๏ วันที่เธอ เห็นภัย ในกิเลส...........................................อันเป็นเหตุ แห่งอธรรม กรรมอกุศล
เห็นความชั่ว มัวหมอง ของผู้คน...............................(ที่)เห็นแก่ตน จน(ใจ)มืดบอด ขอดความดี
๏ วันรู้เรียน(เรียนรู้) การเวียนว่าย ตายเกิดเป็น..................เหตุลำเค็ญ เซ่นไส ในภพวิถี
เห็นความจริง ชิงชัง สังขารมี...................................ความโศกเศร้า โศกี สืบนิรันดร์
๏ ทำให้เธอ เบื่อหน่าย ในชีวิต.......................................(เพราะ)ไม่วิจิตร อนิจจา โสภาสันติ์
ปรารถนา ละ(การ)เวียนว่าย ตายเกิดกัลป์..................หยุดวิถี ชีวัน สงสารวน
๏ วันที่เธอ เข้าใจ ในอริยสัจ...........................................มุ่งปฏิบัติ ตัดอธรรม กรรมอกุศล
ขจัดความชั่ว มัวหมอง ของกระมล............................ละตัณหา (ความ)เห็นแก่ตน พ้นสิ้นไป
๏ เธอจะพ้น พันพัว ตัวตนเก่า.........................................เริ่มเพริศเพรา ราวเกิด เป็นคนใหม่
โลกธรรม ความสัมฤทธิ์ เลิกติดใจ.............................รู้สึกหมดจด สดใส ในฤดี
๏ เว้นทำชั่ว โดยไร้ ใครบังคับ........................................เลิกสับปลับ พูดจา เสนาะศรี
เว้นความคิด มิจฉา สัมมามี.......................................เลิกโลกี ย(ะ)วิสัย (อย่าง)ไร้โศกา
๏ มิยึดมั่น ถือมั่น ในวันนี้...............................................ไม่ยินดี ยินร้าย ในวันหน้า
มิถือสา อดีตกาล ที่ผ่านมา.......................................ไม่อัดอั้น มีปัญหา ว่าทำไม?(เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ฯลฯ)
๏ เธอดำเนิน ชีวิต ด้วยกิจวัตร........................................อันพิพัฒน์ สัตย์ตรง (อย่าง)มิหลงใหล
(เธอ)จะเป็นคน ประเสริฐศรี มิเหมือนใคร....................เพราะหัวใจ พ้นโลก โสโครกเอยฯ
๘ ตุลาคม ๒๕๖๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น