ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ธุดงค์หลงทาง : กลอนคติเตือนใจ







ธุดงค์หลงทาง : กลอนคติเตือนใจ

    พระธุดงค์ หลงทาง กลางกิเลส..............................เพราะต้นเหตุ ธรรมวินัย ไม่ถือสา

ทำอะไร ตามใจตน ล้นอวิชชา.............................แต่อุบาทว์ ประกาศกล้า "ข้า(คือพระ)ธุดงค์"


    เดินยังมี ดอกไม้ (คนคลั่งไคล้)ถวายเหยียบ.............ดูเหมือนเทียบ เท่าชาวสวรรค์ มานประสงค์

ปิดถนน(เดิน) โดน(ชาวบ้าน)ด่า ยังทระนง............ว่าเขาคง ริษยา (คณะ)ธรรมากลาย

 

    ถ้าธุดงค์ ทั้งที (เข้า)พักรีสอร์ท...............................ภัตตาหาร ชั้นยอด ทอดใจหาย

อยากอยู่ดี กินดี มีสุขสบาย.................................ใยต้องมา เยื้องกาย ย้ายกายิน[กายิน=(ร้อยกรอง)ตัว, ร่างกาย]


    เดินขอเงิน เหมือนขอทาน ประจานค่า.....................ช่างโง่เง่า ไม่เข้าท่า ประชาติฉิน

ชาวบ้านยัง ทนอุตส่าห์ ทำ(มา)หากิน...................พระกลับสิ้น คิดสร้างภาพ (หวังให้คนถวาย)ลาภสักการ


    ทำเหมือนเพลิน เดินเที่ยว เดี๋ยวก็กลับ(วัด)..............ไปรอรับ คำชม คารมขาน

ถ่ายรูปท่า (นั่ง)สมาธิ มีกลดพาน-.........................(พอเป็น)พิธีการ สำเร็จ สมเจตนา


    (ยิ่งพวก)เดินเป็นหมู่ อยู่เป็นฝูง ยุ่งกันใหญ่...............ความสงบ พบที่ไหน? ให้ปุจฉา

โดยเฉพาะ ลัดเลาะถึง (ประเทศ)อเมริกา...............เดินข้ามฟ้า ข้ามทะเล เท่ห์กระไร🤣

 

    ถ้าสุจริต คิดจะถือ ธุดงควัตร(๑๓)...........................แค่(ใจ)ศรัทธา ปฏิบัติ ประกาศไม่(ไม่ต้องประกาศ)

(ที่สำคัญ)ธุดงค์ปราศ จากเดินทาง แต่อย่างใด.......พระเมืองไทย ใยพิลึก เรียก(เดินธุดงค์)ครึกโครม


    คนมารยา หนามลทิน ในจินต์เจต...........................บ่รู้จัก กิเลส(ในใจของตน) เป็นเหตุโหม

ทำอะไร ไม่รู้สา ปฏิโลม.......................................หลอกญาติโยม โสมนัส วิบัติการฯ(ปฏิโลม=ทวนกลับ, ย้อนจากปลายไปหาต้น)


๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ธุดงค์ (บาลีธุตงฺค) เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ[1] เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก เหมือนนกที่มีเพียงปีกก็บินไป มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง ถ้าทำเพื่อลาภ เพื่อชื่อเสียง ต้องอาบัติทุกกฎ[2]

โดยรูปศัพท์ ธุดงค์ แปลว่า องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หรือ การสมาทานเพื่อเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอันอันตรายต่อสัมมาปฏิบัติ[3]

ธุดงค์นั้น เป็นศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท โดยพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธุดงค์ลักษณะต่าง ๆ ไว้หลายพระสูตร เมื่อรวมแล้วจึงได้ทั้งหมด 13 ข้อ[1][4][5]

ธุดงค์ในปัจจุบันยังคงเป็นแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธเถรวาททั่วไปในหลายประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น คฤหัสถ์ทั่วไปก็ถือปฏิบัติได้บางข้อเช่นกัน[6]

ปัจจุบัน คำว่า ธุดงค์ ในประเทศไทยใช้ในความหมายว่าเป็นการเดินจาริกของพระสงฆ์ไปยังที่ต่าง ๆ หรือเรียกว่า การเดินธุดงค์ ซึ่งความหมายนี้แตกต่างจากความหมายเดิมในพระไตรปิฎก1

วัตรปฏิบัติ[แก้]

หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)[แก้]

  1. การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าของโยมโดยตรงทุกชนิด (วางใกล้เท้าได้)
  2. การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรม)

หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต)[แก้]

  1. การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน
  2. ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป
  3. ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม
  4. ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร
  5. ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม

หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ)[แก้]

  1. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส
  2. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง
  3. ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย
  4. ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท
  5. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที
  6. ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน 3 อิริยาบถเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน.
----------------------------

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีข้อเสนอต่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมดังนี้ 

  1. พระธุดงค์และคณะผู้ติดตามอาจถูกสัตว์ป่าทำร้าย พลัดหลง หรือประสบอุบัติเหตุได้
  2. ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสัตว์ป่าและป่าไม้ ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้สัตว์ป่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หลบหนีออกจากแหล่งหากินเดิม
  3. ปัญหาไฟป่า ซึ่งเกิดจากพระสงฆ์และผู้ติดตามบางกลุ่มก่อไฟหุงอาหารแล้วไม่ดับไฟให้หมด จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
  4. ปัญหาจากขยะและของเสีย ที่เหลือจากการประกอบอาหารรวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงพลาสติกที่ใส่อาหาร อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าที่เข้ามาหาเศษอาหารกิน
  5. ปัญหาการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ซึ่งอาจมีการแฝงตัวอาศัยช่องทางปลอมแปลงเป็นพระสงฆ์เข้าไปล่าสัตว์ป่า หรือใช้เส้นทางในการลำเลียงขนส่งยาเสพติดหรือของผิดกฎหมายอื่น ๆ

แม้การธุดงค์จะเป็นแนวทางการปฏิบัติธรรมเพื่อหาที่สงบ สัปปายะ ตั้งแต่โบราณมา แต่หากมีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธุดงควัตรเป็นจำนวนมากในเขตพื้นที่ป่า ไม่น่าจะก่อให้เกิดความสงบแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลดังกล่าวมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะมีการกระทำซ้ำในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความเปราะบางต่อระบบนิเวศสูง จึงขอถวายข้อมูลและเสนอให้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น