ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สังขารทั้งปวง(ไม่)เป็นทุกข์(เสมอไป) : กลอนธรรมะ


สังขารทั้งปวง(ไม่)เป็นทุกข์(เสมอไป) : กลอนธรรมะ

    แมวที่บ้าน สำราญสุข.............................หมาไม่ทุกข์ เป็นสุขี

วัว(ที่)สวนยาย สบายดี..........................ไม่เห็นมี (สัตว์)ที่โศกตรม


    บางครั้งคน ก็ล้นสุข................................บางคราวทุกข์ คลุกขื่นขม

ไม่ใช่ว่า ตามอารมณ์..............................(แต่)มีเงื่อนปม อุดมเป็น


    สังขารจึง ไม่เป็นทุกข์(เสมอไป)..............ยังเปี่ยมสุข สนุกเห็น(ด้วย)

มองธรรมชาติ ให้จัดเจน.........................จึงเฉกเช่น (คน)เด่นปัญญา

 

    (ที่)สำคัญคราว ครั้นเราทุกข์...................(ต้อง)ไม่ซมซุก จมทุกขา

(ควร)ค้นหาเหตุ แห่งเภทพา...................มีปัญญา แก้(ไข)-ประเชิญ


    กฎแห่งกรรม ไป่ข้ามมอง........................ความดีผอง ส้องสรรเสริญ

ทำชั่วไว้ ไร้เล่อเลิน...............................ไม่น้อย-(มาก)เกิน ดำเนินคืน(สนอง)

 

    การเว้นจาก บาปทั้งปวง.........................ทำดี(ลุ)ล่วง ทรวงแช่มชื่น

คือความจริง สิ่งยั่งยืน............................คู่แผ่นผืน ปฐพี


    (แต่)อย่าลืมว่า อกุศลมูล........................(คือ)เหตุเกื้อกูล กรรมบัดสี

(สัตวืเกิดมา)โลภ-ร้าย-หลง (ก็)คงฤดี......ยากหลีกลี้ (การ)ก่อบาปกรรม(จึงต้องรับผล-เป็นทุกข์)


    การเวียนว่าย แก่-ตาย-เกิด.....................เว้นได้เถิด ประเสริฐล้ำ*

หลักประกัน การไม่ทำ...........................บาประยำ ข้ามทุกข์เอยฯ


๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕


*ัหลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ ที่ว่า

"สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"

มีคำอธิบายว่า สังขารไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงทนได้ยาก ทำให้เป็นทุกข์ฯลฯ

ทำให้คนมากมายบอกว่า นี่คือการมองโลกในแง่ร้าย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้ายฯลฯ

ผู้เขียนคิดว่า

เพื่อให้จดจำง่าย-พูดง่าย หลักไตรลักษณ์จึงมีรูปประโยคที่สั้น-กระชับ

ส่วนคำอธิบายไม่ชัดเจน ยิ่งอธิบายยิ่งไปกันใหญ่ โน้มเอียงไปทางมองแง่ร้าย

เพราะในความเป็นจริง

ความไม่เที่ยงของสังขาร อาจทำให้เป็นสุขก็ได้ เช่น ร่างกายที่หายจากอาการเจ็บป่วยฯลฯ ไม่มีใครต้องทนกับความสุข

หากอธิบายว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะเกิดมาแล้วต้อง แก่ เจ็บป่วย ตาย

ความแก่ เจ็บป่วย ตาย ของสังขาร เป็นความทุกข์

อธิบายแบบนี้ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต

ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดฯลฯ ถูกต้องตามวิถีทางของโลกุตระ.


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

[๑๙] 	บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญ
                          ช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึง
                          ทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการ
                          สั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญ
                          นั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญ
                          นำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาป
                          ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาป
                          เมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญ
                          ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญเมื่อนั้น 
                          บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย
                          [พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาด
                          น้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละ
                          น้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่น
                          บุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็ม
                          ได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้
                          ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้า
                          มีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่
                          ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้
                          บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบ
                          ฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อม
                          ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่
                          มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาล
                          ดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น คนบางพวก
                          ย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก ย่อมเข้าถึงนรก
                          ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
                          อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่ง
                          แผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้
                          ไม่มีเลย อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป
                          ส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำ
                          ไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น