ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร? : กลอนคติธรรม



ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร? : กลอนคติธรรม

    ฤดูร้อน ย้อนมา อากาศเย็น*............................ช่างเป็น นิมิตร น่าพิศวง

บางคน ชอบใจ ไม่งวยงง..............................บ้างพะวง สงสัย ในโลกา


    ภาวะ โลกร้อน แทรกซ้อนสรรพ.......................ผลลัพธ์ ฉับพลัน พบปัญหา

ผู้ไม่ ใ่สใจ (ย่อม)ไม่ครณา.............................แสวงหา ความสุข ทุกวันไป(ตามใจชอบ)


    ก็เหมือน การที่ มีศีลสัตย์................................จะประหวัด ใจชน ทุกคนไม่

เพียงผู้ พื้นฐานดี จึงมีใจ................................น้อม(ใจ)ไป ปฏิบัติ ตามสัทธรรม

 

    (แต่ยัง)ต้องใช้ เวลา อุตส่าห์หัด.......................ยืนหยัด มั่นคง จำนงค์ค้ำ

แม้ยาก ยอมพากเพียร เรียน(รู้)จดจำ...............การ ป ฏิบัติธรรม จึงดำเนิน(สืบเนื่องไปได้)


    ใช้เวลา ขับเคลื่อน หลายเดือนปี......................ต่อเนื่องมี ฤดีใส่ (ใส่ใจ) ไม่ขาดเขิน

คล้ายก้าว ขึ้นบันได ค่อยใคร่เดิน(ไม่หยุด).......จึงเผชิญ ผลสำเร็จ สมเจตนา

 

    เดินตาม วิถี อริยมรรค.....................................เริ่มจาก หลักเบื้องต้น ด้นศึกษา

คือมี ทิฏฐิ ที่สัมมา(สัมมาทิฏฐิ).......................เข้าใจว่า อะไร ถูก-ผิด (รู้เรื่อง)ดี

 

    รู้ทิศ รู้ทาง ก่อนย่างก้าว..................................(สัมมา)ถูกต้อง ส่องสกาว พราวสุกศรี

เกิดความ เบื่อหน่าย ในโลกีย์..........................คลายกำหนัด ยินดี มิผูกพัน-


    ต่ออัตตา ตัวตน ของตนสรรพ...........................(ความ)ยึดมั่น ถือมั่นดับ กับเบญจขันธ์(ขันธ์๕)

ไม่ใช่ ใฝ่หา แต่โลกธรรม์................................ลาภ-ยศ-เสริญสรร--สุข พล่านเอยฯ**


๒๑ เมษายน ๒๕๖๕


*เดือนเมษายนกลางคืนต้องนอนห่มผ้าห่ม แทนที่จะต้องเปิดแอร์ อากาศต้องผิดปกติอย่างแน่นอน

**ใครที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรม เพื่อสะเดาะห์เคราะห์,ล้างกรรม,แก้กรรม,เสริมดวง,เพื่อให้มีโชคลาภฯลฯ ขอให้รู้ว่าคุณมาผิดทางแล้ว ศาสนาพุทธทำอะไรแบบนั้นให้ไม่ได้หรอก


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

๔. ธัมมกถิกสูตรที่ ๒

ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าพระธรรมกถึก

             [๓๐๓] พระนครสาวัตถี. ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า พระธรรมกถึก พระธรรมกถึก ดังนี้ ภิกษุชื่อว่า
เป็นธรรมกถึกด้วยเหตุเพียงเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมด้วยเหตุเพียงเท่าไร?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ หากว่า ภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความ
คลายกำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้
ธรรมกถึก. หากว่า ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความ
ดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม. หากว่า ภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะ
ไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ได้บรรลุนิพพานใน
ปัจจุบัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น