ในช่วงปี 2030 ทะเลอาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะไม่มีน้ำแข็งอีกต่อไปในช่วงฤดูร้อน
นักวิทย์เผย ในช่วงปี 2030 ทะเลอาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะไม่มีน้ำแข็งอีกต่อไปในช่วงฤดูร้อน
นักวิทยาศาสตร์ออกมาเปิดเผยผลการวิจัยใหม่ซึ่งระบุว่า ในช่วงปี 2030 ที่จะถึงนี้ ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงถึงขั้นว่า ทะเลอาร์กติก หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะไม่มีน้ำแข็งอีกต่อไปในช่วงฤดูร้อน และเตือนว่า โลกจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับรับมือสภาพอากาศสุดขั้วที่จะเพิ่มขึ้นทั่วบริเวณซีกโลกเหนือ
การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างรวดเร็ว อาร์กติกจะปลอดน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน (เดือนกันยายน) ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
แต่หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างช้า ๆ หรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฤดูร้อนที่ปราศจากน้ำแข็งของอาร์กติกอาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2030 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนถึง 10 ปี
การวิจัยแสดงให้เห็นว่า 90% ของการที่น้ำแข็งหลอมละลายเป็นผลมาจากความร้อนของโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
นับตั้งแต่การสำรวจข้อมูลด้วยดาวเทียมเริ่มขึ้นในปี 1979 พบว่า น้ำแข็งอาร์กติกในช่วงฤดูร้อนหดตัวลงไป 13% ทุกทศวรรษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของวิกฤตสภาพอากาศ
ศ.เดิร์ก นอตซ์ จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “น่าเสียดายที่มันสายเกินไปแล้วที่จะรักษาน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกช่วงฤดูร้อนเอาไว้ได้”
เขาเสริมว่า “ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เราได้เตือนเกี่ยวกับการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลในฤดูร้อนของอาร์กติกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว นี่คือองค์ประกอบหลักอันดับแรกของระบบโลกที่เรากำลังจะสูญเสียไปเพราะภาวะโลกร้อน แต่ผู้คนไม่ฟังคำเตือนของเรา”
ด้านศาสตราจารย์ มิน ซึงกิ จากมหาวิทยาลัยโพฮัง ประเทศเกาหลีใต้ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “ผลกระทบที่สำคัญที่สุดสำหรับสังคมมนุษย์คือการเพิ่มขึ้นของสภาพอากาศสุดขั้วที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่า และน้ำท่วม เราจำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น และเตรียมปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อนในอาร์กติกที่เร็วขึ้นและผลกระทบต่อสังคมมนุษย์และระบบนิเวศ”
ในการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้น้ำแข็งละลายมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของความเข้มของดวงอาทิตย์และการปล่อยก๊าซจากภูเขาไฟ
“ต้องโทษมนุษย์จริง ๆ ว่าเป็นต้นเหตุของการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกเกือบทั้งหมดจากที่เราเฝ้าสังเกตการณ์” นอตซ์กล่าว
ทั้งนี้ นักวิมจัยไม่สามารถระบุปีที่ชัดเจนได้ว่า ฤดูร้อนแรกที่อาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งคือปีใด เนื่องจากความแปรปรวนตามธรรมชาติในระบบภูมิอากาศ
การละลายเร็วขึ้นของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะทำให้เกิดวงจรความร้อนในมหาสมุทร เพราะเมื่อน้ำแข็งละลาย มหาสมุทรจะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ผลที่ตามมาคืออุณหภูมิในอาร์กติกจะร้อนเร็วขึ้น และนักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานว่า สิ่งนี้จะทำให้กระแสลมกรด (Jet Stream) อ่อนกำลังลง และนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย
คลื่นความร้อนที่แผดเผาในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในปี 2021 และอุทกภัยครั้งใหญ่ในปากีสถานในปี 2022 เป็นลักษณะของภัยพิบัติที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากกระแสลดกรดที่อ่อนลง
มิน ซึงกิ กล่าวว่า ความร้อนในอาร์กติกที่เร็วขึ้นยังเร่งการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงเร่งการละลายของพื้นที่เพอร์มาฟรอสต์
(https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/198146)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น