“การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา” : บทความ
ตามที่มีข่าวว่า จะมีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดปัจจุบัน
ผู้เขียนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาพระไตรปิฎกตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี เคยละทิ้งธุรกิจส่วนตัวไปบวชเป็นพระเกือบ ๗ ปี สอบได้นักธรรมเอก ก่อนที่จะลาสิกขาบทออกมา แต่ก็ยังพยายามปฏิบัติตามคำสังสอนของพระพุทธองค์ตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้้
ผู้เขียนมองเห็นปัญหาของพระพุทธศาสนาประเทศไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่มักมีข่าวไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในแวดวงพระพุทธศาสนาไทย แทบจะรายวันเลยก็ว่าได้
ผู้เขียนคิดว่า สาเหตุใหญ่ของปัญหาคือการที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า " ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา"(From <http://84000.org/tipitaka/read/?10/141/178>)
ในเมื่่อธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าคือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แนวทางในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จึงควรยึดถือธรรมวินัยของพระพุทธองค์เป็นสำคัญ ไม่ควรกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ใดๆของปุถุชนที่ยังถูกกิเลสตัณหาครอบงำตามอำเภอใจ
สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ศาสนาพุทธในแผ่นดินไทยดำเนินไปตามครรลองที่ถูกต้อง-งอกงาม ที่เป็นประเด็นสำคัญมี ๓ ประการ
๑.เงิน ๒.เจ้าอาวาส ๓.การปกครองคณะสงฆ์
ขอแจกแจงเป็นข้อๆดังนี้
๑.เงิน ตามธรรมวินัยแล้ว พระ คณะสงฆ์ และวัด ห้ามรับ-เก็บรักษาเงิน แม้กระทั่งยินดีในเงินที่เขาเก็บไว้ให้ตนก็เป็นความผิด(วินัยปิฎก เรื่องพุทธบัญญัติ ข้อห้ามพระ-สงฆ์ รับ-เก็บรักษาเงิน หรือยินดีในเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตัวเอง พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ (From <http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=02&A=2567&Z=2684> )
ดังนั้น เพื่อปฏิบัติตามธรรมวินัย จึงต้องกำหนดเป็นข้อห้ามไม่ให้พระ คณะสงฆ์ หรือวัด รับและ/หรือ เก็บรักษาเงิน การปฏิบัติตามธรรมวินัยข้อนี้ จะช่วยลดปัญหาการทุจริตในวงการพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
ต่อกรณีที่มีผู้เห็นว่าพระก็มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น พระพุทธองค์ทรงอนุญาต " การปวารณา " อยู่แล้ว ผู้ใดต้องการทำบุญกับพระ แทนที่จะถวายเงินก็ถวายการปวารณาแทน ด้วยวิธีนี้ เมื่อพระต้องการสิ่งของเครื่องใช้อะไร ก็จะติดต่อผู้ปวารณาให้จัดหามาให้ หรือผู้ปวารณาอาจจะติดต่อกับร้านค้าไว้ล่วงหน้าว่า พระรูปนี้ต้องการของใช้อะไรให้รับไปก่อน แล้วมาเก็บเงินกับตัวเองภายหลัง
ในสมัยพุทธกาล พระราชาจะปวารณาตนเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนา นักบวชต้องการให้อนุเคราะห์สิ่งใดก็สามารถขอบิณฑบาตรกับพระราชาได้ เพื่อปรับใช้ให้เหมาะแก่ยุคสมัยนี้ ประเทศไทยมีสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยดูแลศาสนาพุทธ เมื่อพระ-วัดต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็สามารถพึ่งพาสำนักพุทธฯได้ แม้แต่เงินอุดหนุนพระพุทธศาสนาในโครงการต่างๆของรัฐบาล ก็อย่าส่งเป็นเงินถวายให้พระ-วัด แต่ส่งให้สำนักพุทธฯแต่ละจังหวัด-อำเภอ คอยดูแลเงินแทนพระ-วัด ทั้งนี้สำนักพุทธอาจจะออกเป็น "บัตรปวารณา" ในรูปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์กำหนดวงเงิน ถวายให้พระนำใช้รูดรับสินค้าก็ได้
เงินวัด-บัญชีเงินวัด ควรมอบให้สำนักพุทธเป็นผู้ดูแลแทนพระ ใครจะถวายเงินแก่วัดใดก็ให้สำนักพุทธฯรับเงินไปฝากเข้าบัญชีวัดนั้นๆ วัดใดจะซื้อสิ่งของหรือจะปลูกสร้างถาวรวัตถุอะไรก็ทำไปตามวัตถุประสงค์ สำนักพุทธจะเป็นตัวแทนนำเงินจากบัญชีของวัดมาชำระให้
เพียงเท่านี้ พระ-วัดก็ไม่ต้องรับ-เก็บรักษาเงินเลย
๒.เจ้าอาวาส ตามพรบ.คณะสงฆ์ ปี๒๕๐๕ กำหนดให้ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป ทำให้เจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการกิจการในวัดราวกับเป็นเจ้าของวัด
แค่ขาย-เอาวัดไปจำนองไม่ได้เท่านั้น เจ้าอาวาสสามารถทำสัญญาในนามของวัดได้ เช่น สร้างหนี้สิน จัดซื้อจัดจ้างฯลฯ ไม่นับถึงอนุญาตให้คนภายนอกเข้ามาอาศัยในวัด หรือไล่ใครออกไปจากวัดฯลฯ
ในสิ่งที่ปรากฏเป็นปัญหาให้เห็นบ่อยๆ คือเจ้าอาวาสใช้เงินวัดตามอำเภอใจ เงินไม่พอก็ไปสร้างหนี้สินในนามของวัดจนท่วมหัวมากมาย แล้วลาสิกขาบท(สึก)ออกไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้เหล่านั้นที่ตนได้สร้างไว้เลย
และเจ้าอาวาสหลายวัดยังให้ก่อสร้างอาคารหรือปฏิมากรรมประหลาดๆนอกศาสนาตามใจตัวเอง แม้กระทั่งสั่งทุบทำลายถาวรวัตถุที่เป็นสมบัติของวัดได้ ดังตัวอย่างที่มีข่าวเจ้าอาวาสวัดบางวัดสังทุบทำลายอาคารที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากรแล้ว เป็นต้น
ที่จริงผู้เขียนอยากจะนำพุทธบัญญัติเรื่องหน้าที่ของเจ้าอาวาสจากพระไตรปิฎกมาแสดง แต่เนื่องจากพระไตรปิฎกมีเนื้อหามาก ค้นหาไม่เจอ หาได้เพียงแค่พุทธวจนะที่เกี่ยวข้อง เช่น
" ดูกรอุบาลี ภิกษุเจ้าอาวาส ประกอบด้วยองค์ ๕ เก็บของสงฆ์ตามที่นำมาเก็บไว้เหมือนส่งขึ้นสวรรค์ องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:...ข้อ ๕. ไม่ใช้สอยของสงฆ์ดุจของส่วนตัว" (From <http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=8&A=12260&Z=12361&pagebreak=0>)
ดังนั้น การให้สิทธิอำนาจหน้าที่แก่เจ้าอาวาส ประหนึ่งเป็นเจ้าของวัดจึงไม่สอดคล้องธรรมวินัย
ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามของผู้จะบวชเป็นพระภิกษุข้อหนึ่งคือ ห้ามบวชให้คนมีหนี้้้ ดังนั้นพระจึงไปสร้างหนี้ไม่ได้เหมือนกัน (ผู้เขียนอ่านพระไตรปิฎกหลายรอบ-นานแล้ว แต่ไม่ค่อยสนใจวินัยบัญญัติที่เป็นข้อปลีกย่อย จึงจำไม่ได้ว่า มีข้อห้ามพระสร้างหนี้สินโดยตรงหรือไม่)
๓.การปกครองคณะสงฆ์ ดังที่ได้แสดงไว้ข้างต้นว่า พระพุทธเจ้าไม่แต่งตั้งบุคคลใดมาปกครองสงฆ์แทนพระองค์ แต่ทรงบัญญัติธรรมวินัยให้เป็นศาสดาแทน
อีกทั้งยังมีพุทธดำรัสไว้ว่า " ดูกรอุบาลี การชี้แจงวินัยที่เป็นธรรมนี้มี ๕ อย่าง. ๕ อย่าง อะไรบ้าง?...ข้อ ๕. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้ว(From <http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=8&A=12260&Z=12361&pagebreak=0>)
สมณศักดิ์(ยศของพระ) ไม่มีในพุทธบัญญัติ เป็นสิ่งที่มีมาพร้อมกับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระองค์ได้โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกา เพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย(From <https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C>)
ส่วนตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ก็ไม่มีในพุทธบัญญัติเช่นกัน เพราะเพิ่งถูกกำหนดขึ้นในสมัย ร.๕ ที่ทรงโปรดให้มีการปฏิรูประบบราชการทั้งด้านโครงสร้างและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรวบอำนาจการปกครองเข้าสู่วนกลาง และเพื่อปฏิรูปการปกครองไทยให้ทันสมัย เป็นกุศโลบายไม่ให้ถูกประเทศตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามายึดครองแผ่นดินไทยเป็นอาณานิคม
ดังนั้น การจะกำหนดตำแหน่งปกครองใดๆหรือบุคคลใด ขึ้นมาปกครองคณะสงฆ์จึงไม่ถูกต้องตามธรรมวินัย ทั้งนี้ พระภิกษุก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องปกครองกัน เพราะหน้าที่ของพระสงฆ์คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวคือ บรรลุนิพพาน ผู้ที่มีความสำคัญในการนำพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายนี้คืออาจารย์ผู้สั่งสอนธรรมวินัย และผู้ตัดสินให้เป็นไปตามวินัยหรือในพุทธศาสนาเรียกว่า"วินัยธร"เท่านั้น
นอกจากนี้ การมียศเป็นวิถีปฏิบัติของฆราวาส การแต่งตั้ง"สมณศักดิ์(ยศพระ)"ขึ้นมาถวายพระจึงเป็นวิถีโลกย์หรือโลกียวิสัย การมียศเป็นความปรารถนาของผู้ยังติดอยู่-ข้องอยู่กับกามคุณ๕ ผู้ยังลุ่มหลงกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นศัตรู เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของพระในพระพุทธศาสนา และสวนทางกับวิถีแห่งพระพุทธศาสนาที่ต้องกำจัดกิเลส ตัดขาดตัณหาทั้งมวล ตามครรลองของโลกุตตรธรรมหรือธรรมเพื่อพ้นโลกย์และบรรลุพระนิพพาน
อีกทั้งยังมีข่าวบ่อยๆว่า มีการทุจริตวิ่งเต้น-ซื้อขายตำแหน่งและสมณศักดิ์อยู่เนืองๆ พระที่ได้รับการแต่งตั้งก็ใช่ว่าจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีคุณสมบัติของพระเถระตามพุทธบัญญัติ(เถรธรรม๑๐ . From <http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=322>)
การมีสมณศักดิ์ จึงไม่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตน อย่างเหมาะสมกับสมณเพศของผู้มีศีลบริสุทธิ์ อีกทั้งยังกระตุ้นความเมามัวในอกุศลมลทิน สร้างความแปดเปื้อนแก่พระสงฆ์อีกด้วย
ดังนั้น ตำแหน่งการปกครองและสมณศักดิ์ของพระสงฆ์จึงไม่มีความจำเป็น ไม่ถูกต้องตามธรรมวินัย และเรียกได้ว่าเป็นส่วนเกินในพระพุทธศาสนา
นี่คือ ๓ ประเด็นใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าให้ได้โดยเร็ว
การมีอยู่ของธรรมวินัยที่ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นในการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน เพื่อดำรงอยู่เป็นสรณะของพุทธศาสนิกชนได้พึ่งพาอย่างมีความสงบสุข ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมและ/หรือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเสียเองอย่างที่ผ่านๆมา
อวิชฺชาภิกขุ
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑
หมายเหตุ :
"บัตรปวารณา" อิเล็กทรอนิกส์ ค่อนข้างก้ำกึ่งว่าจะถูกต้องตามธรรมวินัยหรือไม่? หากถูกมองว่าเป็น "บัตรเงินสด"
และเพื่อไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือเก็บรักษาเงินของพระ จึงควรจำกัดวงเงินขั้นสูงสุดไว้ เช่น ไม่เกิน 5 พันบาท
ทั้งนี้ควรมี"บัตรปวารณา"ให้พระใช้แทนเงิน อย่างน้อยก็ในระยะเปลี่ยนผ่านการมีกฎหมายห้ามพระรับ-เก็บรักษาเงิน เหตุผลเพราะ
๑.การจะให้สำนักพุทธศาสนาดูแลอุปฐากพระทุกรูปเป็นรายบุคคล ทุกคน-ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เป็นไปได้ยาก
๒.เพื่อลดการต่อต้านจากพระที่บวชอยู่ ซึ่งเคยรับ-เก็บรักษาเงินไว้
๓.เพื่อไม่ให้คนที่คิดจะบวชรู้สึกว่า การเป็นพระนั้นยากลำบาก-ขัดสน จนไม่อยากบวช จะเกิดปัญหาขาดแคลนพระในการทำพิธีทางศาสนาและคติความเชื่อของชาวบ้าน
หมายเหตุ :
"บัตรปวารณา" อิเล็กทรอนิกส์ ค่อนข้างก้ำกึ่งว่าจะถูกต้องตามธรรมวินัยหรือไม่? หากถูกมองว่าเป็น "บัตรเงินสด"
และเพื่อไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือเก็บรักษาเงินของพระ จึงควรจำกัดวงเงินขั้นสูงสุดไว้ เช่น ไม่เกิน 5 พันบาท
ทั้งนี้ควรมี"บัตรปวารณา"ให้พระใช้แทนเงิน อย่างน้อยก็ในระยะเปลี่ยนผ่านการมีกฎหมายห้ามพระรับ-เก็บรักษาเงิน เหตุผลเพราะ
๑.การจะให้สำนักพุทธศาสนาดูแลอุปฐากพระทุกรูปเป็นรายบุคคล ทุกคน-ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เป็นไปได้ยาก
๒.เพื่อลดการต่อต้านจากพระที่บวชอยู่ ซึ่งเคยรับ-เก็บรักษาเงินไว้
๓.เพื่อไม่ให้คนที่คิดจะบวชรู้สึกว่า การเป็นพระนั้นยากลำบาก-ขัดสน จนไม่อยากบวช จะเกิดปัญหาขาดแคลนพระในการทำพิธีทางศาสนาและคติความเชื่อของชาวบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น