วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ทางสายกลาง : กลอนคติธรรม



ทางสายกลาง : กลอนคติธรรม

    ได้คืบ จะเอาศอก.............................คล้ายหวังดอก รอออกผล
คือจริต นิสัยคน...............................ที่กระมล ล้นใคร่กาม*

    อยากได้ ให้ยิ่งขึ้น.............................เมามึนฤดี มิหักห้าม
ราคะ ตะกละตะกลาม........................ปกติประจำ ความเป็นคน

    กามคุณ** หมกมุ่นมัก........................วิถีหลัก กามภพ***หน
หากหมาย ใคร่หลุดพ้น......................ต้องฝึกฝน โค่นกามคุณฯลฯ

    โลกธรรม ยังสำราญ..........................ยศ-สักการ มานวายวุ่น
เงินทอง ปองกักตุน...........................ย่อมเวียนหมุน มาเกิดเป็น

    ยึดวิถี ปฏิบัติ...................................พิกลวัตร ประหลาดเห็น
กำหนด ข้อกฎเกณฑ์.........................แปลกพิเรนทร์ บำเพ็ญเพียร

    คือความ หลงมัวเมา..........................ยังโง่เขลา เนาเนื่องเศียร
เลือนลาง ทางแปลงเปลี่ยน.................หยุดเวียนว่าย ตาย-เกิดมี

    แค่ทาง สายกลาง(เท่า)นั้น..................ผู้มุ่งมั่น อริยสัจ๔
ปฏิบัติ ถูกวิธี.....................................แลยินดี พุทธิมรรค

    สะสาง ทางสายทราม.........................เพียรพยายาม ข้ามภพผลัก
ถ้าประสงค์ จำนงรัก............................(หลุด)พ้นวัฏจักร สงสารเอยฯ

๒ มิถุนายน ๒๕๖๒

*กาม, กาม-=ความใคร่, ความปรารถนา, ความใคร่ทางเมถุน
**กามคุณ=สิ่งที่น่าปรารถนา ๕ ประการ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส,ความปรารถนาในกาม
***กามภพ=ที่เกิดของผู้ที่ยังข้องเกี่ยวอยู่ในกาม, โลกที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม
ได้แก่ อบายภูมิ ๔ (นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตวิสัยภูมิ อสุรกายภูมิ) มนุษยโลก ๑ และสวรรค์ ๖ ชั้น (จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี ปรนิมมิตวสวัตดี) รวมเป็น ๑๑, กามภูมิ หรือกามธาตุ ก็ว่า
****มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง  หมายถึง การไม่ยึดถือทางปฏิบัติ ทั้ง 2 ได้แก่ 
กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกาม
อัตตกิลมถานุโยค คือ การทำตนเองให้ลำบากทรมาน
พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางนี้ไว้ชัดเจน คือ อริยมรรค๘ โดยย่อแล้วคือ "ไตรสิกขา" ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น