ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

เรื่องนิพพาน มันล้าสมัย? : กลอนคติเตือนใจ




เรื่องนิพพาน มันล้าสมัย? : กลอนคติเตือนใจ

    พุทธะสาง ทางสิ้นวัฏ (ฏะ)สงสาร....................................มุ่งเป้าหมาย นิพพาน อันสุขสันติ์

(โดย)หยุดเวียนว่าย ตายเกิด=ประเสริฐธรรม์.....................จึงพ้นทุกข์=สุขอัศจรรย์ นิรันดร


    มีพระ(บางคน)เลี่ยง เถียงรัน การ(เวียนว่าย)ตายเกิด..........(จึง)เน้นแต่เรื่อง "ทุกข์"เถิด เฉิดฉายสอน

มุ่ง"พ้นทุกข์" สุขล่า เฝ้าอาวรณ์........................................ถูกจริต จิตสลอน (พวกที่เรียกตัวเองว่า)ปัญญาชน


    เปลี่ยนเป็น(หลัก)"จิต วิทยา" ประสาพุทธ.........................วัฏสง สารหลุด(พ้น) หยุดคิดค้น

คอยคะนึง ถึง(แค่)ชาตินี้ ปีติกมล......................................เหมือนไม่สน (ว่าแท้จริงแล้ว)พุทธศาสนา สอนอะไร?

 

    พระบางคน สนใจ แส่ไสยศาสตร์.....................................ฉวยโอกาส ที่คน(ส่วนใหญ่)โลภ ละโมบใคร่

อยากจะรวย รวยย้ำ อยู่ร่ำไป............................................โดยมิต้อง ทำ(งาน)อะไร ไม่พยายาม(อุตสาหะ)


    หลอกคนโง่ งมงาย ด้วยไสยศาสตร์.................................หาเงินง่าย ไม่ขาด ปราศคำถาม

ต่างกับการ สอน(ให้)รู้แจ้ง แสดงความ..............................ช่างสงสัย ใคร่ถาม จนรำคาญ

 

    (ปล่อยตาม)แล้วแต่คน จนใจ ในเจตจริต...........................เดี๋ยวจะหา ว่า"เป็นสิทธิ์ -อิสระ"ขาน

ปล่อยให้เชื่อ ให้กระทำ ตามสันดาน..................................อยากเร่งรีบ นิพพาน(ที่นี่-เดี๋ยวนี้) ปล่อยมันไป

 

    (หาก)เลิกใส่ใจ ในศีลธรรม กรรมสะอาด(สุจริตกรรม)..........เรื่องภพชาติ ศาสนาฯลฯ มันล้าสมัย

มี-ไม่มี จิต-วิญญาณ? (ค้นคว้า)ยากบรรลัย.........................(เอาแค่)เรื่องสุข-ทุกข์ ผูกใจ พูดง่ายดี


    (แล้ว)พระจะมี วินัย (ให้ลำบาก)ทำไมเล่า?........................เสพกามเข้า เร้าใจ (สุข)สบายวิถี

เรื่องบาปบุญ คุณโทษฯลฯ หมดวาที.................................กตัญญู กตเวที ฯลฯ มีไหมเอย?


๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

๗. คัททูลพัทธสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยสุนัขถูกล่าม
[๙๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้
มีเบื้องต้นเบื้องปลายที่ใครๆ รู้ไม่ได้ เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไป
             มหาสมุทรยังมีเวลาเหือดแห้งไป มีอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มิได้กล่าวว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปอยู่
จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
             ขุนเขาสิเนรุยังมีเวลาถูกไฟเผาพินาศไป มีอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มิได้กล่าวว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว
ไปอยู่ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
......
             ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ... ได้รับการ
แนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ... ไม่
พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ...
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ อริยสาวก
นั้นไม่แล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ไม่แล่นวนเวียน
อยู่กับวิญญาณ เมื่อเธอไม่แล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
ไม่แล่นวนเวียนอยู่กับวิญญาณ ย่อมพ้นจากรูป ย่อมพ้นจากเวทนา ย่อมพ้นจาก
สัญญา ย่อมพ้นจากสังขาร ย่อมพ้นจากวิญญาณ เรากล่าวว่า ‘ย่อมพ้นจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และย่อมพ้นจากทุกข์”
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)


อริยสัจจ์ 4 (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ)
       1. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์)
       2. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา)
       3. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน)
       4. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

       อริยสัจจ์ 4 นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กาม 2 (ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา)
       1. กิเลสกาม (กิเลสที่ทำให้ใคร่, ความอยากที่เป็นตัวกิเลส)
       2. วัตถุกาม (วัตถุอันน่าใคร่, สิ่งที่น่าปรารถนา, สิ่งที่อยากได้, กามคุณ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น