ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ : กลอนคติธรรม


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? 
การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. 
โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 
และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้, 
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
(โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘)
พระอรหันต์ นี้เรียกว่า บุคคลมีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา 
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์)
พระอรหันต์จึงไม่รับเงิน ไม่ลวนลามผู้หญิง และไม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์(ผู้เขียน)
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ : กลอนคติธรรม

    (อนิจจัง)สังขาร ทั้งหลาย ไม่เที่ยง.....................ไม่อาจเลี่ยง แก่(ชรา)-พยาธิ์-อาสัญ

(ซึ่งเป็น)เหตุแห่ง ทุกขัง ทั้งนั้น...........................(ที่สุด)เสื่อมสลาย หายพลัน=อนัตตา


    อย่าได้ จำแนก แตกประเด็น(ไตรลักษณ์)............หลากหลาย ให้เป็น ปัญหา

หลีกเลี่ยง เถียงหมาย ไปมา...............................อ่อนเพลีย เสียเวลา หากิน


    เป้าหมาย ปลายวิถี อริยสัจ(๔)...........................มุ่งตัด วัฏสงสาร ให้สิ้น

(แต่มี)คนชอบ เอาไป (ประยุกต์)ใช้ชิน.................ได้ยิน วิจิตร พิสดาร

 

    การบวช ในพุทธ (ธะ)ศาสนา.............................เพื่อศึกษา ทางพ้น สงสาร

ธรรม(ะ) วินัย ให้การ-.........................................อุปถัมภ์ นิพพาน นันท์จริง


    แต่มี ที่คน ฉลจิต.............................................คดคิด ขี้ครอก กลอกกลิ้ง

บวชหา ผลประโยชน์ โฉดอิง..............................พึ่งพิง พุทธศาสน์ อนาถภัย

 

    เปลี่ยนแปลง เป้าหมาย ปลายทาง.....................ตามอย่าง ตัณหา สาไถย

ชุ่มโชก โลกธรรม หนำใจ...................................บ่ใส่ใจ ในโล กุตระ


    พูดจา หลอกลวง ปวงชน..................................ประพฤติตน ฉลไร้ สัจจะ

ทุจริต มิจฉา อาชีวะ..........................................ศรัทธา ธุระ สัปดน


    บูชา ผู้ที่ ควรบูชา............................................(เป็นหลัก)มรรคา ประสบ สุขกุศล

หลีกหลบ คบหาญ พาลชน ...............................(เป็น)ทั้งหมด แห่งหน ทาง(พ้นทุกข์)เอยฯ


๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อุปัฑฒสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
             [๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะชื่อสักระ ในแคว้น
สักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์
เทียวนะ พระเจ้าข้า.
             [๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้
กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกร
อานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบ
ด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.
             [๖] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรอานนท์ ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ...
สัมมาสติ ... สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกร
อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อม
กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
             [๗] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจาก
ชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มี
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มี
มิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น