ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี มิล้าสมัย : กลอนคติสอนใจ
๏ รวงราช (ชะ)พฤกษ์ย้อย ห้อยระย้า......................รังรอง ลำยองตา หน้าคิมหันต์
ลมพัด สะบัดเห็น เช่นจำนรรจ์..........................สังสรรค์ บรรเลง เพลงประไพ
๏ ความเขลา ของคน ดุจมนต์ขลัง..........................ประดัง ฝังจิต ติดนิสัย
ความชั่ว ของกมล คนจัญไร.............................ต่อให้ ตายจาก มิพรากพันธ์
๏ ความดี มีปัญญา คือลาภะ...................................ช่วยให้ (มี)ชัยชนะ ชีวะหรรษ์
ความรู้ (ว่าอะไร)ชั่ว-ดี วิลาวัลย์.........................ทรงค่า คุณานันต์ นิรันดร
(วิลาวัลย์=งามเลิศ,คุณานันต์=คุณ+อนันต์)
๏ (ความ)รู้ใจ ใครมี ดีหรือชั่ว?................................คือประโยชน์ โชติทั่ว สโมสร
ได้พบ คนดี (เป็น)โสภีพร.................................(พบ)ชั่วชน รนร้อน สะท้อนทัณฑ์
๏ คบคน ไม่ดี พามีทุกข์........................................คบ(คน)ดี คลีคลุก สร้างสุขสันติ์
เสริมส่ง มงคล ดลชีวัน.....................................วัฒนา จรัล บันเทิงใจ
๏ ตราบที่ ยังคง ยงชีวิต.........................................(เรื่อง)ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี มิล้าสมัย
เพราะกฎ แห่งกรรม ดำเนินไกร..........................ก่อกรรม ทำให้ ได้ผลคืน
๏ ศีลธรรม ความดี มีอานุภาพ.................................ชั่วทราม กำราบ ชีพราบรื่น
ปรารมภ์ สมหวัง สุขยั่งยืน..................................แช่มชื่น พื้นฐาน เปี่ยมปัญญา
๏ ความดี มีคุณ หมุนโลกให้...................................สู่ทาง สว่างไสว ไคลปัญหา
ความชั่ว มัวเมา เร่าโลกา....................................วัฏฏะ สังขารา บ่าเวียนวนฯ
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
โลกธรรมสูตร [๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ฯ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรม เหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อม ไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้าย เสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอัน ปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น