี 2021 โครงการ Nuclear Threat Initiative (NTI) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 โดยอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐ Sam Nunn และผู้ประกอบการด้านสื่อ Ted Turner ได้ร่วมมือกับการประชุมด้านความมั่นคงแห่งมิวนิกเพื่อดำเนินการฝึกหัดเกี่ยวกับ “การลดภัยคุกคามทางชีวภาพที่มีผลกระทบสูง ” มุ่งเน้นไปที่ฝีดาษลิง
รายงานข่าวของ NTI ในเวลานั้นระบุว่าจากผลกระทบของโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่เร่งด่วนที่จะต้องมีการซ้อมรับมือการระบาดของโรคและการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ เนื่องจากการระบาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ได้เน้นย้ำจุดอ่อนในกลไกสากลในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการระบาดใหญ่ นี่เป็นข้อกังวลเร่งด่วน เนื่องจากการระบาดใหญ่ในอนาคตอาจเทียบเท่าหรือเกินกว่าผลกระทบร้ายแรงของโควิด-19ในชีวิตที่สูญเสียไปและเศรษฐกิจที่พังทลาย
"สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นก็คือ มีช่องว่างที่สำคัญในการกำกับดูแลเทคโนโลยีชีวภาพที่สร้างโอกาสสำหรับการใช้ในทางที่ผิดโดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดยเจตนา ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อโลก" NTI ระบุ
NTI จึงทำการจำลองสถานการณ์การฝึกซ้อม นั่นคือตั้งโจทย์การโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพเน้นเป้าหมายเฉพาะท้องถิ่นด้วยไวรัสโรคฝีดาษลิงที่ดัดแปลงพันธุกรรมเริ่มต้นขึ้นในประเทศบริเนีย (Brinia) ซึ่งเป็นประเทศสมมติในแอฟริกา จากนั้นเกิดการระบาดเป็นเวลากว่า 18 เดือน สถานการณ์นี้ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 40% ทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ใน 4 ของประชากรพันล้านคน (250 ล้านคน) 
“สถานการณ์การฝึกซ้อมแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดทั่วโลกที่ร้ายแรงซึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ผิดปกติซึ่งเกิดขึ้นในประเทศบริเนียที่สมมติขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วง 18 เดือน ในท้ายที่สุด สถานการณ์การฝึกเปิดเผยว่าการระบาดครั้งแรกเกิดจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายโดยใช้เชื้อโรคที่ออกแบบในห้องปฏิบัติการซึ่งมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพที่ไม่เพียงพอและการกำกับดูแลที่อ่อนแอ เมื่อสิ้นสุดการฝึก การระบาดใหญ่ในจินตนาการส่งผลให้มีผู้ป่วยมากกว่า 3,000 ล้านรายและเสียชีวิต 270 ล้านคนทั่วโลก”  executive summary ของรายงานชิ้นนี้ระบุ
รายละเอียดของ NTI ระบุสถานการณ์จำลองที่เหมือนกับการระบาดของฝีดาษลิงในเวลานี้อย่างน่าตกใจ นั่นคือการระบาดเริ่มเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2022 ที่ประเทศบริเนีย มีเคสติดเชื้อ 1,421 ราย/4 รายเสียชีวิต โดยไม่มีคำเตือนระหว่างประเทศหรือคำแนะนำ
เมื่อถึง 10 มกราคม 2023 มี 83 ประเทศได้รับผลกระทบ ติดเชื้อ70 ล้านราย/ผู้เสียชีวิต 1.3 ล้านราย โดยเชื้อฝีดาษลิงตัวนี้ถูกตัดแต่งพันธุกรรมโดยออกแบบมาเพื่อเป็นดื้อวัคซีน
เมื่อถึง 10 พฤษภาคม 2023 มีผู้ติดเชื้อ 480 ล้านราย/ผู้เสียชีวิต 27 ล้านราย มีการเปิดเผยของกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยการแทรกซึมของพลเรือนเข้าไปห้องปฏิบัติการชีวภาพ
และเมื่อถึง 1 ธันวาคม 2023 ทั่วโลกติดเชื้อ 3,200 ล้านคน/ 271 ล้านคนเสียชีวิต 
นี่คือสถานการณ์จำลองคร่าวๆ และมีการลงรายละเอียดแวดล้อมให้สมจริง เช่น เงื่อนไขที่ทำให้เชื้อหลุดออกมาจากห้องแล็บเพราะจุดประสงค์ทางการเมือง 
รายงานสรุปว่า ผู้เข้าร่วมการฝึกเห็นพ้องกันว่าช่องว่างในกลไกความปลอดภัยทางชีวภาพระหว่างประเทศและการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่นั้นกว้างขวาง ซึ่งบ่อนทำลายความสามารถของประชาคมระหว่างประเทศในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อเหตุการณ์ทางชีววิทยาในอนาคต และพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าการเตรียมพร้อมที่แข็งแกร่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในหลายด้าน

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Picture taken in 1997. Brian W.J. Mahy/CDC/Handout via REUTERS

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ : กลอนคติธรรม


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? 
การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. 
โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 
และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้, 
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
(โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘)
พระอรหันต์ นี้เรียกว่า บุคคลมีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา 
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์)
พระอรหันต์จึงไม่รับเงิน ไม่ลวนลามผู้หญิง และไม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์(ผู้เขียน)
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ : กลอนคติธรรม

    (อนิจจัง)สังขาร ทั้งหลาย ไม่เที่ยง.....................ไม่อาจเลี่ยง แก่(ชรา)-พยาธิ์-อาสัญ

(ซึ่งเป็น)เหตุแห่ง ทุกขัง ทั้งนั้น...........................(ที่สุด)เสื่อมสลาย หายพลัน=อนัตตา


    อย่าได้ จำแนก แตกประเด็น(ไตรลักษณ์)............หลากหลาย ให้เป็น ปัญหา

หลีกเลี่ยง เถียงหมาย ไปมา...............................อ่อนเพลีย เสียเวลา หากิน


    เป้าหมาย ปลายวิถี อริยสัจ(๔)...........................มุ่งตัด วัฏสงสาร ให้สิ้น

(แต่มี)คนชอบ เอาไป (ประยุกต์)ใช้ชิน.................ได้ยิน วิจิตร พิสดาร

 

    การบวช ในพุทธ (ธะ)ศาสนา.............................เพื่อศึกษา ทางพ้น สงสาร

ธรรม(ะ) วินัย ให้การ-.........................................อุปถัมภ์ นิพพาน นันท์จริง


    แต่มี ที่คน ฉลจิต.............................................คดคิด ขี้ครอก กลอกกลิ้ง

บวชหา ผลประโยชน์ โฉดอิง..............................พึ่งพิง พุทธศาสน์ อนาถภัย

 

    เปลี่ยนแปลง เป้าหมาย ปลายทาง.....................ตามอย่าง ตัณหา สาไถย

ชุ่มโชก โลกธรรม หนำใจ...................................บ่ใส่ใจ ในโล กุตระ


    พูดจา หลอกลวง ปวงชน..................................ประพฤติตน ฉลไร้ สัจจะ

ทุจริต มิจฉา อาชีวะ..........................................ศรัทธา ธุระ สัปดน


    บูชา ผู้ที่ ควรบูชา............................................(เป็นหลัก)มรรคา ประสบ สุขกุศล

หลีกหลบ คบหาญ พาลชน ...............................(เป็น)ทั้งหมด แห่งหน ทาง(พ้นทุกข์)เอยฯ


๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อุปัฑฒสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
             [๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะชื่อสักระ ในแคว้น
สักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์
เทียวนะ พระเจ้าข้า.
             [๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้
กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกร
อานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบ
ด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.
             [๖] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรอานนท์ ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ...
สัมมาสติ ... สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกร
อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อม
กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
             [๗] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจาก
ชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มี
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มี
มิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.

สังขารทั้งปวง(ไม่)เป็นทุกข์(เสมอไป) : กลอนธรรมะ


สังขารทั้งปวง(ไม่)เป็นทุกข์(เสมอไป) : กลอนธรรมะ

    แมวที่บ้าน สำราญสุข.............................หมาไม่ทุกข์ เป็นสุขี

วัว(ที่)สวนยาย สบายดี..........................ไม่เห็นมี (สัตว์)ที่โศกตรม


    บางครั้งคน ก็ล้นสุข................................บางคราวทุกข์ คลุกขื่นขม

ไม่ใช่ว่า ตามอารมณ์..............................(แต่)มีเงื่อนปม อุดมเป็น


    สังขารจึง ไม่เป็นทุกข์(เสมอไป)..............ยังเปี่ยมสุข สนุกเห็น(ด้วย)

มองธรรมชาติ ให้จัดเจน.........................จึงเฉกเช่น (คน)เด่นปัญญา

 

    (ที่)สำคัญคราว ครั้นเราทุกข์...................(ต้อง)ไม่ซมซุก จมทุกขา

(ควร)ค้นหาเหตุ แห่งเภทพา...................มีปัญญา แก้(ไข)-ประเชิญ


    กฎแห่งกรรม ไป่ข้ามมอง........................ความดีผอง ส้องสรรเสริญ

ทำชั่วไว้ ไร้เล่อเลิน...............................ไม่น้อย-(มาก)เกิน ดำเนินคืน(สนอง)

 

    การเว้นจาก บาปทั้งปวง.........................ทำดี(ลุ)ล่วง ทรวงแช่มชื่น

คือความจริง สิ่งยั่งยืน............................คู่แผ่นผืน ปฐพี


    (แต่)อย่าลืมว่า อกุศลมูล........................(คือ)เหตุเกื้อกูล กรรมบัดสี

(สัตวืเกิดมา)โลภ-ร้าย-หลง (ก็)คงฤดี......ยากหลีกลี้ (การ)ก่อบาปกรรม(จึงต้องรับผล-เป็นทุกข์)


    การเวียนว่าย แก่-ตาย-เกิด.....................เว้นได้เถิด ประเสริฐล้ำ*

หลักประกัน การไม่ทำ...........................บาประยำ ข้ามทุกข์เอยฯ


๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕


*ัหลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ ที่ว่า

"สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"

มีคำอธิบายว่า สังขารไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงทนได้ยาก ทำให้เป็นทุกข์ฯลฯ

ทำให้คนมากมายบอกว่า นี่คือการมองโลกในแง่ร้าย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้ายฯลฯ

ผู้เขียนคิดว่า

เพื่อให้จดจำง่าย-พูดง่าย หลักไตรลักษณ์จึงมีรูปประโยคที่สั้น-กระชับ

ส่วนคำอธิบายไม่ชัดเจน ยิ่งอธิบายยิ่งไปกันใหญ่ โน้มเอียงไปทางมองแง่ร้าย

เพราะในความเป็นจริง

ความไม่เที่ยงของสังขาร อาจทำให้เป็นสุขก็ได้ เช่น ร่างกายที่หายจากอาการเจ็บป่วยฯลฯ ไม่มีใครต้องทนกับความสุข

หากอธิบายว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะเกิดมาแล้วต้อง แก่ เจ็บป่วย ตาย

ความแก่ เจ็บป่วย ตาย ของสังขาร เป็นความทุกข์

อธิบายแบบนี้ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต

ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดฯลฯ ถูกต้องตามวิถีทางของโลกุตระ.


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

[๑๙] 	บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญ
                          ช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึง
                          ทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการ
                          สั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญ
                          นั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญ
                          นำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาป
                          ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาป
                          เมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญ
                          ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญเมื่อนั้น 
                          บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย
                          [พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาด
                          น้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละ
                          น้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่น
                          บุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็ม
                          ได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้
                          ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้า
                          มีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่
                          ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้
                          บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบ
                          ฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อม
                          ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่
                          มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาล
                          ดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น คนบางพวก
                          ย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก ย่อมเข้าถึงนรก
                          ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
                          อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่ง
                          แผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้
                          ไม่มีเลย อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป
                          ส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำ
                          ไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ