๏ ถึงจะเป็น คนดี (ก็)มิสามารถ..............................ปิดตาเดิน นวยนาด ข้ามถนน
(เพราะ)จังหวะเหมาะ เคราะห์มี รถปรี่ชน...........หนีไม่พ้น ทุพพลภาพ / ดับชีวา
๏ แม้มั่นใจ ในความดี ที่เพียรสร้าง.........................ทว่าการ เหยียบย่าง กลางโลกหล้า
ใครก็อย่า ประมาท อาชญา..............................ความชั่วช้า ประจำใน ใจหมู่ชน
๏ มีอะไร (ชั่ว)ร้ายเท่า คนเล่าหนอ?........................หมั่นกำเนิด เกิดก่อ อกุศล
สถิตทรวง ดวงแด เห็นแก่ตน...........................(มัก)ทำสิ่งใด ไม่สน คน(อื่นทุกข์)ทรมาน
๏ การวางไว้(ไว้วาง) ใจคน จักจนจิต......................(เพราะ)ความทุจริต มิจฉา คือมาตรฐาน-
ของผู้คน ทั่วไป ในสาธารณ์.............................จิตหยาบช้า สามานย์ พาลฤดี
๏ สารพัดภัย หลายหลาก จากมนุษย์......................คือที่สุด ของภัย ในโลกนี้
ภัยธรรมชาติ สัตว์ร้าย ในปัถพี...........................หาได้มี ที่โหดเหี้ยม ทัดเทียมคน
๏ ธรรมชาติ มนัสไซร้ วางใจยาก............................เพราะส่วนมาก มักใคร่ ใฝ่อกุศล
ถึงลำธาร อันลดเลี้ยว คดเคี้ยวชล......................ยังมิยล เยี่ยงคนคด มดเท็จครอง
๏ ถึงจะเป็น คนดี (ก็)มิควรประมาท.........................เพราะชีวี จะพินาศ พลาดผลผอง
ความประมาท เป็นมัจจุ ผู้ช่ำชอง..........................คอยเฝ้ามอง จ้องหาเหยื่อ ทุกเมื่อ(เชื่อ)วัน(มัจจุ=ความตาย)
๏ อย่ามั่นใจ ในความดี ที่ทำแล้ว............................สิสามารถ พาคลาดแคล้ว แผ้วอาสัญ
ใคร(ล่วง)รู้เห็น เวรกรรมเก่า อย่างเท่าทัน?.........(แม้)พระอรหันต์ ยังพันตู สู่ความตาย
๏ ปราชญ์ใดสอน สั่งให้ ไว้ใจมนุษย์?.....................ผู้ประดุจ ภูตผี ปีศาจร้าย
ความประมาท คือหนทาง แห่งวางวาย...............คนประมาท คือคนตาย(แล้ว)* ใคร่ครวญเทอญฯ
๗ มีนาคม ๒๕๖๔
* พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น