วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

การหลุดพ้น : กลอนคติธรรม



การหลุดพ้น : กลอนคติธรรม

    ล้วนแต่คน มีดวงตา (มา)ศึกษาธรรม......................."เกิดดวงตา เห็นธรรม" ทำไฉน?

ปฏิบัติ จนแก่เฒ่า ว่าเข้าใจ(ธรรม)..........................แต่เหตุใด มีกิเลส ล้นเจตนา?


    (เพราะ)น้อยคนนัก จักคล้อยตาม ธรรมวินัย..............น้อมฤทัย ให้งาม ตามสิกขา

(ไม่)ประพฤติดี อริยสัจ ตามศาสดา........................มือถือสาก ปากคาบตำรา ประสบการณ์(ที่เคยเห็น)

 

    (เมื่อรู้)เห็นวิถี ชีวัน อันถูกต้อง(ไตรลักษณ์)..............ความไม่เที่ยง(แท้)-ทุกข์ข้อง กองสังขาร

สรรพสิ่ง หาใช่ตน-ของตนปาน..............................เบื่อ(หน่าย)ทะเยอ ทะยาน ตัณหามี


    ราคะ-โลภ-ร้าย-หลง ทรงกระมล.............................เป็นบ่อเกิด อกุศล ต้น(เหตุกรรม)บัดสี

ประจักษ์แจ้ง จนจิตใจ เลิกใยดี..............................คือประตู สู่วิถี นิรามัย(นิรามัย=เป็นสุข)

 

    สละความ กระหาย ในรูป-รส..................................กลิ่น-เสียง-สัม ผัสหมดจด ปลดฝันใฝ่(กามตัณหา)

(แม้)ลาภ-ยศ-สรร เสริญมี บ่ดีใจ(ไม่ยินดี)................ยามเสื่อมสิ้น มิยินร้าย อยาก(ให้)ไม่เป็น(วิภวตัณหา)

 

    อยู่ในความ สงบ ประสบสันติ์.................................ดวงฤดี มิไหวหวั่น สั่นคลอนเร้น

ดั่งศิลา สิงขร มิอ่อนเอน........................................ตามแรงลม อุดมเด่น เป็นนิรันดร์


    ฤทัยที่ มิอาลัย ในสรรพสิ่ง....................................จะสงบนิ่ง แน่วแน่ บ่แปรผัน

ย่อมหลุดพ้น โลกา ณ ปัจจุบัน................................มิตองรอ อาสัญ หลังวันวาย


    มีชีวิต (แต่)ไม่ติดใจ ในชีวิต...................................มีความคิด (แต่)ไม่คิดทำ (ชั่ว)ทรามขวนขวาย

มีความรู้ (แต่)ยังใฝ่รู้ บ่ดูดาย...................................มีเวลา (แต่)ละเมามาย ในชีพชนม์


    บ่มีผู้ ตกต่ำ เพราะ(ปฏิบัติตาม)ธรรมวินัย..................บ่มีความ ล้าสมัย ในมรรคผล

บ่มีใคร ไร้อนาคต เพราะอดทน................................บ่พิสุทธิ์ หลุดพ้น ในคนพาลฯ


๙ กันยายน ๒๕๖๔


*พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๖. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ 

เรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ

             (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
             [๘๑] ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
                     บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ ฉันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น