ทางโลก-ทางธรรม : กาพย์ยานี๑๑
๏ กามสุขัล ลิกานุโยค..............................(คือ)ครรลองโลก ปกติเร้า-
หฤทัย ให้มัวเมา...................................เฝ้าเสพสู่ คู่นิรันดร์
๏ ทางโลก เที่ยวหมกมุ่น..........................รสกามคุณ หนุนสุขสันติ์
ลาภ-ยศ สรรเสริญ(ยืน)ยัน......................สิ่งสำคัญ ขั้นต้นปอง
๏ ติดใจ อาลัยโลก...................................(ยาม)ต้องวิโยค โศกเศร้าหมอง
ทุกข์ใน ฤทัยนอง..................................เมื่อของรัก พรากจากไป
๏ แสวงหา สิ่งประสงค์..............................ที่ลุ่มหลง จำนงใคร่
(ด้วยวิธี)ชั่ว-ดี มิใส่ใจ.............................ขอแค่ได้ สมใจดาล
๏ ทางโลก (จึง)ชุ่มโชกบาป.......................บ่เข็ดหลาบ วัฏสงสาร
สืบสัตว์ สัญชาตญาณ.............................ปานประกฤติ จิตวิกรม(ประกฤติ=ความเป็นธรรมดา)
๏ ทางธรรม ถือความสัตย์...........................ต้องการตัด ทุกข์โศกสม
โลกีย์ ค่านิยม.........................................ข่มจิตใจ ไม่คำนึง
๏ ชั่ว-ดี วินิจฉัย..........................................ทำสิ่งใด ใคร่ครวญถึง
ถูก-ผิด นิมิตตรึง......................................พึงสุจริต อิฏฐารมณ์
๏ พ้นโลก(ภพชาติ) สิ้นโศกเศร้า...................เป็นเป้าหมาย ใฝ่ปฐม
ปรัชญา ค่านิยม.......................................อุดมเด่น เห็นครรลอง
๏ วิถี แห่งชีวะ.............................................บ่ง(บอก)สัจจะ ว่าชนผอง
ดื่มด่ำ ตามครรลอง..................................ของทางโลก (หรือ)ทางธรรมเอยฯ
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๘. คณิกาสูตร
พุทธอุทาน สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่และสิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป สิ่งทั้งสองนั้นเจือด้วยธุลีคือราคะเป็นต้นแก่ผู้ทุรนทุรายใฝ่ใจอยากได้รับอยู่ สมณพราหมณ์ผู้มีสิกขาอันเป็นสาระ คือศีล วัตร ชีวิต พรหมจรรย์ และการบำบวง*อันเป็นสาระ นี้เป็นส่วนสุดที่ ๑ สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า ‘โทษในกามไม่มี’ นี้เป็นส่วนสุดที่ ๒ ส่วนสุดทั้งสองนี้ มีแต่จะเพิ่มตัณหาและอวิชชาให้มากขึ้น ตัณหาและอวิชชาย่อมก่อให้เกิดความเห็นผิดมากขึ้น สมณพราหมณ์ทั้งหลายไม่รู้ส่วนสุดทั้งสองนั้น บางพวกก็จมติดอยู่ บางพวกก็แล่นไป ส่วนพระอริยะทั้งหลายได้รู้แจ้งส่วนสุดทั้งสองนั้น จึงไม่ตกไปในส่วนสุดทั้งสองนั้น และเพราะละส่วนสุดทั้งสองนั้นได้ จึงไม่สำคัญตนด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่มีวัฏฏะปรากฏ.
*(บำบวง=บนบาน, บูชา, เซ่นสรวง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น