ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ก่อนจะเป็นอรหันต์ : กลอนคติเตือนใจ


ก่อนจะเป็นอรหันต์ : กลอนคติเตือนใจ


    ก่อนพิรุณ โปรยปราย เป็นสายฝน.......................นภดล ท้นเมฆา สาเหตุให้

เกิดปรากฏ หยดน้ำ ฉ่ำชื่นใจ...........................รินหลั่งไล้ โลกา เลิศสุนทรีย์


    ก่อนที่จะ เก่งกล้า ความสามารถ.........................(เด็ก)ต้องมุ่งมาด วัฒนา วิชาศรี

เพียรอดทน ฝนฝึก ตรึกวิธี..............................ไม่ใช่ดู อยู่ดีๆ (ก็)ปรีชาชาญ

 

    พิสดาร อาหารปรุง มุ่งประสงค์...........................จะยังคง อย่ามองข้าม กรรมพื้นฐาน

คือเก็บฟืน ก่อไฟ ให้พร้อมพาน.......................เป็นคำขาน อุปมา อุปไมย


    เปรียบกับ ป ฏิบัติ อริยสัจ๔...............................เริ่มต้นจาก ทำความดี มิสาไถย(ไม่ทำชั่ว)*

ลด-ละ-เลิก มลทิน สิ้นจากใจ..........................สะอาดใส บริสุทธิ์ ชุติมา

 

    ต้องให้ความ สำคัญ สังสารเหตุ.........................คือการมี กิเลส และตัณหา

ความยึดมั่น ถือมั่น นันทนา.............................ในอัตตา โดดเด่น เห็นแก่ตน

 

    จงยึดถือ ความซื่อสัตย์ สุจริต.............................สืบสถิต วิญญู ธรรมกุศล

ก่อนที่จะ เร่งรุด ความหลุดพ้น.........................หยุดวัฏวน เวียนว่าย ตายเกิดเป็น


    ก่อนที่จะ พิชิต อวิชชา......................................(ต้อง)มีสัมมา ความคิด ทิฏฐิเห็น**

หากยังโง่ งมงาย ชั่วร้ายเจน............................ทำเป็นเล่น (ทำตัว)ไร้สาระ อย่าหมายปอง


    ยังหลอกลวง ผู้อื่น บริโภค................................ความพยายาม พ้นโลก ย่อมบกพร่อง

อยากหรรษา สุขี มีเงินทองฯลฯ.......................ย่อมมัวหมอง มืดมน มรรคหนทาง


    ฟังผู้คน เทศนา อริยสัจ(๔)...............................มองให้ชัด (เขา)ปฏิบัติ(ตัว)เป็น เช่นไรบ้าง?

เพราะส่วนใหญ่ พูดอย่าง แต่ทำอย่าง...............ไม่กระจ่าง ความจริง กลิ้งกลอกเอยฯ


๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔


*

โอวาทปาติโมกข์ 

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.



**

มรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ” ; องค์ 8 ของมรรค  มีดังนี้
       1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ (ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท)
       2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ (ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป )
       3. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ (ได้แก่ วจีสุจริต 4 )
       4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ (ได้แก่ กายสุจริต 3)
       5. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ (ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)
       6. สัมมาวายามะ คือ ความพยายามชอบ (ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4 )
       7. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ (ได้แก่ สติปัฏฐาน 4)
       8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งจิตมั่นชอบ (ได้แก่ ฌาน 4)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น