ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รักอย่างไร ?...ไม่อกหัก

                 

รักอย่างไร?...ไม่อกหัก 
   บทความนี้นี้ เรียบเรียงขึ้นเพื่อผู้ที่ยังมีความปรารถนาในความสุขทางโลกย์
   จากประสบการณ์การศึกษาชีวิตจริง ผ่านมุมมองทางพุทธ  หวังว่าจะช่วยให้จำนวนคนอกหักลดลงไปบ้าง แม้เพียงเล็กน้อย

ความรักคืออะไร?
    ความรักคือ สิ่งปรุงแต่งของจิต  โดยมี"ราคะ"เป็นมูลฐาน ทำให้เกิดความพึงพอใจในตัวบุคคล  สัมผัส และความสัมพันธ์ ก่อให้เกิด"ตัณหา"อยากเป็นเจ้าของ อยากร่วมเรียงเคียงคู่ ตลอดจนเกิดความหวงแหน-หึงหวง
   ความรักเกิดจากอะไร?ขอละไว้ไม่กล่าวถึง
  
ความรักมีกี่ระยะ?
    แบ่งคร่าวๆได้เป็น  ๓  ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ระยะ"honey moon/ข้าวใหม่ปลามัน" คู่รักเพิ่งพบกัน เกิดอาการ"รักแรกพบ"บางคนคิดไปว่าเป็นบุพเพสันนิวาส/เป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติปางก่อน จิตใจของคู่รักจะมีแต่ความหลงใหล ขาดสติปัญญา จึงมักกล่าวว่า"ความรักทำให้คนตาบอด" เพราะมองไม่เห็นข้อบกพร่องของอีกฝ่าย คนรักทำอะไรก็ถูกไปหมดใครจะมาตำหนิติติงไม่ได้(แฟนข้าใครอย่าแตะ)ติดกันเป็นตังเม คู่รักจะแคร์กันมาก อยากได้อะไรก็จะตามใจหาให้-ทำให้ ชี้นกเป็นไม้ชี้ไม้เป็นแมว ข้อเสียใดๆของตนจะถูกปกปิดซ่อนเร้น นิสัยไม่ดีก็อดไว้ไม่ทำ คู่รักจะมีหัวใจที่ท่วมท้นไปด้วยความรักหวานหยดย้อย โลกทั้งใบเป็นสีชมพู  ระยะนี้กินเวลา ๓ เดือน- ๑ ปี

ระยะที่ ๒ ระยะ"คุ้นเคยกัน" คู่รักใช้เวลาร่วมกันมาถึงจุดที่ความรักเริ่มอ่อนรสอ่อนแรงลงบ้าง ความคุ้นเคยทำให้เริ่มลดการเอาใจกัน เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ผ่อนคลายความระมัดระวังตัว เริ่มทำตัวตามสบาย ข้อเสียที่เคยปกปิดซ่อนเร้นก็เริ่มปลดปล่อยออกมาให้ปรากฏ (ตาที่เคยบอดก็เริ่มมองเห็น) มองเห็นข้อเสียของอีกฝ่ายชัดเจนขึ้น จนอาจมีการตัดพ้อต่อว่าอีกฝ่ายว่าเปลี่ยนไป ระยะนี้กินเวลา ๓ เดือน-๖ เดือน

ระยะที่ ๓ ระยะ"เฉยๆ" ทั้งคู่คุ้นเคยกันจนเหมือนเป็นคนๆเดียวกัน นิสัยหลายๆอย่างก็เหมือนกัน รู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี ต่างเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ อะไรที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ถือว่ายุติแต่เพียงเท่านี้ และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ความหวานแทบไม่มีร่องรอยหลงเหลือ ความรู้สึกต่อกันเป็นเหมือนเพื่อนใจ-คู่ชีวิต ระยะนี้กินเวลาตราบเท่าที่คบกัน-ตลอดชีวิต

ธรรมชาติของความรัก
   เพราะความรักเป็น"สิ่งปรุงแต่งของจิต/สังขาร" จึงมีธรรมชาติคือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ปรวนแปร เสื่อมสลายได้ ต้องมีการปรุงแต่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับความรักไว้

ธรรมชาติของจิต
   จิตมีธรรมชาติที่กลับกลอกรวดเร็ว สาดส่ายอยู่เสมอ โดยเฉพาะจิตที่ตกอยู่ใต้อำนาจของราคะ โทสะ โมหะ จะแสวงหาสิ่งสวยๆงามๆใหม่ๆมาปรนเปรอตน รังเกียจของไม่สวยไม่งาม อยากกำจัดไปให้พ้น ธรรมชาติของความรักและธรรมชาติของจิตจึงเป็นที่มาของปัญหาแทบทุกอย่างในชีวิตคน

ทำไมถึงอกหัก?
   การอกหักเกิดขึ้นได้ทั้ง ๓ ระยะของความรัก สาเหตุเกิดจาก

ประการแรก ความไม่จริงใจ เพราะโลกนี้มีทั้งคนดี-คนเลว คนซื่อสัตย์สุจริต-คนใจคดทุจริต คนมีสัจจะ-คนหลอกลวง คนเห็นแก่ตัวน้อย-คนเห็นแก่ตัวมาก คนจิตใจมั่นคง-คนเหลาะแหละเหลวไหล เมื่อคนชั่วเหล่านี้ปฏิบัติต่อผู้อื่นจึงยังผลให้อีกฝ่ายอกหัก/หักอกได้
     อีกประการหนึ่งคือการปกปิดซ่อนเร้นข้อเสีย/นิสัยเสียของตนไว้ ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ เมื่อคบกัน-รักกันไปแล้วค่อยมาผ่อนคลายเปิดเผย ทำให้คุณสมบัติดีๆลดลง คุณสมบัติเลวๆเพิ่มขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป การเปลี่ยนใจจึงเกิดขึ้น

ประการที่สอง ความไว้วางใจผู้อื่น ด้วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง คนอายุน้อยมองโลกในแง่ดี ยังอ่อนต่อโลก คนมีศีลธรรมจะมีจิตใจที่ใสซื่อบริสุทธิ์ มักคิดว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนตน เมื่อเกิดไปรักกับคนชั่วเข้า ก็ถูกหลอกและอกหักในที่สุด

ประการที่สาม ธรรมชาติของจิต จิตมีธรรมชาติที่กลับกลอก ไม่มั่นคงถาวร คนที่แม้เป็นคนดีมีศีลธรรม หากไม่ควบคุม อดทนอดกลั้นจิตใจ ยอมปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส-ตัณหา คนดีๆเหล่านั้นอาจทำผิดศีลธรรม ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้แก่คู่ของตนได้ไม่ยาก

ประการที่สี่ ธรรมชาติของคน คนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติไม่ได้กำหนดให้ครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ค่อนข้างจะเป็นแบบผัวเดียวหลายเมีย ทำให้ฝ่ายหญิงถูกนอกใจ/ถูกทอดทิ้งได้ง่าย 
   อีกทั้งธรรมชาติทางสรีระที่ผู้หญิงจะโตเร็วกว่า-แก่เร็วกว่า-อ้วนง่ายกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน ประกอบกับผู้หญิงต้องตั้งครรภ์-คลอดลูก-เลี้ยงลูก สรีระของผู้หญิงจึงร่วงโรยอย่างรวดเร็วและกลับคืนสู่สภาพสวยงามได้ยาก (จึงมีคำพูดแบบคึกคะนองว่า แก่ง่าย-ตายยาก)


ประการที่ห้า วิบากกรรม ไม่ว่าจะทำดีที่สุดหรือพยายามมากสักเพียงใด ไม่ว่าใครก็หนีวิบากกรรมของตนไม่พ้น การสมหวัง/ผิดหวังในความรักก็เป็นส่วนหนึ่งของวิบากกรรมนั้น

ควรเริ่มสนใจความรักเมื่อไร?
   โดยธรรมชาติแล้ว คนจะเริ่มสนใจความรักตั้งแต่เริ่มเป็นวัยเจริญพันธ์ แต่โดยธรรมชาติเช่นกัน สรีระของคนจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เมื่ออายุมากกว่า ๒๐ ปี แต่ถ้าคนๆนั้นยังมีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง สร้างชีวิตที่มั่นคง ความรักก็ควรเลื่อนเวลาออกไปก่อน เพื่อจิตใจจะได้มีสมาธิกับการเรียน เพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผลทางการเรียน อีกทั้งเมื่อเรียนจบ คู่รักในวัยเรียนส่วนมากจะแยกทางกันไปหางานทำ/กลับภูมิลำเนา ทำให้ความรักมักขาดสะบั้นลง เวลาที่เหมาะสมที่จะสนใจความรักจึงควรเป็นวัยทำงานเท่านั้น 

รักอย่างไร?ไม่อกหัก
   เป็นคำแนะนำสำหรับคนที่มีโอกาสอกหักทุกคน ไม่ว่าชาย/หญิง มุ่งที่การป้องกันไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะเมื่อเกิดปัญหาอกหักแล้ว โอกาสแก้แทบเป็นศูนย์

ขั้นที่ ๑ เตรียมตัวเอง จะต้องอบรมตนให้เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะ มีสัมมาทิฎฐิ หมั่นศึกษาหาความรู้ธรรมชาติ-สัจจะธรรม-ชีวิต อบรมจิตใจไม่ให้อ่อนไหวไปตามอำนาจสัญชาตญาณ-กิเลส-ตัณหา
ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ไม่มักง่ายวู่วามหรือหลงใหลไปตามกระแสสังคม ที่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส-ตัณหา-วัฒนธรรมเสรีไร้การควบคุม

ขั้นที่ ๒ พิจารณาตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่ควรมี/ไม่มีคู่ครอง ในที่นี้จะไม่ก้าวล่วงไปถึงสิทธิโดยธรรมชาติของบุคคลที่จะมีคู่ครอง(เพราะถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น เช่น คนทุพลภาพมีสิทธิ์มีคู่-มีลูกหรือไม่? คนจนมีลูกได้กี่คน?)
    ขอให้พิจารณาและใช้วิจารณญาณของตัวเอง เมื่อเห็นว่าควร ก็ต้องกำหนดคุณสมบัติของคู่ครองขึ้นมา(ตามชอบใจ แต่ควรเป็นไปได้ด้วย) ไม่ควรไร้ขอบเขตโดยเฉพาะคุณสมบัติที่คนจะมีคู่ครองต้องมี ต้องไม่ขาดคือ ฆราวาสธรรม ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ต้องมีทุกคน ถ้ายังไม่มี/มีไม่ครบก็ต้องอบรมให้มีก่อน

ขั้นที่ ๓ วิธีการ  เริ่มจากมองดู-มองหาคนในอุดมคติ ถ้าพบก็ดูไปสัก ๓-๖ เดือน ให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ แล้วค่อยทำความรู้จักเอาไว้ก่อน อาจจะยอมให้เป็น"คนชอบพอกัน" เท่านั้น จับตาดู-เรียนรู้-ทำความเข้าใจกันไปสัก ๑ ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการเสแสร้ง/ปิดบังอำพราง
ที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปรัก/พลีกายพลีใจให้อย่างที่กำลังเสียสติกันไปทั่ว เพราะไม่ใช่วิถีชาวพุทธ

ขั้นที่ ๔ เมื่อทุกอย่างเป็นไปด้วยดี  มอบความรัก-ความไว้วางใจให้สัก ๒๐ % ไม่ควรมากกว่านั้น คบกันอย่าง"แฟน"ได้ แต่เป็น"แฟนหลวมๆ" ให้เวลาผ่านไปสัก ๑ ปี ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จะเข้าสู่ข้อต่อไป 

ขั้นที่ ๕ เมื่อความรักงอกงาม โดยธรรมชาติ ความรักจะงอกงามด้วยตัวเอง ไม่ต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกใดๆ ทั้งคู่จะรู้จักมักคุ้น เข้าใจ-รู้นิสัยใจคอกัน ถ้าอีกฝ่ายจริงใจ ไม่มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย/หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ลองปล่อยใจ(ไม่ปล่อยกาย) ให้รักได้ไม่เกิน ๕๐ % ให้เวลาอีก ๑ ปี

ขั้นที่ ๖ ความสัมพันธ์แนบแน่น ความรักสุกงอม (ที่จริง จะเริ่มคุ้นเคยกัน ผูกพันกันด้วยใจ มากกว่าอารมณ์รัก) มาถึงตอนนี้ หากคนรักเป็นคนจิตใจมั่นคง สม่ำเสมอ ร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ ไว้วางใจได้ ฝากผีฝากไข้ได้ ค่อยมอบความรักให้สัก ๘๐ % และวางแผนแต่งงานได้แล้ว (เฮ้อ...โล่งอกซะที)

ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าได้ชิงสุกก่อนห่าม การพลีกายพลีใจก่อนจะจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เท่ากับเป็นการประกาศว่า"ประตูเปิดอยู่ จะเดินออกไปจากชีวิตฉันเมื่อไหร่ก็ได้"

บทสรุป
  ทุกชีวิตถูกลิขิตไว้ด้วยวิบากกรรม อย่าได้คาดหวังอะไรใน"ความรัก"อย่าขาดสติ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ความรักก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ น้ำตาของคนที่เสียใจเพราะความรัก รวมแล้วมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
  ไม่ว่าจะรักกันสักแค่ไหน การพลัดพรากย่อมจะต้องเกิดขึ้นเสมอ จะช้า หรือ เร็ว ก็ต้องพรากจากกัน จงตระหนักในความจริงนี้ให้ดี เสมือนยาแก้ป้องกันโรคเสียใจ
  คนที่ไม่รู้จักรักคนอื่น นอกจากรักที่จะเป็นเจ้าของคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นสิ่งของ มีอยู่มาก คนที่ไม่รู้จักแยกแยะระหว่าง"ความรัก"และ"ความหลงใหล" ก็มีไม่น้อยกว่ากัน   โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาว จึงไม่ควรประมาทความรักเป็นอันขาด เพราะแม้จะไม่คมเหมือนมีด แต่กรีดหัวใจให้เจ็บปวดยิ่งนัก

ความรัก    เป็นศิลปะของการสร้างอารมณ์........ด้วยสติปัญญา   
ครอบครัว   เป็นกิจการที่ต้องลงทุนด้วยชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร...คือความรัก  -  ความอบอุ่น
   
                                               อวิชฺชาภิกขุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น