ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567

แชร์แวส บาทหลวงฝรั่งเศส ระบุ สมัยอยุธยา พระสงฆ์ดื่มด่ำรสพระธรรมมีน้อย

 

แชร์แวส บาทหลวงฝรั่งเศส ระบุ สมัยอยุธยา พระสงฆ์ดื่มด่ำรสพระธรรมมีน้อย

นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามา “อยุธยา” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับ พระสงฆ์ ไว้หลากหลายประเด็นอย่างน่าสนใจ

หนึ่ง ว่าด้วยเอกสิทธิ์ของพระสงฆ์ ไม่ต้องเสียส่วยและทำงานให้หลวง เหตุนี้ทำให้ชาวสยามบวชพระกันมากก็เพื่อเอกสิทธิ์นั้น ดังที่แชร์แวสบันทึกว่า

“ในบรรดาเอกสิทธิ์ทั้งปวงที่พระภิกษุได้รับอยู่นั้น การได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียส่วยทั้งสิ้นกับไม่ต้องทำงานหลวงนั้นนับว่าพ้นความลำบากอันใหญ่หลวงไปได้ เพราะการยกเว้นในประการที่สำคัญนี่เองจึงพาให้บุคคลไปบวชกันเสียมาก การอยู่อย่างเกียจคร้านในอารามต่าง ๆ นั้น เป็นเสน่ห์ดึงดูดอันทรงอำนาจของประชาชาตินี้ ซึ่งถือว่าอะไร ๆ ก็ไม่มีความสุขเท่าการดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำการงาน และโดยพึ่งน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่นเขาตลอดไป…”

สอง ว่าด้วยการบวชพระเพื่อดิื่มด่ำรสพระธรรมนั้นมีอยู่น้อย ชาวสยามบวชพระไปตลอดชีวิตก็มีจำนวนน้อย ครั้นอายุมากขึ้นหากพิจารณาว่าชีวิตฆราวาสจะมีลู่ทางที่ดีกว่าก็จะสึกเสีย แต่ถ้าไม่ก็จะบวชต่อไป หรือหากมีโอกาสที่จะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นก็จะบวชต่อไป ดังที่แชร์แวสบันทึกว่า

“พระภิกษุเหล่านี้ไม่มีข้อผูกพันแต่ประการใด มีเสรีภาพที่จะลาสิกขาบทกลับมาเป็นฆราวาสและแม้จะแต่งงานมีเมียก็ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อปรารถนาจะลาสิกขาบทเมื่อใด ก็เรียนให้เจ้าอธิการทราบล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนจะออกไปจากวัด

โดยเหตุที่บิดามารดามักจะให้บุตรของตนบวชแต่ยังมีอายุน้อย จึงมีจำนวนน้อยนักที่จะบวชไปจนตลอดชีวิต พอมีอายุได้ 25-26 ปี เมื่อเห็นว่ามีลู่ทางดี และรวบรวมเงินทองไว้ได้บ้างแล้ว ก็มักจะพากันละบรรพชิตเพศ ผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าและสละโลกียวิสัยได้ และดื่มด่ำในรสพระธรรมนั้นมีน้อยนัก เหตุผลสำคัญ ๆ ที่เหนี่ยวรั้งไว้มิให้เขาสึกออกมาก็คือ ความหวังที่จะเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นไปในไม่ช้าหรือว่าเมื่อสึกออกไปแล้วก็จะไม่ได้รับเกียรติยิ่งใหญ่และความสะดวกสบายเท่ากับที่ยังอยู่ในวัดเท่านั้น…”

สาม ว่าด้วยพระวินัยสงฆ์ แชร์แวสเล่าถึงพระวินัยสงฆ์บางข้อที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ ซึ่งดูเหมือนว่าชาวสยามจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก หากพระสงฆ์กระทำผิดพระวินัยเรื่องนี้ก็จะได้รับบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นย่างสดเลยทีเดียว ดังที่บันทึกว่า

“มีการให้เกียรติและอภิสิทธิ์ต่างๆ แก่พระสงฆ์ เป็นการสักการะแก่พระธรรมนูญหรือวินัยสงฆ์ ซึ่งมีข้อบัญญัติอันงดงามเป็นอันมาก และซึ่งส่งเสริมพระภิกษุเหล่านี้ให้ลุการถึงพร้อมยิ่งขึ้น เหตุด้วยมีบัญญัติให้ภิกษุสงฆ์มีไว้ในครอบครองเฉพาะสิ่งที่จำเป็นแท้แก่การดำรงชีวิตเท่านั้น กล่าวคือ เครื่องนุ่งห่มประกอบด้วยผ้าสามพื้นและผ้าเก่า ๆ อีกผืนหนึ่งสำหรับนุ่งสรงน้ำ หรือเมื่อท่านใช้ถูตัวให้แก่ภิกษุรูปอื่นเท่านั้น

ให้บริจาคอาหารบิณฑบาตทานที่ได้รับมาเหลือเฟือแก่ภิกษุที่ยากจนกว่าบ้าง และมิพึงเก็บสิ่งไรไว้เพื่อบริโภคในวันรุ่งขึ้น มีข้อห้ามมิให้แสวงหาซึ่งลาภยศ แสดงอำนาจเหนือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ชมการมหรสพ ระวังการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลกย์ และการเป็นสื่อให้หญิงชายได้เสกสมรสกัน แม้จะเป็นญาติผู้ใกล้ชิดของตนก็ตาม

มีข้อห้ามโดยกำหนดโทษไว้อย่างหนักคือ การทอดตาดูมาตุคาม [หมายถึง ผู้หญิง, เพศหญิง – กองบก.ออนไลน์] รับของจากมือมาตุคาม นั่งใกล้กับมาตุคามและบนเสื่อหรือพรมผืนเดียวกัน สรุปว่ามิพึงคบค้ามาตุคามและแม้ปรารถนาที่จะทำความรู้จัก ถ้าปรากฏว่ามีผู้พบภิกษุสงฆ์ทอดสนิทแก่มาตุคามในเชิงเสน่หาด้วยประการใด ๆ ก็มีกฎหมายกำหนดโทษให้ย่างสดเสียทีเดียว

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศสยามนั้น ได้มีการใช้บทลงทัณฑ์อันเข้มงวดนี้แก่ภิกษุผู้น่าสงสารสองรูปซึ่งประพฤติผิดตามวินัยข้อนี้ เป็นการแน่นอนเหลือเกินที่พวกเขาจะมิได้รับอภัยเลย เมื่อตกอยู่ในความผิดข้อใหญ่เช่นนี้ เพราะพระวินัยของเขานั้นมีข้อบัญญัติอยู่แล้ว ให้ทำตนห่างจากโลกียวิสัยทั้งปวง โดยแจ้งวิธีการที่จะบำเพ็ญจิตใจให้แน่วแน่อยู่…”

ในมุมของ นิโกลาส์ แชร์แวส นั้นมองว่า “พระสงฆ์” ใน อยุธยา ผู้แสดงธรรมเทศนาด้วยความวิริยะอุตสาหะ ประณามการประพฤติผิดอย่างรุนแรง มีกิริยาอันสงบเสงี่ยม นั้นน่าเลื่อมใสยิ่ง อย่างไรก็ตามเขามองอีกมุมหนึ่งว่า “ภายในนั้นท่านก็เหมือน ๆ กับคนธรรมดาสามัญทั่วไป และลางทีก็เลวกว่าไปเสียอีก”

[https://www.silpa-mag.com/culture/article_74125]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น