ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567

ตามกระแส-ทวนกระแส : กลอนคติสอนใจ

 


ตามกระแส-ทวนกระแส : กลอนคติสอนใจ


    การทำมา หากิน ต้องดิ้นรน.............................ตั้งกมล ทนทำ ตามกระแส

จับตา สถานการณ์ ผันผวนแปร........................แน่วแน่ แก้ล่วง ทันท่วงที


    จับกระแส แฟชั่น อย่างมั่นเหมาะ.....................สืบเสาะ เจาะใจ อย่าหน่ายหนี

(จึง)จะร่ำรวย เงินทอง คล่องขายดี...................เป็นอยู่ สุขี ชีวันแล

 

    แต่เรื่อง ทำดี มีศีลสัตย์...................................(จง)ยืนหยัด อย่าเรรวน ทวนกระแส

ใครจะชั่ว ก็ช่าง ยับยั้งแด................................แน่วแน่ จิตใจ ใฝ่หลักธรรม


    ค้าขาย ให้ทำ ตาม(ใจ)คนซื้อ..........................(เพราะ)เขาคือ คนชุบ อุปถัมภ์

(แต่)การกระทำ ต้องคำนึง ถึงกฎ(แห่ง)กรรม......ที่ครอบงำ โลกา ชีวาไกร


    ค้าขาย อย่าได้ผุด ทุจริต.................................สิ่งผิด ศีลธรรม อย่าตามไพล่

ฉาบฉวย รวยร่ำ ไปทำไม?...............................ถ้าต้อง ตามไป ชดใช้กรรม


    ความสุข จากกรรม กระทำเข็ญ........................ก่อเวร เป็นบาป ให้หลาบ(จำ)ล้ำ

แม้ใคร ชักชวน มิควรทำ.................................เรื่องผิด ศีลธรรม อย่าจำนน


    (ทำ)สิ่งที่ ดีทวย ร่ำรวยได้...............................ทำให้ ได้ดี มั่งมีผล

ความมี ศีลธรรม ทำให้คน.................................เอ่อล้น ท้นสุขี นิรามัย

 

    (การ)เกิดแก่ เจ็บตาย ไป่สิ้นสุด.......................ประดุจ คงคา ชลาไหล

ก่อเวร ก่อกรรม (ต้อง)ตามชดใช้......................ขอให้ ใคร่คิด พินิจเทอญ


๒๕ มกราคม ๒๕๖๗


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

กรรมสูตรที่ ๑
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่ง กรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อๆ ไป (อปราปรเวทนียะ) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์ แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ในข้อนั้น ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจ เป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ฯ
...........
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่
สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล ย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป
หรือในอัตภาพต่อๆ ไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่
สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น
สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อม
มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจ
เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ฯ
.....ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น