โลกนี้มิใช่ของเรา : กลอนคติเตือนใจ
๏ โลกนี้ มิใช่ ของเรา...................................อย่าเอา แต่ใจ ใฝ่ประสงค์
(มี)กฎเกณฑ์ เวรกรรม ดำรง.......................มั่นคง ธรรมชาติ ปัจจัย(บงการ)ฯลฯ
๏ สรรพสิ่ง แวดล้อม พร้อมด้วย.....................เหตุนำ อำนวย ป่วยไข้ฯลฯ
ยิ่งคน โลภมาก เท่าไร...............................(ยิ่งมีความ)อยากไม่ สิ้นสุด จุดชนวน(ปัญหา)
๏ ไม่ว่า (สภาพ)อากาศ เศรษฐกิจฯลฯ...........(ต่าง)วิปริต แปรปั่น(ป่วน) ผันผวน
โลกทัศน์ พัดเพ เรรวน...............................เจียนจวน แตกแยก แปลกปาน
๏ (ชีวิต)เป็นอยู่ อย่างไร ไม่วิตก(กังวล)?........กลุ้มอก กลุ้มใจ ไร้(สะทก)สะท้าน
(คงต้อง)ปรับใจ ไปตาม สถานการณ์............พยายาม ทำงาน(หน้าที่ให้ดีที่สุด) ฟันฝ่าไป
๏ (จำไว้ว่า)โลกนี้ มิใช่ ของเรา......................แค่เรา เข้ามา(เกิดมา) อาศัย
รับผล ของ(เวร)กรรม ที่(เคย)ทำไว้..............และสร้าง กรรมใหม่ ให้เวียนวน(สนอง)
๏ สิ่งที่ มิสม อารมณ์คิด................................(หรือ)เลิศล้ำ สัมฤทธิ์ ผลิตผล
ล้วนมี(ปัจจัย) สิ่งเอื้อ นอกเหนือตน.............มหาศาล ดาลดล กลไก
๏ จะเอา มาสุข ทุกข์สร้าง.............................อวดอ้าง(เป็นฝีมือตน) ทั้งมวล หาควรไม่
ผู้รู้ คิดขบ (ย่อม)สงบใจ..............................ปล่อยวาง ช่างปะไร ในโลกีย์
๏ เว้น-หลาบ บาปธรรม ทั้งมวล.....................ขวายขวน กุศล กมลศรี
(ขัดเกลา)ทำใจ ให้สะอาด สวัสดี.................สุจริต จิตมี ปรีชา
๏ (อะไร)จะเป็น(ไป) ยังไง ก็ช่าง...................ลอยตัว เหนือ-ห่าง (พ้น)ปัญหา
(คนเรา)ควบคุม อะไรได้? ในโลกา*..............(เหมือนมี)ดินฟ้า (ควบ)คุมหมด ปรากฏเอยฯ
๒๐ เมษายน ๒๕๖๖
*วิถีชีวิต ร่างกาย จิตใจ สติปัญญาฯลฯของเราเอง ยังคาดเดาได้ยาก-ควบคุมลำบาก
จะกล่าวไปใยกับการกำหนดสถานการณ์นอกตัว.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
โลกวิปัตติสูตร [๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวก ผู้ได้สดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไร เป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ
........ฯลฯ.........
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่า ปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่อ อนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลือ อยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความ เศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น