ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกว่าหมื่นคนประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ"


บรรดานักวิทยาศาสตร์จาก 153 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 11,000 คน ร่วมกันลงนามสนับสนุนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด รวมทั้งออกแถลงการณ์ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ" (Climate emergency)
เหล่านักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขาวิชาชี้ว่า มนุษยชาติจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากชนิดที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมนี้ได้ หากผู้คนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก หรือละเลิกกิจกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างถอนรากถอนโคนแบบถาวร
รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับดังกล่าว ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience เป็นที่มาของการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศในครั้งนี้ โดยรายงานได้รวบรวมข้อมูลการวิจัยที่ยาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งครอบคลุมตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางและหลากหลาย ตั้งแต่อัตราการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล, ปริมาณการบริโภคเนื้อ, อัตราการเจริญพันธุ์และการเติบโตของประชากรโลก, อัตราการแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า, ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลก อัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว
ดร. โทมัส นิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย หนึ่งในแกนนำของกลุ่มผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศบอกว่า "นักวิทยาศาสตร์มีความรับผิดชอบทางศีลธรรม ในแง่ที่จะต้องเป็นผู้ออกมากระตุ้นเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวง"
"จากข้อมูลที่เรามีอยู่นั้น ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอกันมาอย่างมาก เช่นบางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป" ดร. นิวซัมกล่าว
รายงานฉบับนี้มีจุดประสงค์ในการนำเสนอข้อมูลที่เห็นภาพชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และสาธารณชน ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ภัยด้านสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกขณะ แต่กลับถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมานานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ระบุในรายงานข้างต้นด้วยว่า มีมาตรการ 6 ด้านที่ผู้คนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เพื่อชะลอและหยุดยั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
1) ด้านพลังงาน ควรใช้นโยบายอนุรักษ์แหล่งพลังงานและประหยัดพลังงานในระดับมหภาค ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล คิดค่าการปล่อยคาร์บอนให้สูงพอที่ธุรกิจต่าง ๆ จะหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
2) ด้านสารก่อมลพิษระยะสั้น ควรลดการใช้และปล่อยมีเทน, สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, รวมทั้งเขม่าควันต่าง ๆ เนื่องจากอาจจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าลงได้ถึง 50%
3) ด้านธรรมชาติ ควรหยุดยั้งการแผ้วถางพื้นที่ป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเช่นป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าโกงกาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก
4) ด้านอาหาร ควรบริโภคพืชผักให้มากขึ้นและลดผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ลง ซึ่งจะช่วยตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ รวมทั้งลดการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ด้วย
5) ด้านเศรษฐกิจ ควรยกเลิกแผนการที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เปลี่ยนทิศทางนโยบายที่มุ่งแสวงหาแต่ความมั่งคั่งและเพิ่มตัวเลขจีดีพีด้วยการทำลายทรัพยากร มาเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของ "ชีวมณฑล" ในระยะยาวแทน
6) ด้านประชากร ควรจำกัดจำนวนประชากรโลกให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสม โดยใช้วิธีการที่มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนคนต่อวัน
https://www.bbc.com/thai/international-50315620
๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น