โอวาทปาฏิโมกข์ : กลอนวันมาฆบูชา
๏ การไม่ ทำบาป.............................................กำราบ หยาบช้า สาไถย
ทำกุ ศลให้.............................................ใสสุก ถูกต้อง สมบูรณ์
๏ ชำระ หทัยจิต..............................................พิสิฐ มลทิน สิ้นสูญ
พุทธะ(เจ้าทั้งหลาย) อนุกูล........................สั่งสอน เทิดทูน หลักธรรม
๏ (ความ)อดทน อดกลั้น...................................เผาผลาญ บั่นทอน กิเลสส่ำ
นิพพาน เลิศล้ำ........................................ผู้รู้ ชูธรรม อำไพ
๏ กำจัด สัตว์อื่น..............................................(เป็นการ)ฝ่าฝืน บรรพชิต นิสัย
สร้างความ ลำบากให้(ผู้อื่น)........................มิใช่ สมณะ คะนึง
๏ เว้นการ พูดร้าย.............................................และการ ทำร้าย ใคร่ถึง
สำรวม ลึกซึ้ง...........................................ซึ่งหลัก ปาฏิโมกข์ ตลอดไป
๏ รู้จัก ประมาณ...............................................กับการ บริโภค กิน-ใช้
เลือกอยู่ อาศัย.........................................ในที่ สงัด ทัศนา
๏ ฝึกอบ รมให้................................................จิตใจ ประเสริฐ ก้าวหน้า
คือธรรม จำนรรจา....................................(ของ)บรรดา พุทธเจ้า ทุกพระองค์ฯ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
*บทสวดโอวาทปาฏิโมกข์(แปล)
นำ (หันทะ มะยัง โอวาทะปาติโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น