ตามกระแส-ทวนกระแส : กลอนคติสอนใจ
๏ การทำมา หากิน ต้องดิ้นรน.............................ตั้งกมล ทนทำ ตามกระแส
จับตา สถานการณ์ ผันผวนแปร........................แน่วแน่ แก้ล่วง ทันท่วงที
๏ จับกระแส แฟชั่น อย่างมั่นเหมาะ.....................สืบเสาะ เจาะใจ อย่าหน่ายหนี
(จึง)จะร่ำรวย เงินทอง คล่องขายดี...................เป็นอยู่ สุขี ชีวันแล
๏ แต่เรื่อง ทำดี มีศีลสัตย์...................................(จง)ยืนหยัด อย่าเรรวน ทวนกระแส
ใครจะชั่ว ก็ช่าง ยับยั้งแด................................แน่วแน่ จิตใจ ใฝ่หลักธรรม
๏ ค้าขาย ให้ทำ ตาม(ใจ)คนซื้อ..........................(เพราะ)เขาคือ คนชุบ อุปถัมภ์
(แต่)การกระทำ ต้องคำนึง ถึงกฎ(แห่ง)กรรม......ที่ครอบงำ โลกา ชีวาไกร
๏ ค้าขาย อย่าได้ผุด ทุจริต.................................สิ่งผิด ศีลธรรม อย่าตามไพล่
ฉาบฉวย รวยร่ำ ไปทำไม?...............................ถ้าต้อง ตามไป ชดใช้กรรม
๏ ความสุข จากกรรม กระทำเข็ญ........................ก่อเวร เป็นบาป ให้หลาบ(จำ)ล้ำ
แม้ใคร ชักชวน มิควรทำ.................................เรื่องผิด ศีลธรรม อย่าจำนน
๏ (ทำ)สิ่งที่ ดีทวย ร่ำรวยได้...............................ทำให้ ได้ดี มั่งมีผล
ความมี ศีลธรรม ทำให้คน.................................เอ่อล้น ท้นสุขี นิรามัย
๏ (การ)เกิดแก่ เจ็บตาย ไป่สิ้นสุด.......................ประดุจ คงคา ชลาไหล
ก่อเวร ก่อกรรม (ต้อง)ตามชดใช้......................ขอให้ ใคร่คิด พินิจเทอญฯ
๒๕ มกราคม ๒๕๖๗
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
กรรมสูตรที่ ๑ [๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่ง กรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อๆ ไป (อปราปรเวทนียะ) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์ แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ในข้อนั้น ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจ เป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่ง การงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก ฯ
...........
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่ สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแล ย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อๆ ไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่ สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อม มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจ เป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ฯ.....ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น