ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กรรมใครกรรมมัน : เรื่องสั้น




กรรมใครกรรมมัน : เรื่องสั้น
(เป็นเรื่องที่จินตนาการขึ้น)

    ไฟริมถนนส่องแสงสว่าง
    ท่ามกลางความมืดที่เริ่มโรยตัวลงมาปกคลุมพื้นพิภพ
    จะค่ำแล้ว อาแป๊ะเดินกลับมาบ้านอีกครั้ง เพื่อเอาสมาร์ทโฟนไปมอบให้ตำรวจ
    แม้ความรู้สึกไม่ไว้วางใจจะวนเวียนอยู่ก็ตามที และคิดว่า ถึงแม้ไม่เอาไปให้ ตำรวจก็ทำอะไรตัวเองไม่ได้ ต่อให้มาค้นบ้าน ก็สามารถซ่อนไว้ให้ไม่มีทางหาเจอ
    แต่ก่อนจะถึงบ้าน อาแป๊ะตัดสินใจแวะเข้าวัด กราบไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามลำดับแล้วเสี่่่ยงเซียมซีถามหลวงพ่อว่า
    "ตำรวจพวกนี้ไม่ต่างจากโจรในเครื่องแบบ พูดจาเหมือนอยากเห็น-อยากได้สมาร์ทโฟนที่ผมเก็บรักษาไว้ ถ้ามีราคาแพง มันคงจะยึดเอาไว้ใช้เอง ผมควรเอาสมาร์ทโฟนไปให้ตำรวจหรือไม่ครับ?"
    เซียมซีได้ใบที่ ๙ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า "...ประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ขลุกใจครอง คอยสนองเคราะห์กรรมตามประจญ...แสวงบุญเถิดหนาอย่าอาวรณ์"
    อาแป๊ะพยายามใคร่ครวญความหมายที่หลวงพ่อแนะนำ คิดว่าพอจะเข้าใจแล้วเซียมซีอีกครั้ง
    บอกหลวงพ่อว่า "งั้น ผมจะเอาสมาร์ทโฟนไปให้ตำรวจนะครับ จะทำดีเท่าที่จะทำได้ ถ้ามันจะยักยอกเอาไว้ ก็ปล่อยไปตามกรรมใครกรรมมัน"
    เซียมซีได้ใบที่ ๑๖ มีข้อความว่า "..เลิศประเสริฐนัก..."

    เรื่องของเรื่องเริ่มจากเมื่อวันลอยกระทง
    ตอนเวลาล่วงบ่ายแล้ว อาแป๊ะกำลังง่วนอยู่กับการจัดผ้าบังแดด ไม่ให้สาดส่องโดนสินค้าที่วางอยู่หน้าร้านขายของของตัวเอง
    แต่ก็ต้องวางมือเพราะมีเด็กนักเรียนหญิงแปลกหน้าวัยประถม ๒ คน น่าจะเป็นเด็กชนบทที่เข้ามาเรียนในเมือง คนหนึ่งเอาสมาร์ทโฟนที่มีกรอบหลังสีทอง ขนาดบาง-หน้าจอ ๕ นิ้วมายื่่นให้อาแป๊ะ พรางบอกว่า
    "เก็บได้ที่ข้างร้านตรงนี้ค่ะ" เธอคงเข้าใจว่าอาแป๊ะทำมือถือหล่นไว้
    อาแป๊ะรีบคิดว่าควรทำอย่างไรดี?
    ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เด็กศรัทธาในความซื่อสัตย์สุจริต และรักษาความดีที่มีอยู่นี้ไว้ตลอดไป ก่อนจะบอกเด็กว่า
    "ไม่ใช่ของลุงหรอกนะ แต่ลุงจะเก็บมือถือเอาไว้ รอให้เจ้าของเขาโทรมาถามหานะจ้ะ ถ้าไม่มีใครมาแสดงความเป็นเจ้าของ ก็จะไปแจ้งความที่โรงพักเพื่อหาเจ้าของต่อไป ขอชื่่อและเบอร์โทรฯของคนที่เก็บมือถือด้วย จะได้แจ้งให้เจ้าของโทรไปขอบคุณ" ว่าแล้วก็เอาสมุดฉีกและปากกามายื่นให้เด็กที่แสดงตัวว่าเป็นคนเก็บสมาร์ทโฟนได้
    เด็กคนนั้นหยิบสมาร์ทโฟนราคาถูก-สีดำ กระจกหน้าจอร้าว-มีริ้วรอยเต็มไปหมดออกมาจากกระเป๋าเป้ที่สะพายอยู่ แล้วเลื่อนหาเบอร์โทรฯ ก่อนจะจดเบอร์ของตัวเองลงในสมุดฉีก ซึ่งทำให้อาแป๊ะงุนงงอยู่ไม่น้อย ว่าทำไมเบอร์โทรฯของเด็กจึงต้องบันทึกไว้ในมือถือของเด็กเอง หรือเด็กจำเบอร์ของตัวเองไม่ได้? แต่ไม่คิดจะซักไซ้เด็ก
    แล้วอาแป๊ะก็เดินเข้าไปในบ้าน หยิบแก้วน้ำเซรามิกในกล่องกระดาษแข็งที่เตรียมไว้สมนาคุณลูกค้า มามอบให้เด็กเป็นของกำนัล พรางบอกว่า
    "นี่เป็นรางวัลสำหรับคนดี เผื่อบางทีเจ้าของมารับโทรศัพท์แล้วไม่โทรมาขอบคุณ คืบหน้ายังไงลุงจะติดต่อหนูมาตามเบอร์นี้นะจ้ะ"
    เด็กรับแก้วน้ำใส่กระเป๋าเป้นักเรียน แล้วเดินจากไปพร้อมๆกัน

    ผ่านไป ๒๔ ชั่วโมง
    บ่ายของวันถัดมาก็ยังไม่มีเสียงโทรดังมาจากสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น อาแป๊ะคิดแปลกใจที่เจ้าของไม่ติดตามหาโทรศัพท์ของตัวเอง
    จึงใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาคำว่า "เก็บของได้-กฎหมาย" ก็ได้ความรู้ว่า
    คนเก็บของได้ มีสิทธิ์เรียกค่าบำเหน็จจากเจ้าของ ๑๐ % ของราคาของที่่เก็บได้ ถ้าครบ ๑ ปียังไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของคนเก็บได้
    แล้วยังมีคนแสดงความเห็นเรื่องแจ้งความกับตำรวจ ถ้าตำรวจอยากได้ของที่ฝากไว้ ก็จะให้พรรคพวกตัวเองมาแอบอ้างเป็นเจ้าของเพื่อรับไปแทน
    อาแป๊ะลองเปิดสมาร์ทโฟนเครื่องนั้นดู เผื่อจะพบเบอร์โทรที่ใช้ติดต่อเจ้าของได้ แต่มือถือใส่รหัส PIN ไว้เปิดไม่ได้
    จึงค้นอินเทอร์เน็ตหาคำว่า "วิธีปลดล็อคมือถือ" พบเพียงของยี่ห้อดังๆ
    จึงหันไปค้นหาเพจ Facebook ยี่ห้อสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น แล้วส่งข้อความไปถามแอดมิน เล่าให้ฟังเรื่องเก็บมือถือได้ฯลฯ การสนทนาจบลงที่ต้องไปแจ้งความ
    แต่อาแป๊ะคิดว่า ถ้าเอาสมาร์ทโฟนไปให้ตำรวจ เกิดเขาอยากได้ก็จะยักยอกเอาไว้เอง เพราะฉะนั้นควรไปลงบันทึกประจำวันไว้ก็พอ ไม่ต้องเอามือถือไปมอบให้ตำรวจ รอให้เจ้าของมาติดต่อรับที่ร้านอาแป๊ะเอง ถ้าครบ ๑ ปียังไม่มีใครมาแสดงตัว ก็จะมอบมือถือให้เด็กที่เก็บได้ไปครอบครองกรรมสิทธิ์ ทั้งอาแป๊ะและเด็กจะปลอดภัยจากข้อหาลัก/ยักยอกทรัพย์

    เย็นวันนั้น
    หลังจากไปให้อาหารแมวในวัด อาแป๊ะก็เดินไปโรงพักซึ่งห่างจากบ้านประมาณ ๑ กม. ถึงหน้าทางเข้าโรงพัก ความรู้สึกอึดอัดก็ประทุขึ้นในใจ เพราะเคยรับรู้ภาพลักษณ์ด้านลบขององค์นี้มาอย่างยาวนาน
    เดินขึ้นโรงพัก ยกมือไหว้ตำรวจเวร 2-3 คนที่มองอาแป๊ะด้วยสายตาขมึงทึง-ไม่ไหว้ตอบ แต่ถามด้วยน้ำเสียงแสดงอำนาจบาตรใหญ่ว่า "มีอะไร?"
    อาแป๊ะเดินไปนั่งเก้าอี้หน้าเคาเตอร์แล้วบอกตำรวจว่า
    "ผมมาขอลงบันทึกประจำวัน เรื่องมีเด็กเก็บโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ที่ข้างบ้านของผม แล้วเอามามอบให้ผมครับ"
    ตำรวจทั้ง ๓ คนแสดงอาการสนใจทันที คนที่มียศพันตำรวจโท ถามว่า "ไหนละมือถือ?"
    อาแป๊ะตอบว่า
    "ผมเก็บไว้ที่บ้านครับ ผ่านมา ๓๐ ชั่วโมงแล้วยังไม่มีใครโทรเข้าเลย ผมจึงอยากมาแจ้งความไว้ เพื่อป้องกันเจ้าของกล่าวหาว่าผมขโมยมือถือของเขา"
    ยังไม่ทันที่อาแป๊ะจะบอกว่า ถ้ามีใครมาแสดงความเป็นเจ้าก็ให้ไปรับได้ที่บ้าน ตำรวจอีกคนซึ่งมียศร้อยตำรวจเอกก็พูดขึ้นมาว่า
    "เก็บของได้ข้างบ้านก็ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเรานะ แล้วยังเก็บมือถือเอาไว้อีก มันไม่พ้นความผิดหรอก ต้องเอามามอบให้ตำรวจ"
    อาแป๊ะบอกว่า"ผมเก็บไว้เพื่อรอให้เจ้าของมารับที่บ้านผม ถ้าไม่มีใครมาแสดงความเป็นเจ้าของผมก็จะมอบให้เด็กต่อไป"
    ตำรวจช่วยกันบอกว่า "ไม่ได้หรอก เราไม่มีสิทธิ์เอามือถือไปมอบให้ใคร ต้องเอามามอบให้ตำรวจ" ทั้งน้ำเสียงและสีหน้าของตำรวจทั้ง ๓ คน แสดงออกถึงความอยากเห็นสมาร์ทโฟน เดาออกว่า
    ถ้าเป็นของแพง "กูจะอมไว้เอง"
    ตำรวจยศร้อยตำรวจโทที่มีท่าทางขึงขังน้อยกว่าเพื่อน กล่าวเสริมว่า
    "เจ้าหน้าที่จะเก็บไว้ 1 เดือน ถ้าไม่มีใครมาแสดงความเป็นเจ้าของ ก็ให้เด็กที่เก็บได้มารับคืน เด็กอยู่ที่ไหนละ?"
    อาแป๊ะอธิบายว่า "ผมไม่รู้จักเด็กที่เก็บได้และไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ผมจะมารับไปคืนให้เด็ก เพื่อทำให้เด็กรู้ว่าผู้ใหญ่เชื่อถือได้-ไม่เอาเปรียบเด็ก"
    ตำรวจยศพันตำรวจโทพูดขึงขังว่า
    "ไม่ได้ ต้องให้เด็กมารับเอง"
    อาแป๊ะทักท้วงว่า "แต่ผมเป็นคนมาแจ้งความนะครับ แล้วจะเป็นคนที่นำมือถือมามอบให้ด้วย"
    ตำรวจพูดว่าไม่ได้และอะไรอีกหลายคำ ซึ่งไม่รู้ว่าคนไหนพูด-ฟังไม่ทัน-จำไม่ได้ เพราะช่วยกันพูดไปในทางเดียวกัน
    เพื่อตัดความรำคาญ อาแป๊ะจึงบอกตำรวจไปว่า
    "เดี๋ยวผมจะกลับไปบ้านเอามาให้" ก่อนจะเดินออกจากโรงพักไป

    หลังจากเข้าวัด-ไหว้พระเสร็จ
    อาแป๊ะก็กลับบ้าน เอาสมาร์ทโฟนมามอบให้ตำรวจที่ต่างสนใจจับตามองสมาร์ทโฟนเป็นพิเศษ
    คนแรกคว้าไปพลิกดูยี่ห้อ เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ยี่ห้อดังก็วางไว้
    อีกคนจับมาถือ-พยายามเปิดอยู่นาน แต่ติดที่เดารหัส PIN ไม่ได้ก็วางไว้อีก
    คนสุดท้ายยศสิบตำรวจตรีลองพยายามเปิด เมื่อเปิดไม่ได้ก็ถือเดินไปที่มุมห้อง หาอะไรมางัดเอาซิมการ์ดออกมา จนถาดที่ใส่ซิมการ์ดกระเด็นตกลงบนพื้นพร้อมซิมการ์ด จะใส่เข้าคืนก็วางไม่ถูกตำแหน่ง-ใส่ไม่เข้า จนอาแป๊ะต้องแนะนำว่า สงสัยจะใส่ผิดช่อง เพราะใส่ได้ ๒ ซิม
    ขณะที่ดูตำรวจเอาซิมการ์ดเข้าที่คืน อาแปีะก็คิดในใจว่า
    "ไม่เข้าท่าละ จะไม่ยุ่งกับมือถือเครื่องนี้อีก เดี๋ยวจะซวยไปด้วย"
  
    เมื่อเปิดสมาร์ทโฟนไม่สำเร็จ
    สักพัก ตำรวจยศพันตำรวจโทก็ออกคำสั่งให้ลงบันทึกประจำวันให้อาแป๊ะ
    หลังจากทำตามขั้นตอน-ก่อนจะปริ้นลงกระดาษ อาแป๊ะขอให้ตำรวจอ่านให้ฟัง และขอให้เพิ่มข้อความว่า
    "ถ้าเจ้าของไม่มาติดต่อขอรับคืนภายใน ๑ เดือน ผู้แจ้งจะรับกลับไปมอบให้เด็กที่เก็บได้" แต่ตำรวจพิมพ์ว่า
    "...ผู้แจ้งจะมาประสานการปฏิบัติต่อไป" เสร็จแล้วก็พูดกับอาแป๊ะพร้อมด้วยรอยยิ้มเจ้าเล่ห์ ว่า
    "ดีแล้วที่เอามาให้ตำรวจ เดี๋ยวจะดูแลให้"
    "กูจะได้มือถือคืนไม๊เนี่ย?" อาแป๊ะถามตัวเองในใจ ด้วยความระแวงรอยยิ้มแบบนั้น

    เมื่อได้อ่านเองอีกครั้ง
    อาแป๊ะก็เซ็นชื่อและรับเอกสารบันทึกประจำวันเดินออกจากโรงพัก โดยไม่ลืมที่จะโทรไปบอกเด็กที่เก็บสมาร์ทโฟนได้ ถึงเรื่องแจ้งความ-ตำรวจยึดมือถือไว้ และรอดูผลอีก ๑ เดือน

    เหตุการณ์คืบหน้าอย่างไร ผู้เขียนจะกลับมาเขียนเพิ่มเติมต่อไปภายหลังฯ 
   
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

    ๓๐ วัน ผ่านไว ปลายธันวาฯ
    อาแป๊ะวางแผนการปฏิบัติเพื่อติดต่อขอรับสมาร์ทโฟนคืนจากตำรวจ ถ้าตำรวจยืนยันจะให้เด็กมารับเอง  ก็จะขอให้ตำรวจทำหนังสือมอบฉันทะจากอาแป๊ะ ให้ผู้ปกครองพาเด็กมารับ 

    เย็นวันนั้น หลังจากให้อาหารแมวที่วัด อาแป๊ะก็เดินไปสถานีตำรวจ แต่ตำรวจที่เข้าเวรบอกว่า สารวัตรเจ้าของเรื่องไม่มาทำงานในวันนี้ พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่
    อาแป๊ะเดินกลับบ้าน พรางครุ่นคิดอย่างรอบคอบ ถ้าไปแล้วตำรวจไม่อยู่แบบนี้เรื่อยๆ เสียเวลาวันละ ๑ ชั่วโมงคงไม่ดีแน่ เข้าทำนอง"เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ"
    อย่ากระนั้นเลย ถ้าไปติดต่ออีกที ตำรวจเจ้าของเรื่องไม่อยู่อีกก็จะขอให้ออกหนังสือมอบฉันทะ ให้ผู้ปกครองพาเด็กมารับเองเลยดีกว่า จะได้หมดภาระเสียที

    เย็นวันรุ่งขึ้นก็เป็นดั่งคาด 
    ตำรวจเจ้าของเรื่องไม่มาเข้าเวร อาแป๊ะจึงขอให้ตำรวจเสมียนทำหนังสือมอบฉันทะ แล้วโทรแจ้งเด็ก แต่เสียงเด็กที่รับสายไม่เหมือนเดิม เป็นเสียงเด็กที่กำลังเป็นสาว
    อาแป๊ะจึงถามย้ำว่าใช่เด็กที่เก็บมือถือหรือเปล่า? เธอก็ตอบว่าใช่
    "ช่างมัน" อาแป๊ะบอกตัวเอง-เล่ารายละเอียดให้ฟัง ผู้ปกครองเด็กขอพูดด้วย แสดงความกังวลว่าจะโดนตำรวจยัดข้อหาลักทรัพย์
    อาแป๊ะชี้แจงว่า ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง โทรศัพท์ของเด็กที่ใช้อยู่ สภาพก็เก่าใกล้พังแล้ว เมื่อมีสิทธิ์ก็สมควรได้รับโทรศัพท์ที่เก็บได้ไปใช้แทน พรุ่งนี้ให้มารับหนังสือที่ตำรวจออกให้กับอาแป๊ะ แล้วไปติดต่อขอรับโทรศัพท์ได้เลย

    บ่ายวันต่อมา เด็กก็พาพ่อมาหาอาแป๊ะที่ร้าน
    ทันทีที่เห็นหน้า อาแป๊ะก็คิดว่า ไม่น่าจะใช่เด็กคนเดียวกัน เด็กคนนั้นอายุประมาณ ๑๒-๑๓ ปี ตัวผอม-ผิวดำ กิริยาค่อนข้างไร้เดียงสา แต่เด็กคนนี้อายุประมาณ ๑๖-๑๗ ผิวขาวกว่า กำลังเป็นสาว-ความไร้เดียงสาไม่ปรากฏ แต่ลักษณะเส้นผม-เค้าโครงหน้าเหมือนกัน คงเป็นพี่น้องกัน
    อาแป๊ะใคร่ครวญ แล้วถามเด็กว่า
    "หนูอายุเท่าไหร่?" เด็กตอบว่า "หนูอายุ ๑๒ คะ"
    "เอามือถือมาหรือเปล่า?" อาแป๊ะคิดว่ามีมือถือยืนยันเพิ่มเติมคงจะดี
    "มันพังแล้วคะ" เด็กตอบ
    "ดูยังไงก็ไม่ใช่ ๑๒ เอาเถอะ ยังไงก็เป็นเด็กที่ติดต่อผ่านเบอร์มือถือที่เด็กจดให้ น่าจะได้รับมอบสิทธิ์มา เราไม่มีทางเลือก" อาแป๊ะคิด
    แล้วจึงอธิบายวิธีปฏิบัติเมื่อไปโรงพักแล้ว อาแป๊ะก็ย้ำกับพ่อเด็กว่า ไม่ต้องกลัวเรื่องข้อหาลักทรัพย์ อาแป๊ะทำให้เรียบร้อย-ถูกต้องตามกฎหมาย 
    ถ้าตำรวจจะไม่คืนสมาร์ทโฟนให้ ก็ขอให้ตำรวจทำหนังสือนัดหมายใหม่ว่าจะให้มารับเมื่อไร ถ้าได้รับวันนี้ ก็ขอให้ตำรวจออกหนังสือยืนยันว่าเด็กเก็บได้และเจ้าของไม่มารับคืนฯลฯ ก่อนจะให้กำลังใจทั้งสองคนที่ไหว้ขอบคุณแล้วจากไป

    เย็นวันนั้นขณะกำลังเก็บร้าน อาแป๊ะอดสงสัยไม่ได้
    "แค่ ๑ เดือน วัยรุ่นจะโตเร็วขนาดนี้เลยหรือ? แล้วเด็กคนนั้นไปไหน? โทรศัพท์พังแล้วจริงหรือ? เราทำพลาดหรือเปล่า? โดนเด็กหลอกหรือไม่?" จึงลองโทรไปเบอร์เด็กอีกครั้ง มีคนรับสาย
    "อ้าว มือถือไม่พังนี่หว่า" อาแป๊ะเริ่มแน่ใจ
    เสียงที่รับสายเป็นเด็กสาววันนี้ ไม่ใช่เสียงไร้เดียงสาของเด็กวันนั้น
    อาแป๊ะซักถามว่า "หนูเป็นเด็กที่เก็บมือถือจริงหรือ?" เด็กตอบว่า"ใช่คะ"
    "หนูอายุเท่าไหร่์"
    เสียงตอบว่า"๑๓ ปีคะ"
    "ตอนบ่ายบอก ๑๒" อาแป๊ะคิด
    "หนูไม่น่าจะใม่น่าจะใช่คนเดียวกันกับเด็กวันนีั้นนะ" อาแป๊ะย้ำกับเด็ก
    เด็กยืนยันว่า "คนเดียวกันคะ" พรางหัวเราะ
    "ช่างมัน กรรมใครกรรมมัน" อาแป๊ะสรุปในใจ แล้วถามว่าตำรวจให้มือถือหรือเปล่า? เด็กบอกว่าได้รับแล้ว
    "โอเค หมดภาระเสียที" คิดพราง อาแป๊ะถอนหายใจอย่างโล่งอก บอกลาเด็กแล้วทบทวนบทเรียนว่า
    คราวหลังมีอะไรทำนองนี้อีก ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ให้ครบ ทั้งคนทั้งวัตถุพยาน
    คราวนี้เพิ่งเป็นครั้งแรก ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะซับซ้อนยุ่งเหยิงขนาดนี้ จึงทำอะไรขาดตกบกพร่องไปมาก คนเรา เชื่อใจได้ยากจริงๆฯ
       
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น