ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

ความดีมิใช่ธรรมชาติของคน : กาพย์ฉบัง๑๖


ความดีมิใช่ธรรมชาติของคน : กาพย์ฉบัง๑๖


    (ชีวิต)เกิดมาก็มีกิเลส.............................ต้นสายปลายเหตุ

แห่งเจตนาอกุศล


    ความดีมิใช่ธรรมชาติ(ของ)คน...................................แต่เป็น(ความ)เห็นแก่ตน

โฉดฉลมลมานตัณหา


    มิพึงหลงใหลในอัตตา.............................นิมิตอวิชชา

(ที่)วิการมารยาสาไถย


    (ที่)ดึงดันบัญชา(ชีวิต)พาไป..................................นิยมสมใจ

สู่เทวษเภทภัยไม่สิ้นสุด(วัฏสงสาร)

 

    ภพหนึ่งซึ่งเกิดเป็นมนุษย์..............................อันเปรียบประดุจ

เป็นจุดหยุดตรึกศึกษา


    ความมีชีวิตพิจารณา..............................ธรรมชาติสัจจา

สร้างสติปัญญากล้าไกร

 

    ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี มีอะไร?................................รู้แน่แก่ใจ

ตั้งใจใคร่สดับสนับสนุน

 

    กำจัดสิ่งบัดสีมิเป็นคุณ....................................หยาบช้าสถุล

ให้สูญสิ้นไปไม่ประสงค์


    เชิดชูคุณาธรรมดำรง................................มุ่งเจตจำนง

เที่ยงตรงส่งเสริมเติมกุศล


    ตระหนัก(ถึง)ศักยภาพของคน..............................สามารถดัดกระมล

ให้พ้น(การ)วนเวียนวัฏสงสาร


    อุตส่าห์อย่าจำนนกลการ...................................กิเลสเลศพาล

ล้างผลาญเปลื้องปลดให้หมดเทอญฯ


๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

ประเทศไทยจะเจอกับ Stagflation จริงหรือ? คุยกับผู้บริหาร KKP Researc | Bi...

ผ่อนคลายในยามยาก : กาพย์ยานี๑๑




ผ่อนคลายในยามยาก : กาพย์ยานี๑๑

    แดดร้อน ตอนรุ่งเช้า.....................................บ่มีเค้า ของเมฆฝน

ร่มไม้ ชายคาดล....................................ให้รอดพ้น ท้นทรมาน์


    (เมื่อ)เหนื่อยนัก รู้(จัก)พักหน่อย.....................มิใช่(ท้อ)ถอย คอยวาสนา

วิถี ใช้ชีวา.............................................มิเริงร่า เสมอไป


    ธรรมชาติ ของชีวิต.......................................เพริศพิสิฐ ก็หาไม่(พิสิฐ=ประเสริฐ, วิเศษ)

พื้นฐาน คนทั่วไป...................................สุข-ทุกข์ได้(ประสบ) เป็นธรรมดา

 

    (เมื่อ)ชีวี มีอุปสรรค........................................ดำเนินยาก หนักปัญหา

(การ)ก้าวไป ในมรรคา............................ควร(ทำอย่าง)เชื่องช้า ระมัดระวัง


    ผ่อนคลาย ไม่ดื้อดึง.......................................รีบเร่งถึง ซึ่งสิ่งหวัง

ความ(ดื้อ)รั้น ดันทุรัง..............................ก็รังแต่ แส่ระกำ

 

    แม้ใจ ไม่ย่อหย่อน(ต่ออุปสรรค).......................(แต่การ)รู้จักผ่อน(ตามสถานการณ์) (เป็น)พรเลิศล้ำ

เก็บแรง และ(ความ)แกร่งตรำ...................ไว้ใช้ยาม (หนทาง)ราบรื่นมี

 

    บรรเทา ความ(รู้สึก)เศร้าโศก...........................วิปโยค ของโลกนี้

(ความ)แจ่มใส ในฤดี................................(จง)ทำให้มี วิริยา(ด้วยตัวเอง)


    ความอด ทน-อดกลั้น......................................คือคุณธรรม์ ของผู้กล้า

อย่าประมาท ขาดปัญญา...........................ทำบิ่นบ้า ท้าความตาย(แบบโง่ๆ)


    ผ่อนคลาย ในยามยาก.....................................ยามลำบาก อย่าอยากระหาย

ผ่อนกาย ใจ(ให้)สบาย..............................(รอโอกาส)เริ่มต้น(ใหม่)ได้ ไม่สายเอยฯ


๒๙ กันยายน ๒๕๖๔

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

หลักเบื้องต้นดั้นด้นชีวิต : กาพย์ยานี๑๑




หลักเบื้องต้นดั้นด้นชีวิต : กาพย์ยานี๑๑

    (พุทธ)ธรรมไซร้ ให้ความรู้.........................(หลักการ)ดำรงอยู่ สู้ชีวิต

งดงาม นำประสิทธิ์................................สุจริต นิจนิรันดร์


    สุธี ทรงชีวะ..............................................(มี)วุฒิภาวะ สงบสันติ์(สุธี=นักปราชญ์)

ซื่อตรง จิตคงมั่น(มั่นคง)........................ทุกคืนวัน มิผันแปร

 

    ครองตน เป็นคนดี.....................................ไม่บัดสี(เป็นคนเลว) (ไม่)มีข้อแม้(ข้อแก้ตัว)

เอื้อเฟื้อ ให้เผื่อแผ่.................................มิส่อแส่ เห็นแก่ตัว


    ไม่เบียด เบียนผู้อื่น....................................ไม่เริงรื่น ชื่นชม(ความ)ชั่ว

ละอาย ใจ-เกรงกลัว................................บาปผลทั่ว ทั้งหัวใจ

 

    เกื้อหนุน บุญกุศล......................................(เยี่ยง)สาธุชน ดลวิสัย

(รู้จัก)อยู่รอด อย่างปลอดภัย....................โดยไม่ต้อง ข้อง(สิ่ง)เลวทราม

 

    เข้าใจ ในความจริง....................................อันยอดยิ่ง(ปรมัตถ์) มิมองข้าม

(การทำ)ชั่ว-ดี มีผลตาม...........................กรรมลิขิต ชีวิตไป


    วัฏเวียน ว่ายตาย-เกิด................................เลว-ประเสริฐ ภพชาติไส

ตรงตาม (กรรม)ที่ทำไว้............................อย่าหลงใหล ในตัวตน


    (ควบ)คุมกาย ใจ-วาจา...............................ให้สุทธา อย่าชั่วฉล

(สุทธ์=สะอาด, หมดจด, บริสุทธิ์)

คือหลัก การเบื้องต้น................................ดั้นด้นมี ชีวีเอยฯ


๒๘ กันยายน ๒๕๖๔

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

อย่าหลับหูหลับตาเชื่อธรรมะ : บทความ


อย่าหลับหูหลับตาเชื่อธรรมะ : บทความ

ตามพระสูตรนี้(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค ๑. อนุปทสูตร (๑๑๑)
การ "มีความเห็น" ของพระสารีบุตร ก็คือ วิตก วิจารณ์ หรือ นึก คิด วิเคราะห์
ต้องไม่มีตั้งแต่ ฌาน ๒ แล้ว ถ้ายัง "มีความเห็น" ตามเนื้อหาในพระสูตรนี้ แสดงว่า ยังไม่พ้น ฌาน ๑ เพราะ ฌาน ๒ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ฌาน ๓ มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ฌาน ๔ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์
ใครที่ไม่สักแต่คล้อยตาม แต่คิดวิเคราะห์ไปด้วย หรือถ้าเคยปฏิบัติได้แล้ว จะรู้ว่า
เนื้อหาในพระสูตรนี้ มีจุดที่ไม่ถูกต้อง
เพราะ หากปฏิบัติถึง ฌาน ๒-๔ แล้ว "มีความเห็น" ก็ทำให้พ้นจากฌาน ๒-๔ ทันที

อันที่จริง
การทำสมาธิแบบ "อานาปานสติ"
พระพุทธเจ้าสอนว่า ต้อง เพ่งที่ "ลมหายใจ" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จะต้องไม่คิดอะไรเลย
และ ต้องทำคนเดียว-ในที่สงัด ด้วย
พวกที่ชอบชักชวนกันมานั่งสมาธิเป็นกลุ่มใหญ่ๆ
สอนให้ท่อง-พูด-คิด อะไรมากมาย ล้วนเหลวไหล-ไร้สาระ (ผู้เขียนเห็นแล้วขำมาก)
ทั้งคนสอน-คนปฏิบัติตาม ไม่มีวัน ได้ "ฌาน" หรอก
(อ่านเพิ่มเติมที่
ฌาน สุขสุดยอดทางกายที่คนจะมีได้
https://avijjapikkhu.blogspot.com/2010/08/blog-post_29.html )
(สำนวนการเขียนอาจไม่ค่อยได้ความ ต้องขออภัยด้วย)

ข้อสังเกตเพิ่มเติม
เรื่อง รูปฌาน พระไตรปิฎกมีการอธิบายที่ละเอียดเพียงพอ เข้าใจได้-ปฏิบัติตามได้
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค  รูปฌาน ๔
แต่ อรูปฌาน มีรายละเอียดน้อยมากๆ จนไม่รู้จะปฏิบัติตามได้อย่างไร? ผู้เขียนสงสัยว่า
หรือว่า จะไม่มีใครปฏิบัติถึง อรูปฌาน ตั้งแต่สมัยที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว?
การศึกษาธรรมะวินัย ก็เช่นเดียวกัน อย่าสักแต่หลับหูหลับตาเชื่อ อ่าน-ฟังแล้ว ต้องคิดวิเคราะห์ให้กระจ่างชัด ให้เข้าอกเข้าใจ
อะไรที่ไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ก็นำไปฏิบัติดู ว่า "จริงหรือเปล่า? ถูกต้องหรือไม่?"
อะไรที่ขัดแย้งกันเอง ก็ไปฏิบัติดู ว่า "อะไรจริง? อะไรไม่จริง? อะไรถูก? อะไรผิด?" ส่วนอะไรที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง อย่าหลับหูหลับตาเชื่อ และอย่าเสียเวลาปฏิบัติตาม ยกตัวอย่าง เช่น

ตักบาตรเทโว หมายถึงการทำบุญตักบาตร ปรารภเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ในวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)[1]

คำว่า เทโว เรียกมาจากคำว่า เทโวโรหณะ (เทว+โอโรหณ) ซึ่งแปลว่า การลงจากเทวโลก

ความเดิมมีว่า ในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้กำเนิดเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล (สาเหตุที่พระศาสดาไม่เสด็จไปแสดงธรรมในชั้นดุสิต  เพราะเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ไม่สามารถขึ้นไปในชั้นดุสิตได้ ด้วยศักดานุภาพที่น้อยกว่า เพื่อให้โอกาสฟังธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น) 

ครั้นถึงวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร[1] ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่ เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาถึง 3 เดือน การทำบุญตักบาตรในวันนั้นจึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ ต่อมามีการเรียกกร่อนไปเหลือเพียง ตักบาตรเทโว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จึงนิยม ตักบาตรเทโว กันจนเป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้

(จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)


๒๖ กันยายน ๒๔๖๔

คนที่ไม่เคยทำผิดพลาดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย

                              

วันหนึ่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนบนกระดานดำว่า :
9 x 1 = 09
9 x 2 = 18
9 x 3 = 27
9 x 4 = 36
9 x 5 = 45
9 x 6 = 54
9 x 7 = 63
9 x 8 = 72
9 x 9 = 81
9 x 10 = 91
ทันใดนั้น เกิดความโกลาหลขึ้นในห้องโถงเพราะ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คิดผิด คำตอบที่ถูกต้องสำหรับ 9 x 10 คือ 90 และนักเรียนทุกคนก็ล้อเลียนเขา
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงรอจนทุกคนเงียบ แล้วพูดว่า :
“แม้ว่าฉันจะวิเคราะห์คำถามทั้ง 9 ข้ออย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครแสดงความยินดีกับฉัน แต่เมื่อพลาดไปเพียงคำถามเดียว ทุกคนก็เริ่มหัวเราะ หมายความว่า แม้ว่าคนๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่สังคมจะสังเกตเห็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่สุดของเขา และพวกเขาจะสนุกกับมัน อย่าปล่อยให้คำวิจารณ์(ของคนอื่น)มาทำลายความฝัน(ของคุณ) คนที่ไม่เคยทำผิดพลาดคือคนที่ไม่ทำอะไรเลย
(แปลจาก เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต)

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

ความรักที่บริสุทธิ์ : กลอนคติสอนใจ










ความรักที่บริสุทธิ์ : กลอนคติสอนใจ

    ความรัก ที่มากมี กองกิเลส.............................ย่อมล้น ต้นเหตุ อกุศล(อกุศลมูล)*

ชั่วบาป หยาบช้า ทุรมน................................ท่วมท้น เพิ่มพูน มิสูญ(สิ้น)ไป


    เมื่อมี(บาป) สาเหตุ แห่งทุกขา........................สิควร บูชา (ความ)รัก(นั้น)หาไม่

(เพราะ)สร้างความ ยุ่งยาก ลำบากใจ..............มาให้ ไม่เว้น เป็นประจำ

 

    โลภะ(ราคะ) โทสะ และโมหะ..........................คือโอฆะ (แห่งความ)เศร้าโศก ตกต่ำ(โอฆะ=ห้วงน้ำ)

แก่ผู้ หลงใหล ให้ระกำ..................................ชอกช้ำ กำสรด จรดฤดี


    (ยามอยาก)เอาอก เอาใจ ให้คนรัก...................ก็มัก ถนัด ทำ(บาป)บัดสี(เพราะกิเลส)

ครั้นเห็น แก่ตัว ชั่วราคี...................................(ก็)ย่ำยี คนรัก ได้ดักดาน

 

    หากแม้น ไม่สม ภิรมย์รัก.................................ระยำ กรรมจัก ทำหักหาญ

ฉกาจ อาชญา ทารุณดาล...............................สงสาร แต่ตน(เอง) มิสนใจ(คนอื่น)

 

    ใครหวัง สร้างรัก ที่บริสุทธิ์..............................จงหยุด กิเลส อาเพศไส

อย่าเห็น แก่ตน ปะปนใจ.................................อย่าให้ อธรรม นำฤดี


    แม้นมาด ปรารถนา รักบริสุทธิ์..........................จงหยุด(เลิก) มองกิเลส(และความเห็นแก่ตัว) เจตบัดสี

ประดุจ (เรื่อง)ธรรมดา นรามี............................หาใช่ สิ่งที่ พึงพิจารณ์(ไม่ควรต่อว่า-ตำหนิ-กำจัด)


    (วน)เวียนว่าย ในรัก หลากกิเลส.......................มิอาจ ปฏิเสธ วัฏสงสาร(วนเวียนในความทุกข์)

(มี)น้อยสุข ทุกข์มาก ยุ่งยากนาน.....................ทรมาน ทรภินท์ ชีวินเอยฯ


๒๔ กันยายน ๒๕๖๔


*กิเลส (เครื่องทําใจให้เศร้าหมอง)=อกุศลมูล ๓ (รากเหง้าของอกุศล, ต้นตอของความชั่ว)

       ๑. โลภะ (ความอยากได้)
       ๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
       ๓. โมหะ (ความหลง)

หมายเหตุของผู้เขียน
กิเลส เราได้ยินได้เรียนมาแต่ไหนแต่ไรว่า มี 3 อย่าง คือ โลภะ(ราคะ) โทสะ โมหะ
แต่ถ้าค้นหาในพจนานุกรมพุทธศาสนา จะไม่มี กิเลส 3 มีแต่ กิเลส 10 
กิเลส 10 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง)
       1. โลภะ (ความอยากได้)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
       3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา)
       4. มานะ (ความถือตัว)
       5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
       6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง)
       7. ถีนะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย)
       8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
       9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว)
       10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)

       สิบอย่างนี้ ในบาลีเดิมเรียกว่า กิเลสวัตถุ (สิ่งก่อความเศร้าหมอง) 10

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

รับศีลรับพร : กลอนคติเตือนใจ





รับศีลรับพร : กลอนคติเตือนใจ

    ตั้งใจ รับศีล รับพร..........................................สะท้อน ไสยศาสตร์ ปรารถนา

บกพร่อง สติ ปัญญา...................................ไม่ประสี ประสา สิ่งสัจ


    ศีลไซร้ (หา)ใช่เป็น วัตถุ.................................(ต้อง)บรรลุ ด้วยการ ปฏิบัติ

(ต้อง)ก่อกรรม ทำเอง เคร่งครัด.....................บ่มี ทางลัด ให้-รับ

 

    (จะ)ได้ดี-ได้ชั่ว เพราะตัว(เอง)ทำ.....................หาใช่ พรคำ พร่ำสดับ

(ผู้)รักษา ศีลธรรม กำชับ...............................เท่ากับ มีพร อากรไกร(อากร=บ่อเกิด)


    "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ"*......................อย่าให้ ความโง่(งมงาย) หลอกได้

ตนเป็น ที่พึ่ง ซึ่งประไพ.................................ชั่ว-ดี ไม่มีใคร ให้มา

 

    อยากมี สุขสม อุดมคิด....................................ชีวิต จรัสแจ้ง แสวงหา

ต้องมี สติ ปัญญา.........................................รักษา ศีลธรรม ความดี

 

    อย่าคอย คิดพึ่ง คนอื่น....................................อภิรมย์ ชมชื่น วิถี(พึ่งเขา)

ประจบ สอพลอ ก่อกาลี.................................จะไมมี พิพัฒน์ ธวัชชัย


    (จง)ตั้งตน บนทาง ที่ถูกต้อง............................(ความ)บกพร่อง ปรับปรุง แก้ไข

มิต้อง ขอพร จากใคร....................................โดยเฉพาะ (จาก)พวกไร้ ศีลธรรม


    บางที มีการ ศึกษา.........................................ก็หา ช่วยใคร ให้(สติปัญญา)เลิศล้ำ

ความโง่ งมงาย ใจประจำ...............................ย่อมนำ ความมืด มน(มาให้)เอยฯ


๒๐ กันยายน ๒๕๖๔


*

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 

๑๑. ชราวรรค 

๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ

๓. ปธานิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้) [๑๕๙] บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก(ผู้อื่น) เพราะตนนั่นแลฝึกได้ยากยิ่ง
๔. กุมารกัสสปมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๐] ตนแลเป็นที่พึ่งของตน๑- บุคคลอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก
๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องมหากาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๑] บาปที่ตนเองทำ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม เหมือนเพชรที่เกิดจากหินทำลายแก้วมณี ฉะนั้น