ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เสน่หาในสังขารบันดาลทุกข์ : กาพย์ยานี๑๑



เสน่หาในสังขารบันดาลทุกข์ : กาพย์ยานี๑๑

    ฝนตก ตั้งแต่เช้า...................................เมฆคลุมเคล้า ราวหน้าฝน

สิ้นศรี สุริยน......................................ฟ้ามืดมน พ้น(สุด)สายตา


    เข้าสู่ สัปดาห์สุดท้าย.............................ปีใหม่หมาย ใคร่โหยหา

(วัน)สิ้นปีเก่า ปรี่เข้ามา.......................เหมือนไร้ค่า อยากคลาไคล


    ลูกแมว(วัด) เพิ่งผ่านฝน(แรก).................(บางตัว)มิอาจทน ความหนาวได้

ล้มหาย ตายจากไป...........................บ้างเจ็บไข้ (อนาคต)ไม่แน่นอน

 

    จะมี สักกี่ตัว..........................................รอดพันพัว ถึงหน้าร้อน?

(จาก)สถิติ หลายปีก่อน......................(แมววัด)ค่อนข้างจะ อายุสั้น


    แต่จะมี (ลูก)แมวตัวใหม่.........................ถูกทิ้งไว้ ทดแทนกัน

เติบกล้า ก่อนอาสัญ...........................เห็นหลักธรรม์ เกิดปัญญา(ความรู้ความเข้าใจ)

 

    อนิจจัง แห่งสังขาร................................จะทรมาน (ผู้มี)เสน่หา

เกิด-แก่ แล(เจ็บป่วย)มรณา.................เป็นสัจจา ตลอดไป

 

    (แม้)ปรารถนา ละความทุกข์...................(จง)อย่าเป็นสุข กับ(การ)หลงใหล

ต่อสัง ขารใดๆ....................................ที่(มีความ)เสื่อมไป เป็นธรรมดา


    สร้างบุญ กุศลเจต..................................สละกิเลส และตัณหา

ระงับ สรรพเวทนา...............................สิ้นโศกา สงบเทอญฯ


๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๔


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)

[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ-
*พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
             ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้ว
ในการงาน ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการคุย ไม่ยินดีแล้ว
ในการคุย ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการคุย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดี
แล้วในการนอนหลับ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดี
แล้วในความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบความคลุกคลีด้วย
หมู่ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่
ลุอำนาจแก่ความปรารถนาอันลามก อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว
ไม่คบคนชั่ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
เพียงนั้น ฯ
             ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะ
การบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
.....
[๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม
อย่างไร ฯ
             การไม่เห็น อานนท์ ฯ
             ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
             การไม่เจรจา อานนท์ ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
             พึงตั้งสติไว้ อานนท์ ฯ
....
[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น