ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559

ความยุติธรรมของกาฬประเทศ...ไม่อยากเชื่อถ้าไม่เจอกับตัวเอง : เรื่องเล่า(อย่าเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง)

ภาพประกอบ ไม่ใช่ภาพเหตุการณ์จริง
                             

ความยุติธรรมของกาฬประเทศ...ไม่อยากเชื่อถ้าไม่เจอกับตัวเอง : เรื่องเล่า(อย่าเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง)
*ขอย้ำ กาฬประเทศไม่มีอยู่จริง*

    เจ้าของเรื่องเล่าพอคร่าวๆว่า ตัวเองขับรถยนต์ไปหยุดที่ปากซอยที่มีรถจอด ตั้งแต่มุมถนนทั้งด้านซ้าย-ด้านขวาทอดยาวไปจนสุดถนน เขาต้องการจะเลี้ยวขวา จึงสอดสายตามองซ้ายมองขวาเพื่อดูสภาพการจราจร เพราะกลัวว่าหากประมาทจะเกิดอุบัติเหตุ พอมองไปทางขวาเป็นรอบที่ ๓ สายตาก็ประสานกับรถจักรยานยนต์ Fino ที่วิ่งตรงมาเรื่อยๆ โดยที่คนขับรถจักรยานยนต์มัวแต่หันไปมองด้านขวามือตามที่คนซ้อนท้ายชี้พร้อมๆกับการพูดคุยกัน ไม่หันมาทางข้างหน้าที่มีรถยนต์ที่จอดอยู่ริมถนน
    ทันใดนั้นคนขับรถยนต์ก็ตระหนักว่า รถจักรยานยนต์พุ่งตรงมาที่รถของเขา เขาจึงกดแตรไป ๑ ครั้ง เสียงแตรรถยนต์ดังกังวาน แต่นั้นก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่รถจักยานยนต์วิ่งมาถึงด้านหน้าของรถยนต์ ด้วยเสียงแตรคนขับรถจักรยานยนต์หันมาเห็นแล้วรีบหักรถเบี่ยงไปด้านขวา ทำให้ขอบกระบังหน้ารถจักรยานยนต์เฉี่ยวกับกันชนด้านหน้ารถยนต์ก่อนจะเสียหลักล้มลงไป ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนล้มไปพร้อมกับรถ แขนขาถลอกมีบาดแผลเล็กน้อย คนขับรถยนต์ก็ออกมาจากรถ ร่วมกับคนเห็นเหตุการณ์ช่วยพาคนเจ็บไปพักบนทางเท้า
    ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ตำรวจก็มาตรวจที่เกิดเหตุตามที่มีคนแจ้ง ยึดใบขับขี่จากคนขับรถยนต์ บอกให้ขับรถไปจอดที่สถานีตำรวจพร้อมยึดกุญแจรถไว้ ขณะที่คนขับรถจักรยานยนต์และคนซ้อนท้ายได้ถูกพาตัวไปรักษาโดยรถกู้ภัย
    ต่อมาอีกประมาณ ๒ เดือน กลายเป็นว่าคนขับรถยนต์ถูกตำรวจแจ้งข้อหาขับรถประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะคนขับรถจักรยานยนต์ดันได้รับใบรับรองแพทย์ว่าหน้าแข้งซ้ายหัก(หักได้ยังไง?ตอนช่วยกันอุ้มไม่เห็นว่าจะหัก) และคนขับรถจักรยายนต์กล่าวหาว่า รถยนต์ขับเลี้ยวขวามาหยุดกะทันหัน ทำให้รถจักรยานยนต์หยุดไม่ทันจึงเกิดการเฉี่ยวชนขึ้น แถมตำรวจยังไม่รับแจ้งความจากคนขับรถยนต์ ที่พยายามต่อสู้คดีว่ารถจักรยานยนต์วิ่งมาเฉี่ยวชนรถยนต์ที่จอดอยู่ โดยอ้างว่าเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน
    คนขับรถยนต์ถามตำรวจว่า มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อะไรที่พิสูจน์ว่าเขาทำผิดตามข้อกล่าวหา ตำรวจบอกว่าไม่มี...แต่สันนิษฐานเอา คนขับรถยนต์ก็แย้งว่า "ผมเรียนกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามา การจะเอาข้อสันนิษฐานมาฟ้องคนในความผิดอาญา เป็นวิธีที่ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความอาญา...ฯลฯ" ตำรวจก็อ้างว่า ตำรวจมีอำนาจทำได้ (??? เอากะมัน)
    อีก ๑ เดือนต่อมา คนขับรถยนต์โดนตำรวจส่งให้อัยการส่งฟ้องต่อศาล โดยอัยการบรรยายฟ้องใส่ร้ายให้รุนแรงกว่าเดิม เพิ่มเติมว่า "...ขับรถเลี้ยวขวาโดยไม่ชะลอความเร็ว-ปราศจากสำนึก ทั้งที่ควรจะรู้ว่า...บลาๆๆๆ ฯลฯ" คนขับรถยนต์ถูกส่งฟ้องโดนกักขังที่ใต้ถุนศาลครึ่งวัน กว่าจะรับการประกันตัวด้วยยื่นเงินสด ๖ หมื่นบาท
    เข้าเดือนที่ ๖ ศาลนัดมาเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ ๒ ครั้ง เพราะคนขับรถจักรยานยนต์ที่รู้ตัวว่าผิดไม่รับหมายศาล-ไม่มาศาล ส่วนคนขับรถยนต์รับหมายและมาศาลตามนัดทุกครั้ง พร้อมทั้งปฏิเสธข้อกล่าวหา ผู้พิพากษากล่าวกับจำเลย(คนขับรถยนต์)โดยอ้างข้อกฎหมายว่า คนขับรถทุกคนทำผิดกฎจราจรไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง ดังนั้น จำเลยควรรับสารภาพ แล้วศาลจะลดโทษให้ พร้อมทั้งชักแม่น้ำทุกสายที่คิดได้(ไม่ใช่แค่ ๕ สาย) ทั้งข่มขู่ว่าถ้าไม่สารภาพ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาคดี หากศาลไม่เชื่อคำให้การของจำเลย ศาลจะลงโทษจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายและสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา
    คนขับรถก็ปฏิเสธเหมือนเดิมเพราะตัวเองหยุดรถอยู่เฉยๆ ไม่ได้เลี้ยวตามที่อัยการบรรยายฟ้อง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามฟ้องก็ไม่มี มีแต่รอยสีรถจักยานยนต์ที่ครูดไปบนกันชนของรถยนต์ที่แสดงว่ารถจักยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ อีกทั้งหากรับสารภาพ คู่กรณีจะใช้เป็นเหตุผลฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเรือนแสนได้ สุดท้ายผู้พิพากษาซึ่งออกอาการหัวเสียมาก สรุปว่า "...ตามใจ ที่ผ่านมาศาลไม่ได้บังคับให้รับสารภาพนะ" คนขับรถยนต์ก็ได้แค่คิดในใจว่า "เออ มึงไม่ได้บังคับ แต่หลอกล่อและข่มขู่กูให้รับสารภาพเลยละ"
    ผ่านไปอีกเดือน มาถึงขั้นตอนนัดพร้อม คู่กรณีคือคนขับรถจักรยานยนต์ที่ไม่รับหมายศาลก็ไม่มาศาลเหมือนอย่างเคย ผู้พิพากษาคนใหม่ก็เริ่มด้วยอธิบายว่าถ้าไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทำผิด ศาลก็จะยกฟ้องจำเลย พูดไปได้ไม่กี่คำก็มาแนวทางเดียวกันกับผู้พิพากษาชั้นสมานฉันท์ คือบอกว่าคนขับรถทุกคนทำผิดกฎจราจร...ฯลฯ คนขับรถยนต์ก็ไม่ยอมรับ ผู้พิพากษาซึ่งไม่รู้ว่ามีหน้าที่อะไรกันแน่ก็ใช้วิธีใหม่ พูดด้วยใบหน้าเคร่งขรึมว่า "ขอให้จำเลยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ไม่ต้องสนใจว่าใครถูก-ใครผิด ยอมรับสารภาพแล้ววางเงินบรรเทาความเสียหายตามสมควร แล้วศาลจะตัดสินลดโทษให้..." และยังขู่สำทับว่า ถ้าศาลไม่เชื่อคำให้การของจำเลย ศาลจะตัดสินลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 
    คนขับรถตอบว่าเขามีมนุษยธรรม-มีน้ำใจ แต่ไม่ค่อยมีเงินและต้องซ่อมรถตัวเองไปหมื่นกว่าบาทแล้วด้วย จึงขอวางเงิน ๕,๐๐๐บาท แล้วรับสารภาพไป ก่อนจะออกไปธนาคารถอนเงินมาวางเป็นค่าบรรเทาความเสียหายกับศาล พร้อมกับเล่าให้พนักงานธนาคารฟังถึงสิ่งที่ประสบมา พนักงานธนาคารก็เล่าประสบการณ์ว่า ตัวเองกับญาติก็เคยโดนข่มขู่มาแบบเดียวกัน นี่แหละศาลกาฬประเทศ
    ศาลสั่งให้จำเลยไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติ คนขับรถยนต์โดนถ่ายรูปทำประวัติอาชญากร โดนสอบปากคำ สุดท้ายก็บอกว่าที่รับสารภาพเพราะกลัวอาจจะติดคุกได้ถ้าไปทำให้ศาลไม่พอใจ แล้วเล่าให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติฟังว่าผู้พิพากษาพูดยังไง? เจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็ทำหน้าแปลกใจว่า ศาลพูดแบบนั้นหรือ? เป็นเขาก็คงต้องรับสารภาพเหมือนกัน ไม่กล้าเสี่ยง
    พอถึงนัดวันรับฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ไม่รู้ไปโดนใครตำหนิมา ขึ้นบัลลังก์ก็ถามจำเลยว่า ที่สารภาพเพราะกลัวศาลจะไม่พอใจหรือ? คนขับรถยนต์ครุ่นคิดอยู่นานเพราะไม่แน่ใจว่าถ้าตอบไม่ถูกใจ ภัยอันใดจะเกิดขึ้น? สุดท้ายก็ยืดอกยอมรับว่าใช่ครับ ผู้พิพากษาก็รำพึงรำพันว่า "ถ้าไม่พูดว่า หากศาลไม่เชื่อคำให้การของจำเลยจะไม่บรรเทาโทษให้ แล้วจะให้พูดยังไง? เพราะการที่ศาลไม่เชื่อคำให้การ แสดงว่าจำเลยกระทำผิด"
    ฝ่ายคนขับรถยนต์บอกว่า " ถ้าท่านจำได้ ตอนเรียนมหา'ลัยปีแรก เราจะต้องเรียนวิชาตรรกวิทยา ตัวอย่างหนึ่งที่ตำรายกมาอ้างคือ ฝนตกถนนเปียก แต่ถนนเปียกอาจไม่ใช่เพราะฝนตก ศาลไม่เชื่อคำให้การของจำเลยก็เป็นดุลพินิจในใจของศาล ส่วนข้อเท็จจริงจำเลยอาจไม่ได้กระทำผิด" (คิดในใจว่า ประเด็นสำคัญคือคำพูดว่า "ไม่ต้องสนใจว่าใครถูก-ใครผิด" ต่างหาก แล้วจะมีศาลไว้ทำไม? ผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนเป็นแสนได้ยังไง?) แล้วศาลก็สั่งนัดพร้อมใหม่อีกครั้ง ใน ๒ เดือนข้างหน้า
    แล้วคดีก็ข้ามถึงปีถัดไป กว่าจะเริ่มกระบวนการก็ปาเข้าไป ๑๐:๓๐ น. (ตามนัดหมายคือ ๙:๐๐ น.) คราวนี้มีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะมาร่วมด้วย(จึงมีผู้พิพากษาเพิ่มเป็น ๒ คน) คนขับรถจักรยานยนต์ก็ไม่รับหมายและไม่มาศาลเหมือนเช่นทุกครั้ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะเกริ่นด้วยการถามจำเลย(คนขับรถยนต์)ว่า การเป็นคดีความนี่เสียเวลาประกอบอาชีพใช่ไหม? ยามนอนต้องเอามือก่ายหน้าผากใช่ไหม?...ฯลฯ คนขับรถยนต์ก็บอกว่าใช่ กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาผมกังวลมาก เพราะไม่ได้ทำผิดแต่ถูกฟ้อง คนทำผิดกลับไม่ถูกฟ้อง...ฯลฯ
    ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะก็บอกว่า "คนขับรถทุกคนต้องทำผิดกฎจราจรไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง...ศาลไม่ได้บังคับนะ...ฯลฯ(มาแนวเดียวกันอีกละ) เมื่อคู่กรณีไม่มาศาลอาจไม่ใช่ว่าเพราะเขาทำผิด" คนขับรถยนต์พูดว่า "แต่เขาไม่เคยมาศาลสักนัดเลยนะครับ แถมยังไม่ยอมรับหมายศาลด้วย"
    ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะบอกว่า "การพิจารณาคดีลับหลังคู่กรณีอาจมีข้อโต้แย้งได้ แต่ว่ามีวิธียุติคดีแบบง่ายๆและไม่เสียเวลา(เพราะคู่กรณีไม่มาศาล ๖ นัดแล้ว) แต่จำเลยต้องรับสารภาพ แล้วให้ตำรวจโทรศัพท์ขอคำยืนยันจากคู่กรณีว่า ไม่ติดใจเอาความเรื่องโทษทางอาญาและความเสียหายทางแพ่ง ศาลจะตัดสินให้จำเลยเสียค่าปรับแค่หลักร้อยหลักพัน ไม่ต้องถูกติดคุก-ไม่ต้องคุมประพฤติ-ไม่ต้องเสียเงินชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนเงินประกันตัวกับเงินบรรเทาความเสียหายที่เคยวางไว้ ก็ทำเรื่องขอรับคืนไปในวันนี้เลย ตกลงไหม? หรือจะสู้คดีต่อไป? แต่ถ้าศาลเห็นว่าทำผิดคุณต้องติดคุกนะ...ฯลฯ"(ขู่อีกละ)
    คนขับรถยนต์ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดแน่นอน พร้อมแสดงหลักฐานที่เตรียมมา และจะยอมรับสารภาพแต่ขอให้ศาลปรับหลักร้อย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแสดงความไม่พอใจ บอกว่า "อย่ามาละเมิดอำนาจศาล..."(อ้าว?) 

    คนขับรถยนต์บอกว่า "เมื่อกี้นี้ท่านเพิ่งบอกว่าเสียค่าปรับแค่หลักร้อยหลักพัน ผมจึงขอให้ท่านปรับหลักร้อยเพราะผมไม่ได้ทำผิด แต่ยอมรับสารภาพเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาทุกฝ่าย" ผู้พิพากษาฯบอกว่า "นี่ศาลนะ ไม่ใช่ร้านขายของ จำเลยไม่มีสิทธิ์มาต่อรอง..."(เออ..เอากะมันสิ)
    คนขับรถยนต์ทั้งโดนขู่โดนหลอกล่อก็คิดว่า ระดับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะลงทุนมาพูดเองแบบนี้ เห็นทีจะไม่รับสารภาพไม่ได้แล้ว เพราะท่าทางเอาจริงเอาจังและวางอำนาจมาก การแสดงออกนั้นชัดแจ้งว่า ไม่ต้องการพิจารณาคดีตามปกติ ขืนสู้คดีต่อไปจะทำให้ผู้พิพากษาหมั่นไส้ไม่พอใจ ผลร้ายจะตามมาจึงไม่อยากเสี่ยง จำใจยอมรับสารภาพไป
    รอเสร็จกระบวนการระหว่างผู้พิพากษากับพนักงานพิมพ์คำพิพากษา ผู้พิพากษาก็อ่านคำพิพากษาว่า "จำเลยรับสารภาพผิดตามฟ้อง ศาลตัดสินลงโทษจำคุก ๒ ปี ปรับ ๖ พันบาท แต่จำเลยรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก ๑ ปี ปรับ ๓ พันบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา ๒ ปี...ฯลฯ"(อ้าว??? ไหนเมื่อกี้ตอนตกลงกัน มึงบอกว่าจะไม่มีโทษจำคุก??? เวรละ...)
    เสร็จแล้วผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ(ยังมีหน้า)ถามว่า "จำเลยมีอะไรติดใจคำตัดสินไหม?(ถามว่ากล้าติดใจไม๊?จะดีกว่านะท่าน) โลกเราก็เป็นแบบนี้เอง บางครั้งเราไม่ได้ทำผิดแต่ก็ต้องยอมรับผิด-ยอมเสียเงินให้คนที่เขาบาดเจ็บไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน...ฯลฯ"
    คนขับรถยนต์ตอบว่า "ไม่เป็นไรครับผมเข้าใจดี โลกเราก็เป็นแบบนี้เอง"(คิดในใจ...รวมทั้งศาลด้วย ภายใน ๒ ปีถ้ากูเผลอไปทำผิดอาญา กูอาจจะต้องติดคุก ๑ ปี ตามที่โดนรอลงอาญา...เฮงซวยเลย)
    เสร็จกระบวนการพิจาณาคดี คนขับรถยนต์ไปขอรับเงินประกันและเงินบรรเทาความเสียหายคืน แต่กลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่คลังบอก "ตามระเบียบแล้วเงินบรรเทาความเสียหายจะขอรับคืนไม่ได้ หากคู่กรณีไม่ประสงค์จะรับเงินนี้ ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ใช่ทางโทรศัพท์ ถึงจะทำในขั้นตอนพิจารณาคดีก็ใช้ไม่ได้ แล้วเงินก็จะตกเป็นของแผ่นดินไม่ใช่คืนให้คุณ คุณอยากวางเงินเองทำไมละ"
    คนขับรถก็แย้งว่า "ผมวางเงินตามที่ศาลบอก แล้วศาลเพิ่งยื่นเงื่อนไขคืนเงินฯลฯ เพื่อให้ผมยอมรับสารภาพในชั้นพิจารณาคดีเมื่อกี้นี้เอง..." เจ้าหน้าที่คลังก็เอาเรื่องไปถามผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
    แล้วก็ถือบันทึกกลับมา เขียนด้วยลายมือชนิดที่ดูยังไงก็แค่คล้ายๆตัวอักษรไทย(แต่เจ้าหน้าที่คลังสามารถอ่านออก) ว่า "ให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายให้คู่กรณีมารับเงินภายใน ๗ วัน...ฯลฯ"
    คนขับรถยนต์ก็อ้างคำพิพากษา โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่คลังอยู่อีกนาน ว่าแบบนี้มันขัดกันกับคำพิพากษา...ฯลฯ เจ้าหนาที่คลังก็บอกว่า "ระเบียบเป็นแบบนี้ ใครให้คุณไปรับสารภาพละ ทำไมไม่สู้คดีไปเลย หัวหน้าศาลสั่งมาแบบนี้ คุณไปเถียงเองสิ...ฯลฯ"
    คนขับรถยนต์ก็ได้แต่ส่ายหัวว่า "ขนาดผู้พิพากษาหัวหน้าคณะผมยังไม่กล้า แล้วใครจะไปกล้าขัดใจหัวหน้าศาล...คำพูดของคนในศาลกะล่อนแบบนี้ทุกคนหรือไง? เชื่อไม่ได้เลย..."(เวรจริงๆ)
    สุดท้าย คนขับรถยนต์ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ต้องกลับมานอนเอามือก่ายหน้าผากต่อไปอีก ๒ ปี จนกว่าจะครบกำหนดเวลารอลงอาญา และเสียความรู้สึกสุดๆที่โดนหลอก..ไม่อยากเชื่อถ้าไม่เจอกับตัวเองฯ

    *เรื่องเล่า อย่าเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง*
  
๒๓ มกราคม ๒๕๕๙ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น