วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความผิดกับการคิดอภัย : กลอนเปล่า



ความผิดกับการคิดอภัย : กลอนเปล่า

    เรารับรู้สิ่งที่คนอื่นทำ
เราตีความเพื่อค้นหาสิ่งที่คนอื่นคิด
เราตัดสินความถูก/ผิด
บนพื้นฐานความคิด-นิสัย-จิตใจของตัวเรา

    หากขาดซึ่งความรู้จักมักคุ้น
การใช้ดุลยพินิจของเรา เอาไปพิจารณาคนอื่น
ย่อมปราศสุจริตกรรมอันงามชื่น
เมื่อไม่รู้(จัก)จึงอย่าสู่ยื่น
หน้าไปหาบาปมาสาปตน

    ความเข้าใจผิด
เป็นสาเหตุให้ทำผิดอย่างมากท้น
โดยเฉพาะกับคน
ที่ยังวนอยู่กับการฟังความเพียงข้างเดียว
ความเป็นคนหูเบา ความโง่เขลาอย่างแน่นเหนียว
อีกทั้งความลำเอียงเทียว
ที่ขับเคี่ยวหัวใจให้ใฝ่เบียดเบียน

    เมื่อเกิดการกระทำผิด
ไม่ยากเลยสักนิด ที่จะคิดอภัยให้แก่ตัวเอง
แต่กับการอภัยให้คนอื่น
เกรงว่ายากจักฝืน
สักกี่คนที่พยายามกล้ำกลืน
และสักกี่คนที่แช่มชื่น
ระรื่นกับการให้อภัยทาน

    ความผิดของตนยากยลเห็น
แต่ถ้าหากเป็นความผิดของคนอื่นนั้น
ช่างชัดเด่นเช่นภูผา ขยายใหญ่มหาศาล
ความสำนึกผิด-ยอมรับผิดอย่างไม่คิดรำคาญ
เป็นเสมือนเครื่องชี้วัด
ความพัฒนาแห่งกมลสันดาน
ว่าใครเป็นเมธี
หรือเป็นเพียงธุลีพาล สามานย์ชน ฯ

๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น