ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

ชีวิต ความทุกข์และทางแก้ไข : กลอนคติชีวิต


ชีวิต ความทุกข์และทางแก้ไข : กลอนคติชีวิต

    ก็เหมือนที่ มีคน ล้นหลากหลาย..........................เมินสุขภาพ ร่างกาย ไม่รักษา(ดูแล)

จนเจ็บป่วย ไม่สบาย ค่อยใคร่มา.........................คิดถึงยา หาหมอ ขอให้พ้น


    โลภะ โทสะ และโมหะ......................................เป็นบุพพะ สาเหตุ แห่งอกุศล*(บุพพ-=เบื้องต้น)

นำสู่การ ก่อกรรม ทำบาปกล..............................เกิดบาปผล ดลสนอง ต้องรับคืน


    ทุกชีวิต เกิดก่อ เพราะกรรมเก่า...........................ชะตาลิขิต ติดเคล้า เป็นเบ้าผืน

ผลักผจญ ผลกรรม(เก่า) ตามกลมกลืน.................ทั้งเป็นสุข ทุกข์สะอื้น ขื่นขมทรวง


    บางปัญหา ชีวิต เป็นพิษเพราะ............................ไปเกี่ยวเกาะ ตามกระแส สังคมห้วง

เห็นเขาทำ ก็ทำตาม กรรมตักตวง........................ไม่เจียมตน จนทะลวง ทุกขเวทนา

 

    ผู้ดำเนิน ชีวิต ที่ผิดพลาด...................................ความประมาท ปราดประจญ ท้นปัญหา

เมื่อทุกข์รุม สุมอก รกอุรา...................................(ค่อยคิด)เข้าวัดหา ทางดับทุกข์ (ที่)ซุกกายใจ


    พระสลอน สอนว่า "อย่ายึดมั่น"...........................นั่งสมาธิ สวดมนต์กัน (บริจาคเงินทำบุญ)ฯลฯ ลาญทุกข์ไส

โดยไม่ดู รู้ค้น ต้นเหตุใด?...................................ที่ทำให้ ได้รับผล ท้นทุกข์นอง

 

    (ชีวิต)มีปัญหา นั่งสมาธิ (สิสงบ)สันติหรือ?.............(สติ)ปัญญาบื้อ เพียรสวดมนต์ ผลสนอง?

ไม่มี(จะ)กิน (ไม่)มีใช้ ไร้เงินทอง.........................มัวแต่ท่อง "อย่ายึดมั่น" บันดาลมี(กินมีใช้)?

 

    ต้องแก้ที่ ต้นสาย (ไม่)ใช่ปลายเหตุ......................ขจัดกิเลส อกุศล (สร้าง)กระมลศรี(กุศลจิต)

อย่าผิดพลาด ประมาทตน ด้นชีวี..........................เลิกเสียที่ (นิสัย)ชอบทำตาม อำเภอใจ


    หยุดก่อกรรม ทำเข็ญ ย่อมเป็นสุข........................รักสนุก (จะ)ทุกข์เป็นนิจ ชีวิตได้

"มงคลสูตร"** ศึกษา ประพฤติไป........................จงอย่าไร้ ศีลธรรม นำมนาฯ


๙ เมษายน ๒๕๖๕


*พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. อกุสลมูลสูตร


๙. อกุสลมูลสูตร
ว่าด้วยรากเหง้าของอกุศล
[๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล(รากเหง้าของอกุศล) ๓ ประการนี้ อกุศลมูล ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อกุศลมูล คือ โลภะ(ความอยากได้) ๒. อกุศลมูล คือ โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) ๓. อกุศลมูล คือ โมหะ(ความหลง) โลภะจัดเป็นอกุศลมูล กรรมที่บุคคลผู้มีโลภะทำทางกาย วาจา และใจจัดเป็น อกุศลกรรม แม้กรรมของบุคคลผู้มีโลภะ ถูกโลภะครอบงำ มีจิตถูกโลภะกลุ้มรุม ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วยเรื่องที่ไม่จริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสีย ทรัพย์ ติเตียน หรือขับไล่ โดยอวดอ้างว่า “เรามีกำลัง ทรงพลัง” ก็จัดเป็นอกุศลกรรม บาปอกุศลธรรมจำนวนมากเหล่านี้ที่เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด มีโลภะเป็นปัจจัยย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีโลภะนั้นด้วยประการฉะนี้ โทสะจัดเป็นอกุศลมูล กรรมที่บุคคลผู้มีโทสะทำทางกาย วาจา และใจจัดเป็น อกุศลกรรม แม้กรรมของบุคคลผู้มีโทสะ ถูกโทสะครอบงำ มีจิตถูกโทสะกลุ้มรุม ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วยเรื่องที่ไม่จริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสีย ทรัพย์ ติเตียน หรือขับไล่ โดยอวดอ้างว่า “เรามีกำลัง ทรงพลัง” ก็จัดเป็นอกุศลกรรม บาปอกุศลธรรมจำนวนมากเหล่านี้เกิดจากโทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นแดนเกิด มีโทสะเป็นปัจจัยย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีโทสะนั้นด้วยประการฉะนี้ โมหะจัดเป็นอกุศลมูล กรรมที่บุคคลผู้มีโมหะทำทางกาย วาจา และใจจัดเป็น อกุศลกรรม แม้กรรมของบุคคลผู้มีโมหะ ถูกโมหะครอบงำ มีจิตถูกโมหะกลุ้มรุม ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วยเรื่องที่ไม่จริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสียทรัพย์ ติเตียน หรือขับไล่ โดยอวดอ้างว่า “เรามีกำลัง ทรงพลัง” ก็จัดเป็นอกุศลกรรม บาปอกุศลธรรมจำนวนมากเหล่านี้เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด มีโมหะเป็นปัจจัยย่อมเกิดมีแก่ผู้บุคคลผู้มีโมหะนั้นด้วยประการฉะนี้
**พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไป เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากัน คิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควร บูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การบำรุง มารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่ อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะ ทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การ กระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล จิตของผู้ใดอัน โลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้า- โศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยใน ข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็น อุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น