ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ความสุขสิ้นสุดไว ยามทุกข์ใยผ่านไปช้า : กลอนคติชีวิต



ความสุขสิ้นสุดไว ยามทุกข์ใยผ่านไปช้า : กลอนคติชีวิต


    เวลาแห่ง สุขสันติ์ แสนผ่านไว.................................ทว่ายาม ทุกข์ใจ ใยเชื่องช้า?

คือพจี ที่ได้ยิน จนชินชา...................................ทั่วโลกา นราพบ ประสบเป็น


    แท้ที่จริง(เร็ว-ช้า) แค่เพียง "ความรู้สึก"....................ณ ส่วนลึก ของหัวใจ ไม่ชอบ(ทุกข์)เข็ญ

อยากมีแค่ ความสุข สนุกเล่น............................ตลอดไป ไม่เว้น เร้นเวลา


    แต่ชีวา หาได้ ให้เพียงสุข......................................ยังมอบทุกข์ ทรมาน มีปัญหา

ขึ้นอยู่กับ เคราะห์กรรม ตามชะตา-.....................ชีวิตใคร ในมรรคา กฎแห่งกรรม

 

    บางชีวัน ปัญหาสู่ อยู่เสมอ....................................ต้องพร่ำเพ้อ โศกเศร้า เช้าจรดค่ำ

บางชีวี มีสุขเย็น เป็นประจำ...............................อกระรื่น ชื่นฉ่ำ เป็น(ปกติ)ธรรมดา


    เรื่องเดียวกัน บันเทิงใจ ในบางคน..........................(แต่)กับอีกคน ยลเห็น เป็นปัญหา

สิ่งเดียวกัน บ้างคร้านเกลียด เครียดระอา.............แต่เป็นที่ ปรารถนา อยากจะมี(ในคนอื่น)

 

   ขึ้นอยู่กับ อัตตะ ทัศนคติ .......................................มโนธรรม ดำริ เลือกวิถี

แลเบื้องสุด จุดมุ่งหมาย ในชีวี............................หลากประเด็น เป็น-มี อยู่ที่คน(แต่ละคน)

 

    ไม่อยากท้อ ก็อย่าทำ กรรมชั่วบาป.........................รู้จักหลาบ รู้จักจำ กรรมอกุศล

มีสำนึก ตรึกตรอง ครรลองกล.............................ก่อกรรมดี มีผล ดลพิไล


    อกุศล* (ละ)มูล พอกพูน=เหตุ.................................อุปธิ กิเลส** เจตสาไถย

จึงก่อกรรม ทำตน จนทุกข์ใจ..............................กุศลมูล*** หนุนนำให้ ไร้ทุกข์เอย


๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔


*พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[68] อกุศลมูล 3 (รากเหง้าของอกุศล, ต้นตอของความชั่ว)
       1. โลภะ (ความอยากได้)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย— hatred)
       3. โมหะ (ความหลง —)


**[318] กิเลส 10 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง)

       1. โลภะ (ความอยากได้)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
       3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา)
       4. มานะ (ความถือตัว)
       5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
       6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง)
       7. ถีนะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย)
       8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
       9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว)
       10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)


***[67] กุศลมูล 3 (รากเหง้าของกุศล, ต้นตอของความดี )

       1. อโลภะ (ความไม่โลภ, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโลภะ, ความคิดเผื่อแผ่, จาคะ)
       2. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ, เมตตา)
       3. อโมหะ (ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง, ปัญญา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น