วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566

โลกนี้มิใช่ของเรา : กลอนคติเตือนใจ





โลกนี้มิใช่ของเรา : กลอนคติเตือนใจ


    โลกนี้ มิใช่ ของเรา...................................อย่าเอา แต่ใจ ใฝ่ประสงค์

(มี)กฎเกณฑ์ เวรกรรม ดำรง.......................มั่นคง ธรรมชาติ ปัจจัย(บงการ)ฯลฯ


    สรรพสิ่ง แวดล้อม พร้อมด้วย.....................เหตุนำ อำนวย ป่วยไข้ฯลฯ

ยิ่งคน โลภมาก เท่าไร...............................(ยิ่งมีความ)อยากไม่ สิ้นสุด จุดชนวน(ปัญหา)

 

    ไม่ว่า (สภาพ)อากาศ เศรษฐกิจฯลฯ...........(ต่าง)วิปริต แปรปั่น(ป่วน) ผันผวน

โลกทัศน์ พัดเพ เรรวน...............................เจียนจวน แตกแยก แปลกปาน


    (ชีวิต)เป็นอยู่ อย่างไร ไม่วิตก(กังวล)?........กลุ้มอก กลุ้มใจ ไร้(สะทก)สะท้าน

(คงต้อง)ปรับใจ ไปตาม สถานการณ์............พยายาม ทำงาน(หน้าที่ให้ดีที่สุด) ฟันฝ่าไป


    (จำไว้ว่า)โลกนี้ มิใช่ ของเรา......................แค่เรา เข้ามา(เกิดมา) อาศัย

รับผล ของ(เวร)กรรม ที่(เคย)ทำไว้..............และสร้าง กรรมใหม่ ให้เวียนวน(สนอง)


    สิ่งที่ มิสม อารมณ์คิด................................(หรือ)เลิศล้ำ สัมฤทธิ์ ผลิตผล

ล้วนมี(ปัจจัย) สิ่งเอื้อ นอกเหนือตน.............มหาศาล ดาลดล กลไก

 

    จะเอา มาสุข ทุกข์สร้าง.............................อวดอ้าง(เป็นฝีมือตน) ทั้งมวล หาควรไม่

ผู้รู้ คิดขบ (ย่อม)สงบใจ..............................ปล่อยวาง ช่างปะไร ในโลกีย์

 

    เว้น-หลาบ บาปธรรม ทั้งมวล.....................ขวายขวน กุศล กมลศรี

(ขัดเกลา)ทำใจ ให้สะอาด สวัสดี.................สุจริต จิตมี ปรีชา


    (อะไร)จะเป็น(ไป) ยังไง ก็ช่าง...................ลอยตัว เหนือ-ห่าง (พ้น)ปัญหา

(คนเรา)ควบคุม อะไรได้? ในโลกา*..............(เหมือนมี)ดินฟ้า (ควบ)คุมหมด ปรากฏเอยฯ


๒๐ เมษายน ๒๕๖๖


*วิถีชีวิต ร่างกาย จิตใจ สติปัญญาฯลฯของเราเอง ยังคาดเดาได้ยาก-ควบคุมลำบาก

จะกล่าวไปใยกับการกำหนดสถานการณ์นอกตัว.


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

โลกวิปัตติสูตร
[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวก ผู้ได้สดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไร เป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ
........ฯลฯ.........
                          ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
                          ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
                          เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
                          แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว
                          พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่า
                          ปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่อ
                          อนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลือ
                          อยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความ
                          เศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น