ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

นับถือพุทธศาสนาหรืออะไร? : กลอนคติเตือนใจ



นับถือพุทธศาสนาหรืออะไร? : กลอนคติเตือนใจ


    (หลัง)ออกพรรษา อากาศ อาจสับสน.......................ร้อน-หนาว-ฝน ผลพาน ผสานผสม

มิใช่การ โกหก ลวงพกลม(ของธรรมชาติ).............เยี่ยงชนสะพรั่ง สังคม ชมชาชิน


    แพร่เสียงเพลง อึกทึก ดังครึกครื้น...........................งานเริงรื่น เตรียมสรรพ รับกฐิน

หลากสำรับ อาหาร การดื่มกิน..............................ทั้งหมดทั้งสิ้น ครบถ้วน ล้วนจ่ายเงิน(หักจากเงินกฐิน)

 

    ปฏิบัติ จัดการ งานโดยพระ.....................................ผู้ปราศจาก สมณะ(ธรรม)* ความเก้อเขิน

รักวิถี โลกียธรรม เสพดำเนิน................................แล้วเชื้อเชิญ ชาวบ้าน สักการตน


    ถวายลาภ ยศถา บรรดาศักดิ์...................................สวามิภักดิ์ ปักใจ ไร้เหตุผล

(กับผู้ที่)แค่ผ้าเหลือง เฟื่องห่ม ก็สมกระมล............(ส่วน)จริยวัตร ขัดสน ไม่ยลมอง


    หลักศีลธรรม ความดี มิยึดถือ..................................ความสัตย์ซื่อ สุจริต คิดขัดข้อง

อกุศล มลทิน จินดานอง.......................................ส่วนกิเลส ตัณหาผอง ไป่ป้องปราม


    ใช้ชีวิต คิดแคบ (เลียน)แบบชาวบ้าน.......................โลกียธรรม สำราญ ฟุ้งซ่านหลาม

เป็นบรรพชิต พิศเคียง แค่เพียงนาม.......................ขาดสมณะ(ธรรม) ตะกละตะกลาม คือความ(เป็น)จริง

 

    สืบสานพุทธ (ธะ)ศาสนา ป่าวประกาศ......................แต่หลงใหล ไสยศาสตร์ มุ่งมาดยิ่ง

โลกุตระ มิกระจ่าง และชังชิง.................................กระหายยิ่ง ในกาม ความสัปดน


    นับถือพุทธ (ธะ)ศาสนา หรืออะไร?..........................ควรเจาะจง ถามใจ ไม่สับสน

มุ่งกำจัด วัฏสงสาร มารผจญ?...............................หรือแค่คน บวชพระ เพื่อ(ทำมา)หากิน?


๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖


*พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
๓. ตติยปัณณาสก์
๑. สมณสัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยสมณสัญญา๑-
๑. สมณสัญญาสูตร
ว่าด้วยสมณสัญญา
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้ ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วย่อมให้ธรรม ๗ ประการบริบูรณ์ สมณสัญญา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ สมณสัญญาว่า ๑. เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓. มารยาทอย่างอื่นที่เราควรทำมีอยู่ สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้ธรรม ๗ ประการบริบูรณ์ ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย ๒. เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ๓. เป็นผู้ไม่มีพยาบาท (ความคิดร้าย) ๔. เป็นผู้ไม่มีมานะ (ความถือตัว) ๕. เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา
             ๖. เป็นผู้มีการพิจารณาปัจจัยทั้งหลายอันเป็นบริขารแห่งชีวิตว่า ‘ปัจจัย
เหล่านี้มีประโยชน์เช่นนี้’ แล้วจึงบริโภค
             ๗. เป็นผู้ปรารภความเพียร
             ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อม
ให้ธรรม ๗ ประการนี้บริบูรณ์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น