ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กลอนรัก : น้อยใจ...น้องไม่แจ้ง..หรือแล้งรัก ?

                             
                             

กลอนรัก : น้อยใจ...น้องไม่แจ้ง..หรือแล้งรัก ?


      แรมแปดค่ำ เดือนร่ำลา            อีกสัปดาห์ จะมืดมิด
เตือนเห็น เป็นอาทิตย์                    แต่ขวัญจิต มิคิดเตือน

      เหมันต์ หวนหันมา                  หนาวกายา พระพายเยือน
หนาวคั่น ฝนฟั่นเฟือน                    ยังเตือนมั่น ใยขวัญเมิน

      รวงข้าว แก่ใกล้เกี่ยว               เริ่มแห้งเหี่ยว เรียวรวงเหิน
เดือนหน้า มิช้าเชิญ                      ชาวนาเพลิน เกินเกี่ยวทัน

      จอมใจ ใยมิแจ้ง                     จึงจำแลง แผลงลับผลัน
พี่เฝ้า เจ้าทุกวัน                           มิเห็นขวัญ ใจปานวาย

      น้อยใจ อาลัยรัก                    น้องมิพัก มักห่างหาย
ปล่อยพี่ นี้เดียวดาย                      หรือโฉมฉาย ไม่รักราว ?

      มองดาว กลางหาวโหย           ใจลอยโรย จนโหยหาว
ขวัญใจ อยู่ไหนดาว ?                   รอรักเฝ้า แสนเศร้าเอย ฯ

                                               ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

ครรลอง ของ " คู่รัก " ( นิยาม ของ คู่รัก )



ครรลองของ" คู่รัก "(นิยามของคู่รัก)

คู่รัก..
หมายถึง คน ๒ คน ที่รักใคร่กัน ฉันชู้สาว..
ชู้สาว..ไม่ใช่..ชู้รัก...
เป็นการอธิบาย ตามหลักการใช้ภาษาไทย...
เพราะไม่อาจใช่ คำว่า รักระหว่าง ชายหญิง...
ซึ่งจะเป็นคำจำกัดความที่คับแคบเกินไป..ในปัจจุบัน

นอกจากจะมิได้หมายถึง " ชู้รัก " และยังไม่รวมถึง " กิ๊ก-กั๊ก "ด้วย
เพราะไม่ชอบด้วยหลักศีลธรรมอันดีงาม...

ครรลองของ" คู่รัก " มีอย่างไร...

๑.เป็นคู่รัก
      คู่รัก...ย่อมรักกัน.เพียงคู่เดียว..ในเวลาเดียว...
      มีความรัก..ความใคร่..ความพึงพอใจ...ความปรารถนาซึ่งกันและกัน....
      ต้องการ..ใฝ่ปอง..ที่จะอยู่คู่เคียงกัน...
      ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน...แบ่งปันชีวิตเพื่อกันและกัน...
      ผูกพันกันด้วยความคิด...จิตใจ...ความรู้สึก..และอารมณ์รัก....
      มีสายใยแห่งความสัมพันธ์ต่อกัน...ทั้งสองฝ่าย...
      มิใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง....เพียงฝ่ายเดียว
      ย่อมต้องการความเอาใจใส่..ความสนใจใยดี...ความเอื้ออาทรต่อกัน...อย่างตั้งจิตตั้งใจ
      แม้สมองจะไม่ได้คิด..แต่จิตใจยังคงผูกพัน...อย่างแน่นเหนียว...ตลอดเวลา

๒.เป็นคู่ชีวิต
      ทั้งสองต้องใช้ชีวิตคู่...ร่วมกัน...
      อย่างสอดคล้องประสานกัน....
      ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่...ต่างใช้ชีวิตเป็นอิสระ..ไม่เกี่ยวข้องกัน
      ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำอะไรตามอำเภอใจ...โดยไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่าย....
      อย่างนั้น...ไม่ใช่ " คู่รัก "

๓.เป็นเนื้อคู่กัน
      คือเกิดมาเพื่อเป็นคู่ชีวิตกัน...
      เป็นคู่รัก...คู่คิด...คู่ครอง...คู่เคียง....
      เป็นคู่บุญ....คู่สร้างคู่สม....
      เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก....ร่วมเป็นร่วมตาย....
      ไม่ทอดทิ้งกัน..ทั้งในยามสุขและในยามทุกข์....ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน...
       แต่มิใช่ว่าต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา...
       มิใช่ว่า ต้องไปไหนมาไหนด้วยกันทุกหนทุกแห่ง.....

๔.เป็นของกันและกัน
      เป็นโดยบทบาท....
      เป็นโดยสถานภาพ.....
      เป็นโดยสภาวะของคนที่เป็น " คู่รัก " กัน....
      มิใช่โดยสถานะของความเป็นวัตถุ....
      มิใช่โดยสภาพความเป็นสิ่งของ....
      และมิใช่โดยสภาวะความเป็นสัตว์เลี้ยง...

๕.ผูกพันกัน
      คู่รัก..ย่อมต้องเอาใจใส่ต่อกัน....
      ทั้งความเป็นอยู่...การงาน...อารมณ์...ความรู้สึก....สุขภาพ...ชีวิต....ฯลฯ
      มิใช่ " ผูกมัด "กัน...จนไร้อิสระโดยสิ้นเชิง...
      มิใช่ " ผูกรัด "กัน...จนหมดสิ้นความเป็นตัวของตัวเอง....
      มิใช่ " ผูกติด "กัน...ไปทุกหนแห่ง....
      มิใช่ " ผูกยึด "กัน.....ไม่ให้คลาดสายตา...

๖.เกื้อกูลกัน
      ด้วยความคิดที่จะต้องใส่ใจ..ดูแล...ปกปักรักษา...ซึ่งกันและกัน...
      ให้การอุดหนุนจุนเจือ...เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่..แก่กัน...
      ส่งเสริม...สนับสนุนกัน...ให้ประสบความเจริญก้าวหน้า...
      ทั้งด้านสุขภาพ..สติปัญญา..ความคิด...อารมณ์....
      และหน้าที่การงาน...ให้ประสบความสำเร็จสมหวัง....
      ช่วยเหลือกัน...สนับสนุนกัน...ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต...
      แบ่งเบาภาระของกันและกัน....
      เป็นที่พึ่งพาอาศัยกันได้....ทุกเวลา..ทุกสถานที่..ทุกโอกาส....

๗.คู่ครองกัน
      ในความหมายของการดูแล..ปกปักรักษา..ซึ่งกันและกัน....
      ประคับประคองกันด้วยความเอื้ออาทร....
      มิใช่การ "ครอบครอง" กัน...อันแสดงถึงการยึดถือ..ควบคุม....
      มิใช่การ"ปกครอง"..ที่อีกฝ่ายแสดงความเป็นใหญ่กว่า...เหนือกว่า...มีอำนาจมากกว่า....

๘.กลมเกลียวกัน
      พร้อมเพรียงกัน...ร่วมมือร่วมใจกัน...พร้อมใจกัน....
      สอดคล้องประสานสัมพันธ์กัน....
      สามัคคีมิแตกแยก....
      แม้จะมีความแตกต่างทางความคิดก็ตาม
      ย่อมต้องหาข้อยุติที่ลงตัว...
      ก่อนจะมีการแสดงออกซึ่งแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

๙.ห่วงใยกัน
      ด้วยความผูกพันกันทางร่างกายและจิตใจ
      พะวงถึงกัน...ในด้านความเป็นอยู่...สุขภาพ..งานการ...อารมณ์ความรู้สึก...ชีวิต...
      กังวลต่อกัน...ในสวัสดิภาพความปลอดภัย....
      มิใชการ "หวงแหน "กันเพื่อกีดกันให้ออกห่างจากบุคคลอื่น...
      มิใช่การ " หึงหวง "กัน...อย่างไม่เลือกกาลเทศะ
      แม้อาจมีการแสดงออกซึ่งความหึงหวง-หวงแหนกันบ้าง
      เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความผูกพันทางจิตใจที่มีต่อกัน....ตามสมควร

๑๐.แบ่งปันกัน
      ในทรัพยากรทั้งหมดทั้งสิ้นที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่...
      ทั้งทรัพย์สิน..เงินทอง...สิ่งของเครื่องใช้....ที่อยู่อาศัย...เวลา...
      ตลอดจนถึงพละกำลัง...กำลังความคิด...สติปัญญา..
      ความรู้...ทักษะ...
      และอาจรวมไปจนถึงอวัยวะและชีวิต...อย่างมิได้หวงแหน....

๑๑.เท่าเทียมกัน
      ด้วยความเสมอภาคของคุณค่าความเป็นคน....
      คุณค่าของชีวิตที่มิได้แตกต่าง...ห่างชั้นกัน...
      ความสำคัญของความเป็นคนรัก...ที่มิได้มาก / น้อยไปกว่ากัน...
      แต่มิใช่ความเท่าเทียมกัน ในความคุณสมบัติส่วนตัว...
      มิใช่ความเสมอภาคกัน ในด้านศีลธรรม....คุณธรรม...จริยธรรม
      มิใช่ความทัดเทียมกัน ในความแข็งแรงของสุขภาพกาย..สุขภาพจิต...

๑๒.ไว้เนื้อเชื่อใจกัน
      คู่รัก..ย่อมต้องไว้วางใจกันได้...
      เชื่อถือ..เชื่อใจ..ในนิสัยใจคอ...จิตใจ....
      เชื่อมั่นในการตัดสินใจของอีกฝ่าย....
      ไม่หวาดระแวง..คลางแคลงใจต่อกัน....
      ไม่สงสัยกัน....
      ทั้งนี้..ย่อมต้องขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ของสำนึกความรับผิดชอบ...
      ต่อพฤติกรรมและบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน...

๑๓.จริงใจต่อกัน
      คู่รัก...ต้องบริสุทธิ์ใจต่อกัน.....
      มีความซื่อสัตย์สุจริต...อย่างเที่ยงแท้...แน่นอน...มิผันแปร....
      รักษาศีลธรรมอันดีงามต่อกัน....อย่างไม่มีวันละเมิด...
      ไม่โกหก...ไม่หลอกลวง....เสแสร้ง....
      ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม....มารยา...
      ไม่มีจิตใจที่ฉ้อแล...คด...โกง...เจ้าเล่ห์เพทุบาย...ต่อกัน

๑๔.นับถือกัน
      เคารพต่อความเป็นคู่ครอง..ผู้เสมอกันโดยสถานภาพ
      ย่องย่องกัน....ในความเป็นคู่คิด....
      นับถือกัน......ในความเป็นคนรัก....
      ให้เกียรติกัน .....ในฐานะผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์....
      ให้ความสำคัญต่อกัน.....ในสภาวะของความเป็น " คู่ชีวิต "

๑๕.เป็นมิตรกัน
      มีไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย....
      รักใคร่กันอย่างสนิทสนมคุ้นเคย....
      เป็นเพื่อนคู่คิด...เพื่อนชีวิต...คู่ทุกข์คู่ยาก....
      ปรารถนาดีต่อกันอย่างไม่มีวันหมดสิ้น... 
      ดูแลกันอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย....
      เอาใจใส่ต่อกันอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย....

๑๖.ปรองดองกัน
      ใช้ชีวิตร่วมกัน...ใช้เวลาร่วมกัน...
      ใช้ทรัพยากรที่มีทั้งหมดทั้งสิ้นร่วมกัน....
      อย่างชอบธรรม...ประนีประนอม...
      ถ้อยทีถ้อยอาศัย..ต่อกันด้วยไมตรีจิต...
      ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้แก่กันและกัน...โดยไม่ตั้งข้อแม้และเงื่อนไข....
      ไม่แก่งแย่งกัน...ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน...ไม่เบียดเบียนกัน...

๑๗.ทะนุถนอมกัน
      คู่รัก..ย่อมต้องคอยดูแลเอาใจใส่ต่อกัน...ในทุกๆเรื่อง...ทุกๆด้าน...
      คอยบำรุงรักษากันและกันในสุขอนามัย...ชีวิตความเป็นอยู่...
      คอยระมัดระวังมิให้ลำบากขัดสน...อับจน....ข้นแค้น...
      คอยระวังรักษามิให้เป็นอันตราย...ลำบาก...เดือดร้อน....
      ไม่ทำร้ายกัน...ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ...
      ไม่คิดร้าย...ไม่ประสงค์ร้าย...ไม่มุ่งร้าย...ไม่ปองร้าย...ไม่เหยียบย่ำน้ำใจกัน...
      ไม่ปฏิบัติต่อกันเสมือนหนึ่งเครื่องมือ.....
      ไม่ใช้กันเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จสมหวังส่วนตัว....
      ไม่ปฏิบัติต่อกันเยี่ยงสัตว์เลี้ยง....
      ไม่ทำต่อกันเช่นสิ่งรองรับระบายอารมณ์

๑๘.ปรึกษากัน
      คู่รัก...ย่อมหมั่นปรึกษาหารือกัน...อย่างผูกพัน...
      ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องของทั้งคู่....
      ขอ...รับฟังความคิดเห็น..ความรู้สึก..คำแนะนำ...จากกันและกัน...
      ถ่ายทอดทัศนคติ...ความคิด...ความรู้...ค่านิยม...ให้แก่กัน....
      แต่มิได้บังคับ...ขู่เข็ญ...ว่าจะต้องยอมรับ...หรือคล้อยตาม....
      ร่วมพิจารณากันก่อนจะทำการตัดสินใจ.....
      ช่วยเหลือกันในการสร้างสรรค์ชีวิตคู่...
     
๑๙.ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
      ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน....
      ปฏิบัติต่อกัน...อย่างเดียวกัน...ในทำนองเดียวกัน...ในเรื่องเดียวกัน...อย่างไม่เอนเอียง...
      ไม่เลือกปฏิบัติ...ไม่ลำเอียง....ไม่เอารัดเอาเปรียบ....
      ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน...อย่างเสมอภาค...และปรารถนาดีต่อกัน....

บทสรุป
      นี่คือครรลอง...คือนิยาม...คือระเบียบปฏิบัติ...คือกฎเกณฑ์...คือหลักศีลธรรม...คือหลักจริยธรรม...
      ของ คนที่เป็น " คู่รัก " ที่จำเป็นต้องศึกษา...เรียนรู้...ประพฤติปฏิบัติ...
      อย่างพากเพียร...พยายาม...อดทน...อดกลั้น...เสียสละ...จริงใจ...สุจริต....ซื่อตรง....

      คิดถึงตัวเอง..........ให้น้อยลง....
      คิดถึงอีกฝ่าย.........ให้มากขึ้น....
      คิดถึงเราทั้งสอง.....ให้มากที่สุด....
     
      เพื่อให้สมกับความเป็น.....
      " คู่  รัก " ฯ

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กลอน : ยามหนาว สาวสยาม แต่งตัวงาม หลามลานตา

                                 

กลอน : ยามหนาว สาวสยาม  แต่งตัวงาม หลามลานตา

      ลมหนาว เจ้ามาเยือน        มาเป็นเพื่อน ไม่เคลื่อนไคล
โอบบ่า กอดข้าให้                  ว่าอย่าได้ เหงาไปเลย

      ลมหนาว เรามองเห็น        ใช่ลมเข็ญ ลำเค็ญเขนย
ลมแห้ง ไม่แกล้งเกย               บุปผาเงย เผยดอกงาม

      ฟ้าหนาว สกาวใส            สวยดั่งวัย ดรุณนาม
ยามหนาว สาวสยาม               แต่งตัวงาม หลามลานตา

      ยามหนาว ยามว่าวเล่น      นภาเป็น เช่นกีฬา
แข่งขัน กันบนฟ้า                   ประชันปัญญา ฝีมือ

      หมอกหนาว ยามเช้ารุ่ง      งามจรุง จูงใจซื่อ
เดินเล่น เช่นเราคือ                 เทวดาหรือ เทพธิดา

      ผลไม้ ในยามหนาว          รสเลิศราว จากดาวฟ้า
ลิ้มลอง ชองชีวา                    อย่าระอา นะน้องนาง

      ลมหนาว พาเศร้าคิด        คติชีวิต อนิจจ์สาง
ไม่จริง ทุกสิ่งอย่าง                แค่อำพราง ช่างมายา

      ลมหนาว ไม่หนาวนัก       หากจักเปรียบ เทียบทุกขา
เหน็บหนาว ร้าวอุรา               หนาวเกินกว่า จะเอ่ยคำ

      มองไกล ไปข้างหน้า       ไร้มรรคา ตามืดดำ
สิ่งใด หมายมุ่งทำ                 ไม่เป็นตาม ความตั้งใจ

      หนทาง หวังพ้นทุกข์       ทางใดถูก ? ถูกแค่ไหน ?
สังสาร หมุนปั่นไป                ต้องเวียนว่าย ในอีกนาน

      คนที่ มิเห็นทุกข์            เคยแต่สุข สนุกสนาน
ย่อมมิ เห็นเป็นการ               ในหลักธรรม์ จริยา

      จงดีใจ ใครที่ทุกข์           จนได้ฉุก ปลุกปัญญา
อริยะ สัจจ์ศึกษา                   วิปัสสนา จรูญใจ

      จงภูมิ ใจประเสริฐ           ไม่เสียที ที่เกิดไซร้
พุทธธรรม งามอำไพ              เหนือสิ่งใด ในจักรวาล ฯ

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

กลอน รัก..พี่มาง้อ...ขออภัย



กลอน รัก..พี่มาง้อ...ขออภัย

      ลมหนาว ระเริงเล่น             หนาวคราวเข็ญ ไม่เห็นไคล
หนาวนี้ มิมั่นใจ                        จะหนาวใน ไปอีกนาน

      ลมหนาว เป่าฝุ่นฟุ้ง             ยอดไม้ยุ่ง โยกพลุ่งพล่าน
หนาวเล่น เช่นสำราญ                หนาวสะท้าน สะท้อนใจ

      หนาวลม พี่ห่มผ้า                หนาวอุรา ห่มอะไร?
หนาวลม ตรมกายไป                  หนาวหัวใจ หนาวใดปาน

      หนาวนี้ มิเห็นน้อง                หนาวเศร้าหมอง ดั่งต้องประหาร
หนาวนี้ พี่ทรมาน                        คงหนาวนาน รานหัวใจ

      พี่เขลา ไม่เข้าจิต                 ไม่เคยคิด มุ่งผิดไผล
ทุกอย่าง พี่ตั้งใจ                        เราสองไซร้ รักไปกัลป์

      รักพี่ บริสุทธิ์                        ดุจน้ำค้าง กลางสวรรค์
ดั่งเมฆขาว งามพราวพรรณ            ลอยสราญ ผ่านนภา

      รักน้อง ไม่สองจิต                  รักชั่วชีวิต.....สัญญา !
รักสิ้น ตราบดินฟ้า                        สุเมรุลา มลายลาญ

      น้องจ๋า จงอภัย                      พี่ผิดไป ไช่ต้องการ
มาง้อ ขอคนหวาน                        โปรดสงสาร คนจริงใจ ฯ

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

กลอนรัก : รักนี้ ไม่มีวันอกหัก



กลอนรัก : รักนี้  ไม่มีวันอกหัก


      ความรัก มีหลากหลาย     ต่างพิศ ต่างผาย ต่างผล
ดั่งศิลป์ จินดาดล                 ลานหลากล้น ถกลไป

      หากรัก ที่จะ" รัก"          มิใช่รัก เพราะ" อยากได้ "
รักไม่คืน ไม่ฝืนใคร               แม้มิได้ ไม่ " อกหัก "

      รักเธอ เพราะเธอ" ดี "    ตราบเธอ " ดี "...มิแปรภักดิ์
รัก" ใส " ไร้ภัยผลัก             ไม่ " หลง " รัก ไม่หนักใจ

      เหมือนเรา รักท้องฟ้า      จันทร์-ดารา-สุริยะใส
สนธยา อโณทัย                  รักธารไหล พงไพรวัน

      เช่นเรา รักบุษบา            ธรรมาชาติ สะอาดสันติ์
รัก "ดี " ตราบนิรันดร์             รัก"คุณธรรม์ "จวบวันวาย

      รักนี้ มิหมายครอง           รักไตร่ตรอง เรืองรองฉาย
รักชู สุขีชาย                       ผุดผ่องใส สิ่งใดปาน

      ยินดี ที่ได้รัก                  รู้รสรัก สลักสาน
ใจ " ดี " ดีบันดาล                 สติกานต์ ปัญญาไกร

      จงรัก รู้จัก " รัก "             จงอย่ารัก ฝัก "หลงใหล"
จงดู " รู้ทัน " ใจ                    จงอย่าให้ ใจ " วิกล "

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โคลงสี่สุภาพ : "ทุก อย่าง อยู่ ที่.....ใจ"




โคลงสี่สุภาพ : "ทุก อย่าง อยู่ ที่.....ใจ"

๑.ลมพายใบไม้แห้ง                   แพลงพัด
ลมกวาดไกวฝุ่นฟัด                    ฟ่องฟุ้ง
ลมซัดเสียงโชกชัด                    กราดโกรก
ลมตัดสะบัดทุ้ง                         กิ่งไม้กระเด็น ฯ

."เกรงใจ"เขาอย่าให้               ลำบาก
คุณธรรมงามขอฝาก                  ฝักคล้าย
กรรมก่อระย่ออยาก                   เบียนเบียด
"เห็นแก่ตัว"ชั่วร้าย                    ไป่พ้นวิบาก ฯ

."จริงใจ"ใครทำได้                 นับถือ
"สัจจะ-สุจริต"คือ                      ผู้กล้า
โลกมีกี่คนหรือ                         มุ่งมั่น
โลกร่าน"ทุจริต"ท้า                    ร่ำร้อนทุคติ ฯ

๔."เอาใจ"เพื่อให้รู้                    ว่ารัก
เอาแต่มัวเมามัก                        คิดไคล้
"เอาใจ"ให้ตระหนัก                   เหตุ-ผล
"เอาใจ"เพลินเกินไซร้                แน่แท้จักเขลา ฯ

๕."พอใจ"กำหนดได้                 ตรงไหน ?
"ตามใจ"เพื่ออะไร ?                   ใคร่รู้
คนเขลา"เอาแต่ใจ"                    อย่าคบ
"เกลาใจ"จุ่งงามสู้                      ฝึกให้ประเสริฐ ฯ

."ปล่อยใจ"มีแต่ให้                   ทุกข์สนอง
"ปล่อยกาย"ใครใฝ่ปอง                ทอดทิ้ง
"ปล่อยวาง"อย่างครรลอง             ล่วงทุกข์
"ปล่อยว่าง"จิตพร่างพริ้ง               กิเลสไร้ผ่องใส ฯ

๗."สนใจ"จนใฝ่รู้                        ศาสตร์ศิลป์
"ใส่ใจ"ธรรมงามจินต์                    เลิศล้ำ
"ส่งใจ"ทำให้ชิน                          เชี่ยว-ง่าย
"สมใจ"สัทธรรมค้ำ                     สุทธ์แท้แด กมล ฯ

."เห็นใจ"อุตส่าห์สู้                    สมสอน
"ห่วงใย"ใจอาวรณ์                       เจ้าแล้ว
"ห่างไกล"อาลัยรอน                     อกพี่
"โหยไห้"อย่าได้แคล้ว                   คู่เคล้าเยาวมาลย์ ฯ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓

การดำเนินชีวิต ๓ รูปแบบ



การดำเนินชีวิต ๓ รูปแบบ

ทุกชีวิตที่ถือกำเนิดมาบนโลก....
ย่อมต้องดำเนินไป ตามเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง...
และตามสถานการณ์..ที่ตนได้ไปปรากฏตัวอยู่.....
โดยสามารถจำแนกการดำเนินชีวิตออกได้เป็นหลายรูปแบบ
ตามเกณฑ์ที่ยกขึ้นมาใช้พิจารณาเป็นประเด็น
ซึ่งในที่นี้ ขอยกเอา "การใช้เหตุผล" มาเป็นเกณฑ์....
โดยจะขอกล่าวเพียงคร่าวๆ สั้นๆ ไม่ยาว ไม่ลึก..
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก สำหรับคนทั่วไป...

      ในการดำเนินชีวิตของคนเรา...
ขอสรุปเอาโดยอนุโลมว่า...
ทุกๆคน..ล้วนจะต้อง "ใช้ความคิด..."ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป
แม้ว่าในบางคน ในบางครั้ง จะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม....

      สิ่งที่นำมาใช้อ้างอิง-ใช้เป็นหลักในการคิด..อย่างหนึ่ง คือ
......"เหตุ-ผล"......
ซึ่งเป็นหลักที่อาจเรียกได้ว่า สำคัญที่สุด..ดีที่สุด...ถูกกล่าวถึงมากที่สุด...และง่ายที่สุด...
หลายๆท่านคงคิดว่า  ก็ไม่เห็นจะต้องเอามาอธิบาย...
แต่ขอให้ลองอ่านเนื้อหาต่อไปนี้ก่อน....
อาจมีอะไรที่น้อยกว่า / มากกว่าที่ท่านเคยคิดเอาไว้...ก็เป็นได้..

      ในที่นี้จะขอแยก"พฤติกรรมการใช้เหตุผล" ของคนออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ
๑.ไร้เหตุผล / ทำตามอำเภอใจ
๒.มีเหตุผล
๓.มีความสมเหตุสมผล

      พฤติกรรมการใช้ชีวิตตามหลักการดังกล่าวข้างต้น
สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ในครอบครัว..ที่ทำงาน..และสังคมทุกระดับ...
โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกตาม เพศ,วัย,ระดับการศึกษา,อาชีพ,สถานะภาพทางสังคม,
หรือแม้แต่ตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ตั้งแต่ท้องไร่ท้องนาไปจนถึงผู้บริหารประเทศ...

      ด้วยว่ามีการใช้ความคิด การตัดสินใจ บนพื้นฐานของระดับสติปัญญา สามัญสำนึก สภาวะทางจิตและระดับคุณธรรม
ซึ่งสิ่งที่ได้ยกขึ้นมากล่าวนั้น มิได้จำกัดว่า จะต้องมี / ไม่มีในบุคคลใด / ในระดับใด

๑.การไร้เหตุผล /ทำตามอำเภอใจ
      หมายถึง การคิดโดยยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดเอาความชอบ / ไม่ชอบ
ความพอใจ/ไม่พอใจ,ใช้อารมณ์-ความรู้สึกของตนเอง-ผลประโยชน์ของตนเองฯลฯ
เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่า จะเลือกตัดสินใจทำอะไร?อย่างไร?แค่ไหน?....?
แม้จะเป็นการคิดเพื่อทำให้แก่บุคคลอื่น / สังคมส่วนรวมก็ตาม
ก็ยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง
แม้จะมีการอ้างหลักการ-ความรู้หรือหลักศีลธรรมใดๆมาประกอบ ก็จะตีความ-บิดเบือนไปตามอำเภอใจ

      ลักษณะของบุคคลกลุ่มนี้ แสดงถึงภาวะความมืดมนทางสติปัญญาและวุฒิภาวะของบุคคลผู้นั้น
เพราะการยกเอาตนเองเป็นเกณฑ์ ยกเอาตนเองมาเป็นเหตุผลนั้น
หากทำในกรอบแคบๆ เช่นเลือกซื้อสินค้าส่วนตัว ก็ไม่กระไรนัก
แต่หากเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะสาธารณะ
ถ้าต่างคน ต่างจิตต่างใจ ต่างทำตามอำเภอใจเช่นนั้น...
ย่อมไม่สามารถ จะนำมาอ้างว่าเหตุผลที่ทำตัดสินใจเช่นนั้น
ว่าเป็นความถูกต้องเหมาะสม เป็นความชอบธรรม เป็นประโยชน์สาธารณะ
และจะส่งผล...ก่อให้เกิดความโกลาหล เดือดร้อน วุ่นวายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า.....

๒.มีเหตุผล
      หมายถึง การสร้างจิตสำนึกให้ใช้สติ ใช้ความคิด ใช้ปัญญา
ในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป
ผู้มีเหตุผลในการในการตัดสินใจกระทำการใดๆ
ย่อมแสดงออกถึง ความเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีสติปัญญา มีความยับยั้งชั่งใจ มีการควบคุมตน...ในระดับหนึ่ง
      ย่อมเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีมโนธรรม มีสามัญสำนึก ในระดับปานกลาง ว่า...
ในการตัดสินใจกระทำการใดๆ จะต้องคิดถึงเหตุ คิดถึงผล ของการตัดสินใจนั้นๆ
ไม่ใช่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก
จะต้องมีการยับยั้งชั่งใจ...คิด...ใคร่ครวญ...ให้รอบคอบเสียก่อน...ที่จะตัดสินใจ
      แม้ว่า การตัดสินใจใช้เหตุผลในบางครั้ง ในบางคน อาจมีความแตกต่างกันไป
ตามอัตตลักษณะ ตามระดับของวุฒิภาวะ สติปัญญา และประสบการณ์
      ความเป็นผู้มีเหตุมีผลนั้น สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในคนใดก็ได้....
โดยจะต้องให้การอบรม-สั่งสอน-ศึกษา-เรียนรู้-พัฒนา ฯลฯ ทำได้ตั้งแต่วัยเด็กจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
      หากได้ทำการใช้เหตุใช้ผลจนสั่งสมเป็นอุปนิสัยใจคอแล้ว
ก่อนการตัดสินใจกระทำการใดๆ ย่อมไม่ต้องใช้ความพยายามในการกระตุ้นเตือนตนเอง
ให้ระมัดระวังมากนัก จะไม่รู้สึกขัดเขิน / ติดขัดแต่อย่างใด
      ซึ่งการใช้เหตุใช้ผลบ่อยๆ ในทุกๆเรื่อง ทุกๆเหตุการณ์
ยิ่งสร้างความชำนิชำนาญ ได้ใช้สมอง
ได้พัฒนากระบวนการทางความคิด กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง กระบวนการแก้ปัญหา ฯลฯ
จนสามารถพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ดังจะขอกล่าวต่อไป

๓.มีความสมเหตุสมผล
      เป็นระดับสูงสุดของการใช้ความคิด ของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้
ในการตัดสินใจจะกระทำการอันใดลงไป
เป็นระดับที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจากการเป็นผู้ใช้เหตุผลตามข้อที่เพิ่งผ่านมา
      ด้วยความเป็นผู้ที่มีการใช้เหตุผลจนชำนาญ ประกอบกับการอบรมทางอารมณ์จนมีวุฒิภาวะที่สูงขึ้น
มีการใฝ่หาแสวงหาองค์ความรู้ที่สูงขึ้น-ลึกซึ้งขึ้น-เป็นปรัชญา-เป็นนามธรรม-พ้นระดับของปัจเจกชน....
      เป็นองค์ความรู้ที่ต่อยอดความคิด พัฒนาการตัดสินใจ พัฒนาชีวิต สั่งสม-พัฒนา-บ่มเพาะ...
จนเป็นผู้มีสติปัญญา คงแก่เรียน เมื่อประกอบกับการอบรมนิสัยใจคอ
ควบคุมความรู้สึกนึกคิด-อารมณ์ ได้เป็นอย่างดี
      มีการนำหลักศีลธรรม คุณธรรม มาเป็นหลักสำคัญในการประกอบการตัดสินใจ
จนเป็นผู้เข้าใจ-เข้าถึงหลักความถูก-ผิด,ดี-เลว,ควร-ไม่ควร ฯลฯ
มีประสบการณ์ชีวิต มีทักษะในการครองใจตน มีความสามารถในการควบคุมการกระทำของตน
ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
      บางคนบางท่าน ก็พัฒนาตนจนเป็นระดับ "นักปราชญ์ " - " พหูสูต"
สามารถคิดหาต้นต่อของเหตุุ-ผลเองได้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆได้ สามารถหยิบยกเอาองค์ความรู้ต่างๆ
มาใช้ได้อย่างถูกต้อง-เหมาะสม-สอดคล้อง ตามสถานการณ์และข้อเท็จจริง
      สามารถให้น้ำหนักขององค์ประกอบในเหตุและผล ได้อย่างพอดิบพอดี
โดยปราศจากอคติ ความลำเอียง หรือหลงใหล เพราะสามารถแยก"ตน" ออกไปจากการใช้เหตุผล
แยก"อัตตประโยชน์ "ออกจากการตัดสินใจ
      ซึ่งการจะกระทำการเช่นนั้นได้ จะต้องผ่านการอบรม-ขัดเกลา นิสัยใจคอ สติปัญญา อารมณ์ ฯลฯ
ให้สะอาด ด้วยกระบวนการทางศีลธรรม จริยธรรม ฯลฯอย่างยาวนานและประสบความสำเร็จ

บทสรุป

      ผลของการตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป ยอมตกแก่ตัวผู้กระทำเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ก่อให้เกิดการได้รับผลประโยชน์-เสียประโยชน์ ความสำเร็จ-ล้มเหลว ความสุข-ความทุกข์ ฯลฯ
      ดังนั้น ผู้มีความคิดทั้งหลาย พึงกระทำการตัดสินใจให้ละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน ก่อนการกระทำเทอญ ฯ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กลอน : กฐิน ของใคร ?

                                 

กลอน : กฐิน ของใคร ?


      ตั้งแต่เริ่ม ประเดิมที วินัยธรรม                  กำหนดตาม พุทธบัญญัติ อนุญาตไว้
แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป                    วันสุดไซร้ เพ็ญ ๑๒ สิ้น กฐินกาล

      บัญญัติว่า อานิสงส์ องค์กฐิน                   แก่สงฆ์สิ้น เกี่ยวกับผ้า ภัตราหาร
ไม่กล่าวถึง ฆราวาส แม้พาทพาน                  หลังพุทธกาล โลกีย์ธรรม นำเปลี่ยนแปลง

      ถือเอาว่า กฐินการ ปานบุญใหญ่               ต้องร่วมใจ ร่วมบริจาค จากหลากแหล่ง
ทุ่มเททรัพย์ ทัพเทคน ผลบุญแรง                 จนยื้อแย่ง แข่งเจ้าภาพ นับพิธี

      วิถึธรรม ตามวินัย ไม่ปฏิบัติ                      มุ่งเอาอัฐ เป็นวัตรใหญ่ พิไลศรี
อนิจจา วัฒนธรรม  "... ตามประเพณี "         จึงไม่มี ใครสนใจ วินัยธรรม

      แสนสงสัย สิ่งใดหรือ คือ " พุทธะ" ?         เห็น " พุทรา" แพร่ระบาด ประหลาดขำ
ไสยศาสตร์ อวิชชา ฯลฯ ศรัทธากรรม             วินัยธรรม ไม่นำพา อนาถเอย ฯ

๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๓

*กลอนที่เกี่ยวข้อง

กาลกฐิน..กาลกิเลส? : โคลงสี่สุภาพ 

กลอนเปล่า : สัมผัสของหัวใจ



กลอนเปล่า : สัมผัสของหัวใจ

ความรัก.....        

           ทำให้หัวใจ.....เต็มเปี่ยม....
           ทำให้หัวใจ.........หนา...แน่น....
           ทำให้หัวใจ.........................หนัก..........
           ทำให้หัวใจ.........คับ.....แคบ...
           ทำให้หัวใจ...ถูกร้อยรัด.......

เพราะ.....
เมื่อเกิดความรัก......
     
            ย่อมมี...ความสุข.....
            ย่อมมี......ความผูกพัน.......
            ย่อมมี............สายสัมพันธ์.........
            ย่อมมี....................ภาระ................
            ย่อมมี..........................บทบาท.........
            ย่อมมี..............................หน้าที่..............
            ย่อมมี................................ความรับผิดชอบ............
            ย่อมมี.........................ความห่วงใย......
            ย่อมมี......................ความอาทร.......
            ย่อมมี.............ความวิตกกังวล.......
            ย่อมมี.........ความทุกข์.......
            ย่อมมี....ความโศกเศร้า..

ความดีงาม.......

             ทำให้หัวใจ....ผุดผ่อง....
             ทำให้หัวใจ.........สดใส.....
             ทำให้หัวใจ...............สะอาด......
             ทำให้หัวใจ.......................บริสุทธิ์........
             ทำให้หัวใจ................นุ่ม...เบา.....
             ทำให้หัวใจ.........สบาย......
             ทำให้หัวใจ....สงบ......

เพราะ......
เมื่อได้ทำในสิ่งที่ดีงาม......

              ไม่มี.....ข้อผูกมัด......
              ไมมี..........ข้อผูกพัน.....
              ไม่มี................ภาระ.........
              ไม่มี.....................บทบาท........
              ไม่ใช่..........................หน้าที่........
              ไม่ต้อง...............รับผิดชอบ.....
              ไม่มี..............ความทุกข์.....
              ไม่มี........ความโศกเศร้า..
              แต่มี...ความสงบ..สุข...

              เป็นความ...เต็มใจ...
              เป็นความ...สมัครใจ....
              เป็นความ...ยินดี.......

ความรักนั้น....สวยงาม.....
แต่ความดีงามนั้น.....
ทั้ง.....สวย....งาม....ดี....
และบริสุทธิ์.......

เราเลือกได้....
ว่าจะให้หัวใจ.....
ได้รับสัมผัส.....กับสิ่งใด.....
ได้รับประสบการณ์.....อย่างไร......

๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๓

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กลอน : ฝึกกาย ฝึกใจ



กลอน : ฝึกกาย ฝึกใจ


      ฝึกกาย ให้แข็งแกร่ง          กำลังแรง อย่างแข็งขัน
กีฬา สารพัน                          เลือก-ขยัน นันทนา

      กายแกร่ง แข็งแรงอยู่         สามารถสู้ อุปัทวา
ลำบาก ไม่หนักหนา                 เพราะกายา พละกำลัง

      ฝึกใจ ให้เข้มแข็ง              กำลังแรง แทงสิ่งหวัง
ธรรมะ มีพลัง                         ปัญญาดั่ง คลังอาวุธ

      ฟันฝ่า อุปสรรค                หนักแค่ไหน ไม่สะดุด
เกิดมา เป็นมนุษย์                   ธรรมยุทธ์ สุดประเสริฐ

      อย่าปล่อย กายปล่อยใจ     ปล่อยเป็นไป ตามใจเกิด
บาปกรรม ทำละเมิด                วิบากเชิด เดรัจฉาน

      กุศล ดลจิตใส                 สุขกาย-ใจ ได้แก่นสาร
ล่วงวัย ไม่เสียกาล                  บุญบันดาล สวรรค์เอย ฯ

                                          ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓        

กลอนรัก : หากเคยร่วมบุญ คงได้ร่วมกัน




กลอนรัก : หากเคยร่วมบุญ คงได้ร่วมกัน

      หนาวโกรก ลมโบกพัด             ฟ้าประหลาด ไม่ชัดฟ้า
มัวขาว เค้าเมฆา                           หากบางตา ทั่วฟ้าปลาย

      ลมหนาว หายเข้าทรวง             เย็นโล่งล่วง ห้วงสบาย
เหมือนธรรม นำเฉิืดฉาย                   โล่งสบาย กายวิญญาน์

      ศีลสัจจ์ สุจริต                         งามวิจิตร พิสิทธา
อุ่นใจ ไล้วิญญาน์                           ล้างอวิชฺชา อนิฏฐารมณ์

      สัจจ์ธรรม มีน้ำนวล                   ศีลหอมหวน ทวนทิศลม
สุจริต สุทธิ์สิทธิ์ธม                         ปัญญาบ่ม สุขสมใจ

      หวนคิด ถึงขนิษฐา                   ลมหนาวมา พี่อาลัย
ยามนี้ พี่อยู่ไกล                             หากหัวใจ ยังใกล้ชิด

      พี่ไกล ไม่ดูแล                         ได้เพียงแค่ แผ่ส่งจิต
ขวัญเรือน อย่าเอื้อนอิด                     กรรมมาปิด กีดไกลกัน

      หากแม้น ไม่แร้นบุญ                   เคยร่มสุน ทานหนุนนันท์
คงมี...ที่สักวัน                                 เราสองสันติ์ ร่วมบันเทิง

      ไม่ว่า สุข / ทุกข์ใด                     อย่าปล่อยใจ ให้กระเจิง
หลักธรรม ชำนาญเชิง                        พารื่นเริง เถลิงเอย ฯ

                                                     ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

ไม่มีสิทธิ์มาห่วง : กลอนอกหัก




ไม่มีสิทธิ์มาห่วง : กลอนอกหัก

      ถ้อยคำ ไม่นำพา            จากสร้อยสุดา มารศรี
น้ำใจ ไม่ใยดี                       "..ไม่เคยมี มีเยื่อใย.."

      คิดเขลา เมาไปเอง         ใจนักเลง เก่งเกินไกร
บอก"รัก" จากปากไป             ไร้ความหมาย ใจจนตรอก

      ในเมื่อ ฉันไม่ใช่              ต่อไป คงไม่กล้าบอก
บอกใย ใจช้ำชอก                  แม้อยากบอก ว่า"..เป็นห่วง.."

      ขอบคุณ เคยจุนเจือ          ไม่ให้เฝือ เป็นเบื้อบ่วง
ไร้ใคร คล้ายไร้ห่วง                 ใยใจหน่วง ถ่วงอาลัย

      ใจ"ว้าง" แล"ร้าง"เลือน      ไม่"ว่าง"เหมือน เคยเยือนใย
ปวดร้าว เนาน้าวใน                  ไม่เหมือนใจ...ใจดวงเดิม

      ก็ว่า จะไม่คิด                   เที่ยงคืนจิต วิกฤติเหิม
ไม่นิ่ง กลิ้งกลอกเกริม              ตื่นมาเจิม เติมวจี

      ก็รู้ อยู่แก่ใจ                     ว่า..ห่าง..ไกล..ไกล..วิถี
แต่ใจ ไม่รักดี                          มองไม่มี เหมือนหนีไป

      ใจ"ร้าง" ใจ"ว่างเปล่า"        ใช่"ว่าง"วาว เพราประไพ
ใจ"ร้าง" มัน"ว้างไร้"                 ใช่"ว่างไว" ให้ซมซาน

      อนิจจา อนาถจิต               ไม่เคยคิด ไพล่-ผิด-ผลาญ
เปลี่ยวดาย ในดวงมาน              ปวดร้าวราน สะท้านใน

      อดีต เคยติดตาม                คงต้องห้าม จำนนใจ
อย่ามอง อย่าจ้องไป                 เราไม่ใช่....ใครในมาน

      "ไม่มี สิทธิ์มาห่วง"            มันเจ็บหน่วง ทั้งทรวมสาน
ใจ"ร้าง" ร้าวร้างราน                  ถอนใจนาน กลั้นกลืนทรวง

      ต่อไป คงไม่มี                    ใครที่..เรามีสิทธิ์...ห่วง
ใจหาย คล้ายลมลวง                  โลกทั้งปวง ถ่วงทับใจ ฯ

๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓