อยากได้ลูกชายหรือลูกสาว
? : บทความ
๏ ผมไม่ได้มีความรู้ด้านสังคมวิทยาอะไรมากมาย
ที่พอรู้บ้างก็เป็นเพียงประสบการณ์ที่ได้เห็นได้ฟังได้อ่านมาเท่านั้น
เมื่อเช้าตอนไปจ่ายตลาด ระหว่างรอซื้อกับข้าวก็ได้ยินแม่บ้าน 2 คนคุยกัน
คนที่แก่กว่าพูดด้วยใบหน้าที่เปี่ยมความสุขว่า
ลูกสาวของเธอเพิ่งคลอด ได้ลูกสาวคนที่สอง
คู่สนทนาก็แสดงความยินดีพร้อมพูดว่า
ลูกสาวตัวเองยังไม่ได้ลูกสาวเลย
คนที่แก่กว่าก็พูดให้กำลังใจและอวยพรขอให้ได้หลานสาวไวๆ
ทำให้ผมคิดว่า อะไรทำให้คนไทยอยากได้ลูกสาวและดีใจที่ได้ลูกสาวขนาดนั้น ?
ดูเหมือนลูกชายจะไม่เป็นที่ต้องการเอาเสียเลย(ล้อเล่น)
๏ ผมเป็นคนอีสาน อาศัยอยู่ภาคอีสาน
ที่เห็นจนเจนตาเจนใจคือ เด็กผู้หญิงจะอ่อนหวาน น่ารัก ว่านอนสอนง่าย
ช่วยงานบ้านได้
ส่วนเด็กผู้ชายจะดื้อ-ซน ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน มักไม่เอาถ่าน สูบบุหรี่
กินเหล้าและเสียคนเป็นจำนวนมาก
การเลี้ยงลูกชาย มักมีค่าใช้จ่ายมากกว่าลูกสาว ทั้งค่าอาหาร
ค่าการศึกษา
และค่าใช้จ่ายจิปาถะโดยเฉพาะค่าเสียหายที่เจ้าลูกตัวแสบไปก่อเรื่องไว้ ฯลฯ
พอแต่งงาน ฝ่ายชายต้องเสียเงินทองค่าสินสอด
แถมต้องเป็นฝ่ายย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง เป็นกำลังช่วยงานครอบครัวฝ่ายหญิง
ส่วนลูกสาวโดยเฉพาะคนสุดท้อง
จะถูกคาดหวังให้อยู่ดูแลพ่อแม่จนแก่จนเฒ่า คอยผลิตสมาชิกให้แก่ครอบครัว
เรียกว่า พอคนไทยมีลูกสาว
ก็เริ่มฝันเห็นกำไรอันงดงามในอนาคตกันเลยทีเดียว
คนไทยจึงถือว่าการมีลูกสาวหลายคนเป็นความโชคดี
กลับกัน พอมีลูกชายก็จินตนาการเห็นแต่เรื่องขาดทุน
มีแต่เสียกับเสีย(ใส่ไฟเล็กน้อย)
แต่ผมก็เคยได้ยินคนแก่พูดว่า มีลูกสาวเหมือนมีไหปลาร้าตั้งอยู่หน้าบ้าน
(ปลาร้ามีกลิ่นแรง
รสชาติอร่อยสำหรับคนอีสานส่วนใหญ่)
(ความหมายคือ ใครมีลูกสาวจะเป็นที่กล่าวขานข้ามหมู่บ้าน ข้ามตำบล
ข้ามอำเภอกันขนาดนั้น และจะดึงดูดผู้ชายให้มาหาถึงบ้าน)
ก็มีหลายครั้งเหมือนที่ได้ยินว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน
(คงหมายถึงความประพฤติที่เสื่อมเสีย
โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กผู้หญิงกลับชอบเป็นฝ่ายเที่ยวไปหาผู้ชาย)
๏ ต่างจากคนจีน
ที่อยากได้ลูกชาย ไม่อยากได้ลูกสาว
ใครยังไม่ได้ลูกชาย
จะพยายามมีลูกไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ลูกชาย(มีขีดจำกัดอยู่)
ใครได้ลูกชายแล้วก็อยากได้อีกหลายๆคน
เพราะคนจีนให้ความสำคัญกับการสืบทอดวงศ์สกุลโดยลูกชาย
เด็กผู้ชายชาวจีนจะถูกคาดหวังจากพ่อแม่ญาติพี่น้องทุกด้าน ทั้งความสำเร็จ
ความร่ำรวย เกียรติยศ ชื่อเสียง
ลูกชายจะเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา
และเป็นผู้ทำพลีกรรมให้แก่พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว
ลูกชายคนโตมักจะได้รับการสืบทอดกิจการต่อจากพ่อ แต่คนจีนมักจะสร้างกิจการให้แก่ลูกชายทุกคน
ลูกชายคนโตมักจะได้รับการสืบทอดกิจการต่อจากพ่อ แต่คนจีนมักจะสร้างกิจการให้แก่ลูกชายทุกคน
พอแต่งงาน แม้ฝ่ายชายจะต้องเสียค่าสินสอด
และฝ่ายหญิงจะต้องมาอยู่บ้านฝ่ายชาย
แต่โดยประเพณีนิยม
พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบค่าสินสอดที่ได้จากฝ่ายชายให้ลูกสาวและเพิ่มเงินทองสมบัติแถมมาให้อีก
นัยว่า เป็นเครื่องบรรณาการครอบครัวฝ่ายชาย ให้เมตตา รักและเอ็นดูลูกสาวตนเองด้วย
และแสดงถึงความมีฐานะของฝ่ายหญิง
ในกรณีที่คู่สมรสไปสร้างครอบครัวใหม่ การยกเงินสินสอดและแถมทรัพย์สินแก่ลูกสาว เท่ากับเป็นการให้ทุนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ในกรณีที่คู่สมรสไปสร้างครอบครัวใหม่ การยกเงินสินสอดและแถมทรัพย์สินแก่ลูกสาว เท่ากับเป็นการให้ทุนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ทำให้คนจีนพอมีลูกชาย-หลานชาย ก็ดีอกดีใจฉลองกันเป็นการใหญ่
ยิ่งกว่าถูกรางวัล
ผมเคยได้ฟังคำพูดจากปากผู้เฒ่าชาวจีนว่า ลูกสาวที่แต่งงานไป "
เป็นของคนอื่น " คำๆนี้ สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง
กรณีที่คนไทยแต่งงานกับคนจีน
ถ้าผู้ชายไทยแต่งกับผู้หญิงจีน
เท่าที่ผมเคยเห็นมักจะราบรื่นดี
แต่ถ้าผู้ชายจีนแต่งกับผู้หญิงไทย เห็นมีหลายกรณีที่เกิดความขัดแย้งขัดเคืองใจ
ในหมู่ญาติที่ต่างยึดธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายตนซึ่งแตกต่างจากอีกฝ่าย
คือ พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเก็บค่าสินสอดไว้เอง
ฝ่ายชายก็มองว่านี่เป็นการขายลูกสาว(คนจีนไม่มีความคิดว่าค่าสินสอดคือค่าเลี้ยงดูลูกสาวอย่างที่คนไทยชอบอ้างกัน) แถมจะเอาลูกชายของเขาไปด้วย
เป็นการเอาเปรียบกันชัดๆ
๏ ส่วนคนอินเดีย
การมีลูกชายคือ เปรียบปานเทพทรงประทานของมีค่าจากสวรรค์มาให้
เพราะคนอินเดีย ให้ความสำคัญกับการสืบทอดวงศ์สกุลเหนือสิ่งอื่นใด
ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ล้วนหามาได้โดยผู้ชาย
เป็นของผู้ชาย
ส่วนผู้หญิง
เป็นได้แค่คนช่วยดูแลงานบ้านงานเรือน เลี้ยงเด็ก
พอแต่งงาน
ฝ่ายหญิงก็ต้องเสียเงินทองค่าสินสอดให้ฝ่ายชาย และย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย
ช่วยงานบ้านงานเรือน เป็นแรงงานรับใช้ครอบครัวฝ่ายชายด้วย
มีข่าวน่าเศร้าในประเทศอินเดียให้เห็นเรื่อยๆ
เรื่องที่พ่อแม่และสามี ทำร้ายลูกสะใภ้จนพิการ/เสียชีวิต
เพราะไม่ได้ค่าสินสอดตามที่ต้องการ
ผมไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับคนอินเดียแต่งงานกับคนไทย
แต่คิดว่าถ้าจะมีปัญหาก็คงเป็นกรณีที่ผู้ชายอินเดียแต่งกับผู้หญิงไทย
เพราะต่างฝ่ายต่างจะเอาสินสอดจากอีกฝ่าย
๏ หลายๆประเทศในเอเชีย จะไม่นิยมส่งเสริมให้ลูกสาวได้ศึกษาเล่าเรียน
หรือลงทุนกับลูกสาว
เพราะแต่งงานไปก็ต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย เป็นแม่บ้าน
เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เป็นแรงงานให้ครอบครัวฝ่ายชาย
๏ คนฝรั่งตะวันตก
ลูกๆพอโตขึ้นต้องออกจากบ้านพ่อแม่ ไปสร้างหลักปักฐาน สร้างฐานะของตัวเอง
ผู้ชาย-ผู้หญิงไม่ค่อยมีการแตกต่างด้านอาชีพ หน้าที่ กิจกรรมกันมากนัก
เรื่องการแต่งงานไม่มีประเพณีนิยมอะไรสำคัญมากไปกว่า
ฝ่ายชายให้แหวนเพชรแก่ฝ่ายหญิง
และทำพิธีแต่งงานกันในโบสถ์
ทำให้คนฝรั่งตะวันตก ไม่ค่อยยึดติดเรื่องการมีลูกชายหรือลูกสาว
ถึงจะพอมีความโน้มเอียงที่คุณแม่ๆอยากมีลูกสาว
และคุณพ่ออยากได้ลูกชายอยู่บ้างก็ตาม
๏ ว่ากันตามความเป็นจริง
ความแตกต่างของการมีลูกชาย-ลูกสาว เกิดจากวัฒนธรรมประเพณีที่คนสร้างขึ้น
มากกว่าเหตุผลทางกายภาพ
ค่านิยมเช่นนี้เปลี่ยนแปลงได้ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วตามการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนนอกสังคมเกษตร และในหมู่ชนที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น
ความยึดติดกับการอยากมีลูกชาย-ลูกสาว
จะไม่ยั่งยืนอยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ตลอดกาลนานอย่างแน่นอนฯ
๒๔ กันยายน ๒๕๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น