ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กลอนธรรมะ : ความถูกต้อง



กลอนธรรมะ :  ความถูกต้อง


      เที่ยงระทม โพยมเลือน เหมือนสายัณห์            สุรีย์ราน ผันลับ ดายดับสูญ
เมฆทะมึน ครืนคละ ทวีคูณ                                 พายุหมุน พูนพัด สะบัดไพร

      พิรุณริน รินลัด ไกลกราดกราด                        ประเดี๋ยวดาษ ดาษรุม กรูมดาใกล้
คำรามครืน ครืนครัด ขัดคลอนใจ                            ตระหนกใน ในอำนาจ ธรรมชาติมี

      อากาศชื้น รื้นเย็น ชวนเร้นหลบ                       หยาดฝนกลบ รบหลั่ง หลังคา(สังกะ)สี
น้ำใสใส ย้ายหยด รดปฐพี                                   ดั่งดนตรี ปี่เป่า เร้าอารมณ์

      ชายคาเอียง เคียงระ พฤกษชาติ                      "กันเกรา"ลาด กวาดกิ่ง พิงผสม
"แก้ว"ตะคุ่ม พุ่มพลอด ลอดลั่นทม                         ใบหนามคม "การะเกด" เข็ดฤดี

      น้ำขังลุ่ม ชุ่มแช่ ชะแง้หญ้า                             เคยแห้งครา มาบัดดล ยลผ่องศรี
กรวดรายเรียง เพียงพราว ราวมณี                           สะท้อนสี ระวีรุ้ง รุ่งรำไพ

      ธรรมดา ธรรมชาติ ของสัตว์โลก                       ย่อมวิโยค โศก-สุข ทุกข์ผลัดไส
เพียงศึกษา ปฏิบัติ ขัดเกลาใจ                               ธรรม-วินัย ให้ปัญญา สติติง

       ถึงพาลไพร่ ว่ายเวียน มาเบียนเบียด                 อย่าคร่ำเครียด โกรธแค้น แม้นผีสิง
ความพยาบาท อาชญา จงประวิง                            สงบนิ่ง อิงโอษฐ์ ฟังพจนา

       กฎแห่งกรรม ค้ำฟ้า สกลภพ                           ทุ..กรรมสบ ทบซ้อน ย้อนโทษา
ตั้งกุศล วิมลเจตน์ เวทนา                                     ย่อมชยา โทสะปริตร ไร้พิษภัย

      สามัญชน หากยลแยก มิแปลกสัตว์                   ธรรมประวรรต สัจจกล ฉงนไฉ
อกุศล ผจญก่อ ตามพอใจ                                     พาลพิสัย อคติ วินัย-ธรรม

      แม้นรักดี มีศีลธรรม ประจำจิต                           สุจริต ไม่มิจฉา สุปถัมภ์(สุ+อุปถัมภ์)
ย่อมยึดธรรม ความถูกต้อง ท่องก่อนทำ                   ผลแห่งกรรม งาม-ดี-สุข ทุกเมื่อมี

      มั่นคงคู่ อุเบกขา อารมณ์ลักษณ์                      ขันติหนัก จักสงบ ประสบศรี
เสริมกุศล ทนอาเทศ กิเลสที                                สรรค์ปิติ ที่ถูกต้อง ตามคลองธรรม

      ความถูกต้อง ครรลองธรรม ตามบัญญัติ            ไม่ปกปราชญ์ อิงอัตตา สะอาดล้ำ
เป็นระเบียบ เปรียบวินัย ใช้ง่ายงำ                          ยุติธรรม ไม่ลำเอียง เถียงแถใคร

      ความถูกต้อง ต้องศึกษา หาความถูก              ต้องประยุกต์ ถูกธรรมบาล ลานหลากไหล
เลือกธรรมผิด ย่อมติดข้อง ต้องทำใจ                      ศึกษาใหม่ ใช้ให้คล่อง ช่ำชองกล

      ความถูกต้อง คือช่องทาง สว่างไสว                จึงมั่นใจ ในหนทาง สร้างกุศล
มิใช่ว่า อุปาทาน มั่นใจตน                                   อย่างที่คน ล้นกิเลส สอนเกศกัน

      ความถูกต้อง เกราะป้องกัน กั้นกิเลส                เสมือนเขต กิเลสปลอด ยอดเขตขัณฑ์
ป้องกันตน พ้นทางผิด ปิดทางทัณฑ์                        ชูชีวัน มั่นคงคุณ กูลฟ้าดิน ฯ

                                                                    ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รักอย่างไร ?...ไม่อกหัก

                 

รักอย่างไร?...ไม่อกหัก 
   บทความนี้นี้ เรียบเรียงขึ้นเพื่อผู้ที่ยังมีความปรารถนาในความสุขทางโลกย์
   จากประสบการณ์การศึกษาชีวิตจริง ผ่านมุมมองทางพุทธ  หวังว่าจะช่วยให้จำนวนคนอกหักลดลงไปบ้าง แม้เพียงเล็กน้อย

ความรักคืออะไร?
    ความรักคือ สิ่งปรุงแต่งของจิต  โดยมี"ราคะ"เป็นมูลฐาน ทำให้เกิดความพึงพอใจในตัวบุคคล  สัมผัส และความสัมพันธ์ ก่อให้เกิด"ตัณหา"อยากเป็นเจ้าของ อยากร่วมเรียงเคียงคู่ ตลอดจนเกิดความหวงแหน-หึงหวง
   ความรักเกิดจากอะไร?ขอละไว้ไม่กล่าวถึง
  
ความรักมีกี่ระยะ?
    แบ่งคร่าวๆได้เป็น  ๓  ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ระยะ"honey moon/ข้าวใหม่ปลามัน" คู่รักเพิ่งพบกัน เกิดอาการ"รักแรกพบ"บางคนคิดไปว่าเป็นบุพเพสันนิวาส/เป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติปางก่อน จิตใจของคู่รักจะมีแต่ความหลงใหล ขาดสติปัญญา จึงมักกล่าวว่า"ความรักทำให้คนตาบอด" เพราะมองไม่เห็นข้อบกพร่องของอีกฝ่าย คนรักทำอะไรก็ถูกไปหมดใครจะมาตำหนิติติงไม่ได้(แฟนข้าใครอย่าแตะ)ติดกันเป็นตังเม คู่รักจะแคร์กันมาก อยากได้อะไรก็จะตามใจหาให้-ทำให้ ชี้นกเป็นไม้ชี้ไม้เป็นแมว ข้อเสียใดๆของตนจะถูกปกปิดซ่อนเร้น นิสัยไม่ดีก็อดไว้ไม่ทำ คู่รักจะมีหัวใจที่ท่วมท้นไปด้วยความรักหวานหยดย้อย โลกทั้งใบเป็นสีชมพู  ระยะนี้กินเวลา ๓ เดือน- ๑ ปี

ระยะที่ ๒ ระยะ"คุ้นเคยกัน" คู่รักใช้เวลาร่วมกันมาถึงจุดที่ความรักเริ่มอ่อนรสอ่อนแรงลงบ้าง ความคุ้นเคยทำให้เริ่มลดการเอาใจกัน เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ผ่อนคลายความระมัดระวังตัว เริ่มทำตัวตามสบาย ข้อเสียที่เคยปกปิดซ่อนเร้นก็เริ่มปลดปล่อยออกมาให้ปรากฏ (ตาที่เคยบอดก็เริ่มมองเห็น) มองเห็นข้อเสียของอีกฝ่ายชัดเจนขึ้น จนอาจมีการตัดพ้อต่อว่าอีกฝ่ายว่าเปลี่ยนไป ระยะนี้กินเวลา ๓ เดือน-๖ เดือน

ระยะที่ ๓ ระยะ"เฉยๆ" ทั้งคู่คุ้นเคยกันจนเหมือนเป็นคนๆเดียวกัน นิสัยหลายๆอย่างก็เหมือนกัน รู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี ต่างเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ อะไรที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ถือว่ายุติแต่เพียงเท่านี้ และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ความหวานแทบไม่มีร่องรอยหลงเหลือ ความรู้สึกต่อกันเป็นเหมือนเพื่อนใจ-คู่ชีวิต ระยะนี้กินเวลาตราบเท่าที่คบกัน-ตลอดชีวิต

ธรรมชาติของความรัก
   เพราะความรักเป็น"สิ่งปรุงแต่งของจิต/สังขาร" จึงมีธรรมชาติคือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ปรวนแปร เสื่อมสลายได้ ต้องมีการปรุงแต่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับความรักไว้

ธรรมชาติของจิต
   จิตมีธรรมชาติที่กลับกลอกรวดเร็ว สาดส่ายอยู่เสมอ โดยเฉพาะจิตที่ตกอยู่ใต้อำนาจของราคะ โทสะ โมหะ จะแสวงหาสิ่งสวยๆงามๆใหม่ๆมาปรนเปรอตน รังเกียจของไม่สวยไม่งาม อยากกำจัดไปให้พ้น ธรรมชาติของความรักและธรรมชาติของจิตจึงเป็นที่มาของปัญหาแทบทุกอย่างในชีวิตคน

ทำไมถึงอกหัก?
   การอกหักเกิดขึ้นได้ทั้ง ๓ ระยะของความรัก สาเหตุเกิดจาก

ประการแรก ความไม่จริงใจ เพราะโลกนี้มีทั้งคนดี-คนเลว คนซื่อสัตย์สุจริต-คนใจคดทุจริต คนมีสัจจะ-คนหลอกลวง คนเห็นแก่ตัวน้อย-คนเห็นแก่ตัวมาก คนจิตใจมั่นคง-คนเหลาะแหละเหลวไหล เมื่อคนชั่วเหล่านี้ปฏิบัติต่อผู้อื่นจึงยังผลให้อีกฝ่ายอกหัก/หักอกได้
     อีกประการหนึ่งคือการปกปิดซ่อนเร้นข้อเสีย/นิสัยเสียของตนไว้ ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ เมื่อคบกัน-รักกันไปแล้วค่อยมาผ่อนคลายเปิดเผย ทำให้คุณสมบัติดีๆลดลง คุณสมบัติเลวๆเพิ่มขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป การเปลี่ยนใจจึงเกิดขึ้น

ประการที่สอง ความไว้วางใจผู้อื่น ด้วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง คนอายุน้อยมองโลกในแง่ดี ยังอ่อนต่อโลก คนมีศีลธรรมจะมีจิตใจที่ใสซื่อบริสุทธิ์ มักคิดว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนตน เมื่อเกิดไปรักกับคนชั่วเข้า ก็ถูกหลอกและอกหักในที่สุด

ประการที่สาม ธรรมชาติของจิต จิตมีธรรมชาติที่กลับกลอก ไม่มั่นคงถาวร คนที่แม้เป็นคนดีมีศีลธรรม หากไม่ควบคุม อดทนอดกลั้นจิตใจ ยอมปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส-ตัณหา คนดีๆเหล่านั้นอาจทำผิดศีลธรรม ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้แก่คู่ของตนได้ไม่ยาก

ประการที่สี่ ธรรมชาติของคน คนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติไม่ได้กำหนดให้ครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ค่อนข้างจะเป็นแบบผัวเดียวหลายเมีย ทำให้ฝ่ายหญิงถูกนอกใจ/ถูกทอดทิ้งได้ง่าย 
   อีกทั้งธรรมชาติทางสรีระที่ผู้หญิงจะโตเร็วกว่า-แก่เร็วกว่า-อ้วนง่ายกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน ประกอบกับผู้หญิงต้องตั้งครรภ์-คลอดลูก-เลี้ยงลูก สรีระของผู้หญิงจึงร่วงโรยอย่างรวดเร็วและกลับคืนสู่สภาพสวยงามได้ยาก (จึงมีคำพูดแบบคึกคะนองว่า แก่ง่าย-ตายยาก)


ประการที่ห้า วิบากกรรม ไม่ว่าจะทำดีที่สุดหรือพยายามมากสักเพียงใด ไม่ว่าใครก็หนีวิบากกรรมของตนไม่พ้น การสมหวัง/ผิดหวังในความรักก็เป็นส่วนหนึ่งของวิบากกรรมนั้น

ควรเริ่มสนใจความรักเมื่อไร?
   โดยธรรมชาติแล้ว คนจะเริ่มสนใจความรักตั้งแต่เริ่มเป็นวัยเจริญพันธ์ แต่โดยธรรมชาติเช่นกัน สรีระของคนจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เมื่ออายุมากกว่า ๒๐ ปี แต่ถ้าคนๆนั้นยังมีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง สร้างชีวิตที่มั่นคง ความรักก็ควรเลื่อนเวลาออกไปก่อน เพื่อจิตใจจะได้มีสมาธิกับการเรียน เพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผลทางการเรียน อีกทั้งเมื่อเรียนจบ คู่รักในวัยเรียนส่วนมากจะแยกทางกันไปหางานทำ/กลับภูมิลำเนา ทำให้ความรักมักขาดสะบั้นลง เวลาที่เหมาะสมที่จะสนใจความรักจึงควรเป็นวัยทำงานเท่านั้น 

รักอย่างไร?ไม่อกหัก
   เป็นคำแนะนำสำหรับคนที่มีโอกาสอกหักทุกคน ไม่ว่าชาย/หญิง มุ่งที่การป้องกันไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะเมื่อเกิดปัญหาอกหักแล้ว โอกาสแก้แทบเป็นศูนย์

ขั้นที่ ๑ เตรียมตัวเอง จะต้องอบรมตนให้เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะ มีสัมมาทิฎฐิ หมั่นศึกษาหาความรู้ธรรมชาติ-สัจจะธรรม-ชีวิต อบรมจิตใจไม่ให้อ่อนไหวไปตามอำนาจสัญชาตญาณ-กิเลส-ตัณหา
ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ไม่มักง่ายวู่วามหรือหลงใหลไปตามกระแสสังคม ที่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส-ตัณหา-วัฒนธรรมเสรีไร้การควบคุม

ขั้นที่ ๒ พิจารณาตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่ควรมี/ไม่มีคู่ครอง ในที่นี้จะไม่ก้าวล่วงไปถึงสิทธิโดยธรรมชาติของบุคคลที่จะมีคู่ครอง(เพราะถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น เช่น คนทุพลภาพมีสิทธิ์มีคู่-มีลูกหรือไม่? คนจนมีลูกได้กี่คน?)
    ขอให้พิจารณาและใช้วิจารณญาณของตัวเอง เมื่อเห็นว่าควร ก็ต้องกำหนดคุณสมบัติของคู่ครองขึ้นมา(ตามชอบใจ แต่ควรเป็นไปได้ด้วย) ไม่ควรไร้ขอบเขตโดยเฉพาะคุณสมบัติที่คนจะมีคู่ครองต้องมี ต้องไม่ขาดคือ ฆราวาสธรรม ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ต้องมีทุกคน ถ้ายังไม่มี/มีไม่ครบก็ต้องอบรมให้มีก่อน

ขั้นที่ ๓ วิธีการ  เริ่มจากมองดู-มองหาคนในอุดมคติ ถ้าพบก็ดูไปสัก ๓-๖ เดือน ให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ แล้วค่อยทำความรู้จักเอาไว้ก่อน อาจจะยอมให้เป็น"คนชอบพอกัน" เท่านั้น จับตาดู-เรียนรู้-ทำความเข้าใจกันไปสัก ๑ ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการเสแสร้ง/ปิดบังอำพราง
ที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปรัก/พลีกายพลีใจให้อย่างที่กำลังเสียสติกันไปทั่ว เพราะไม่ใช่วิถีชาวพุทธ

ขั้นที่ ๔ เมื่อทุกอย่างเป็นไปด้วยดี  มอบความรัก-ความไว้วางใจให้สัก ๒๐ % ไม่ควรมากกว่านั้น คบกันอย่าง"แฟน"ได้ แต่เป็น"แฟนหลวมๆ" ให้เวลาผ่านไปสัก ๑ ปี ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จะเข้าสู่ข้อต่อไป 

ขั้นที่ ๕ เมื่อความรักงอกงาม โดยธรรมชาติ ความรักจะงอกงามด้วยตัวเอง ไม่ต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกใดๆ ทั้งคู่จะรู้จักมักคุ้น เข้าใจ-รู้นิสัยใจคอกัน ถ้าอีกฝ่ายจริงใจ ไม่มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย/หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ลองปล่อยใจ(ไม่ปล่อยกาย) ให้รักได้ไม่เกิน ๕๐ % ให้เวลาอีก ๑ ปี

ขั้นที่ ๖ ความสัมพันธ์แนบแน่น ความรักสุกงอม (ที่จริง จะเริ่มคุ้นเคยกัน ผูกพันกันด้วยใจ มากกว่าอารมณ์รัก) มาถึงตอนนี้ หากคนรักเป็นคนจิตใจมั่นคง สม่ำเสมอ ร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ ไว้วางใจได้ ฝากผีฝากไข้ได้ ค่อยมอบความรักให้สัก ๘๐ % และวางแผนแต่งงานได้แล้ว (เฮ้อ...โล่งอกซะที)

ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าได้ชิงสุกก่อนห่าม การพลีกายพลีใจก่อนจะจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เท่ากับเป็นการประกาศว่า"ประตูเปิดอยู่ จะเดินออกไปจากชีวิตฉันเมื่อไหร่ก็ได้"

บทสรุป
  ทุกชีวิตถูกลิขิตไว้ด้วยวิบากกรรม อย่าได้คาดหวังอะไรใน"ความรัก"อย่าขาดสติ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ความรักก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ น้ำตาของคนที่เสียใจเพราะความรัก รวมแล้วมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
  ไม่ว่าจะรักกันสักแค่ไหน การพลัดพรากย่อมจะต้องเกิดขึ้นเสมอ จะช้า หรือ เร็ว ก็ต้องพรากจากกัน จงตระหนักในความจริงนี้ให้ดี เสมือนยาแก้ป้องกันโรคเสียใจ
  คนที่ไม่รู้จักรักคนอื่น นอกจากรักที่จะเป็นเจ้าของคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นสิ่งของ มีอยู่มาก คนที่ไม่รู้จักแยกแยะระหว่าง"ความรัก"และ"ความหลงใหล" ก็มีไม่น้อยกว่ากัน   โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาว จึงไม่ควรประมาทความรักเป็นอันขาด เพราะแม้จะไม่คมเหมือนมีด แต่กรีดหัวใจให้เจ็บปวดยิ่งนัก

ความรัก    เป็นศิลปะของการสร้างอารมณ์........ด้วยสติปัญญา   
ครอบครัว   เป็นกิจการที่ต้องลงทุนด้วยชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร...คือความรัก  -  ความอบอุ่น
   
                                               อวิชฺชาภิกขุ

ฌาน : สุขสุดยอดทางกายที่คนจะมีได้




ฌาน : สุขสุดยอดทางกายที่คนจะมีได้

ผมคิดอยู่นานนับเดือน ว่าควรลงเรื่องนี้หรือไม่?
เพราะอาจทำให้บางคนคิดว่า"อยากเด่น อยากดัง"
แต่มาคิดได้ว่า เมื่อเราปฏิบัติตามธรรมวินัยจนประสบผลดี
ก็ควรเผยแผ่ให้คนอื่นได้รู้ว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้น
ปฏิบัติได้จริง เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง
เป็นสิ่งที่คนทำได้ในสมัยนี้ ไม่ใช่แต่สมัยพุทธกาล
เป็นประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ เป็นความมหัศจรรย์ของพุทธศาสนา

สุขสุดยอด...ทางกายนี้
เป็นสุขยิ่งกว่าความสุขทางกายใดๆที่คนจะมีได้
จุดสุดยอดทางเพศ ที่คนมากมายทั่วโลกหมกมุ่นกัน
เมื่อเทียบกับสุขสุดยอดนี้
ไม่ต่างจากแสงหิ่งห้อยกับ แสงอาทิตย์

 สุขสุดยอดนี้คือ สุขขณะบรรลุฌาน จากการนั่งสมาธิ
(ฌาน ๔ ไม่มีความสุข มีแต่อุเบกขาป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์)
ผมประสบด้วยตัวเอง เมื่อครั้งบวชเป็นพระ

ฌาน เป็น "อุตริมนุสธรรม หรือ อุตริมนุษยธรรม 
แปลว่า ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ผู้ยวดยิ่ง 
ได้แก่ คุณวิเศษซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมีหรือเป็นได้ มิใช่วิสัยของมนุษย์ทั่วไป 
แต่เป็นวิสัยของผู้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว

ขอเผยแผ่เคล็ดวิธีที่จะไปให้ถึงฌาน ๔
เพื่ออุทิศแด่พระพุทธองค์
และอริยะสงฆ์ที่ทำให้องค์ความรู้นี้ยังคงอยู่
เป็นวิธีที่ผมปรับใช้จากการอ่านพระไตรปิฎกล้วนๆ
แล้วใช้ปฏิภาณส่วนตัวเพียรปฏิบัติเอง ลองผิดลองถูกเอง ไม่มีใครสอน
เพราะเคยอ่าน-ศึกษาจากคำสอนของเกจิดังๆหลายท่านแล้ว ไม่ได้สาระ
(เหมือนลอก อรรถกถา-คัมภีร์วิสุทธิมรรคมา
บางคนก็แค่ความหลงผิด-จินตนาการเอาเอง-หลอกลวงก็มี)

วิธีของผมเริ่มต้นจาก
. ในชีวิตประจำวัน 
    ต้องไม่คิด-ไม่จำ-ไม่ทำ-ไม่พูด สิ่งที่เป็นอกุศล
. อินทรีย์สังวร
.กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก(คุมให้อุปธิไม่ให้กำเริบ)
   อยู่วัดป่าในชนบทห่างไกลเสียงดังรบกวน ไม่วุ่นวายด้วยคน-สัตว์ 
   มีอิสระในการปฏิบัติธรรม สงบเงียบ
   อยู่กุฏิไกลคน ไกลถนน ไร้คน-สัตว์เพ่นพ่าน
   ไม่พบ ไม่พูด ไม่คุย กับใครโดยไม่จำเป็น
   ไม่คลุกคลีกับหมู่ชน
   ไม่รับข่าวสารภายนอก การบ้าน การเมือง เศรษฐกิจ 
   ไม่ทำกิจกรรมอื่นๆที่ต้องใช้ความคิดความเคร่งเครียด-เหน็ดเหนื่อย ฯลฯ
.นอกจากการดูแลสังขาร-กิจของพระ
   ผมจะนั่งสมาธิ เดินจงกลม อ่านพระไตรปิฎกเท่านั้น
   ถ้าเมื่อยก็พัก ง่วงก็หลับ หายง่วงเริ่มทำต่อ อย่างพากเพียร-อดทน
   ทำสมาธิโดยไม่กำหนดเวลา กลางวัน กลางคืน ฝนตก แดดออก หนาว ร้อนฯลฯ
.ทำอานาปานสติ ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
   (มีคำสอนปรากฎหลายแห่ง-หลายสูตร 
   ในเน็ตก็หาอ่านได้จากเว็บ http://www.84000.org/
   Google Search ค้นหาคำว่า อานาปานสติสูตร
   ขอเตือนว่า อย่าทำตามวิธีแนะนำสั่งสอนทีปรากฎในเพจอื่นๆ ที่อ้างคำสอนของเกจิอาจารย์สารพัด
   เพราะผมอ่านแล้ว รู้เลยว่าคนพวกนี้ไม่เคยได้เฉียดฌาน ๑ เสียด้วยซ้ำ)

.แม้ออกจากการทำสมาธิ    ก็ต้องรักษาอารมณ์สงบจากการทำสมาธิตลอดเวลา ทุกอิริยาบท
   ผมทำอย่างนี้ประมาณ  เดือนเศษ
   ก็บรรลุถึงฌาน ได้ (เคยได้ไม่กี่ครั้ง ยังควบคุมไม่ได้ ไม่เชี่ยวชาญ)

.ปิติในฌาน ขอเปรียบว่า
   ดีกว่าถูกล็อตเตอร์รี่ รางวัลที่๑
   สุขในฌาน เป็นสุดยอดสุขทางกายในชีวิต ที่คนๆหนึ่งจะมีได้
   
สุขที่สุดกว่าสุขทั้งหลายที่กายจะรับรู้ เป็นสุขล้วนๆ
   (สุขทางใจที่สุดยอด คือ สันติ ความสงบ)
   อุเบกขาในฌาน
   ถ้าขณะนั้นมีคนถือดาบ ตรงเข้ามาฟันคอผมๆก็ไม่หวั่นไหว
   เป็นอุเบกขาที่ บริสุทธิ์-หนักแน่น-มั่นคงมากที่สุด


ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ในพระไตรปิฎกบางแห่ง
พระพุทธเจ้ากล่าวถึงฌานว่าเป็น ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขของพระ "
ฌาณ เป็น ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส " ได้ชั่วคราว
เพราะการจะได้ฌาน ต้องทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ ๕ - ปราศจากกิเลส 
แต่ก็อยู่ในเส้นทางของพุทธเทศนา ที่นำไปสู่การสิ้้นอาสวะได้อย่างถาวร

แต่ได้ฌานแล้วอาจติดอกติดใจ เกิดกิเลสได้
จึงต้องรู้เท่าทัน
มิฉะนั้น แทนที่จะเป็น สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นหนทางพ้นทุกข์
กลับจะกลายเป็น มิจฉาสมาธิ ซึ่งเป็นหนทางเพิ่มตัณหา-อุปาทาน แทน

ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายที่สนใจ ลองทำดู

(หลังจากลาสิกขาบท ออกมาประกอบสัมมาอาชีพแล้ว
การทำอานาปานสติของผม ไม่ประสบความสำเร็จเลย
เพราะกิจกรรมในชีวิตฆราวาส ในสังคมไทยปัจจุบันมันวุ่นวาย-มีปัญหามาก
ต้องทุ่มเทพละกำลัง-ความสามารถ-สติปัญญา-เวลาสุดๆ
ทำได้เพียงรักษากุศลจิต ละเว้นการทำบาป เพียรสร้างกุศลกรรม)


***อาการ-ความรู้สึกของร่างกาย ขณะได้ ฌาน ๔ +อภิญญาญาณอื่นๆ(ยาวมาก)
[๓๔๓] ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวก ทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญฌานสี่. ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง. ดูกรอุทายี เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงาน สรงสนาน ผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ก้อนจุรณสิ ตัวนั้นซึ่งยางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกาย นี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง....(มีต่อ)
*พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
 
รูปฌาน ๔
[๑๒๗] เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่
วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด
จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งยาง
ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้
ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า
ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ. 
จาก <http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=127&items=5>

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กลอนธรรมะ : ธรรมเภสัช

                                    


กลอนธรรมะ : ธรรมเภสัช


      อันว่ายา สรรพคุณ สมุนไพร                 แม้นสบาย ไม่ไข้เจ็บ เก็บมาฉัน
มีเส้นใย ระบายท้อง ถ่ายคล่องครัน               วิสามัญ วิตามิน ธาตุอินทรีย์

      ปลูกใกล้ครัว เป็นรั้วบ้าน กั้นขอบเขต       อายุรเวท วัฒนา วราศรี
ยามป่วยไข้ ใช้ปฐม สมฤดี                          หนักเต็มที่ รี่หาหมอ อย่ารอรัน

      อันศีลธรรม คำสามัญ สรรสรรพคุณ         เอื้ออาดุลย์ จรุญชีพ ทีปถวัลย์
เป็นครรลอง ป้องกันภัย นัยอนันต์                 เป็นมรรคบรรพ สมานใจ คลายทุกข์ทน

      ปราชญ์ยกย่อง ซ้องศีลธรรม งามประดับ    อริยทรัพย์ ใช้คับขัน ชาญขัดสน
รับรอง...ดี...มีคุณค่า ทั่วสากล                      ใครมี-ใช้ ไม่ทุกข์ทน จนกาย-ใจ

      เข้าสภา ประชาคม สมฐานะ                   ดั่งอาชา วีระอาจ ไม่หวาด-ไหว
เที่ยวเดินทาง สร้างอุดม สมฤทัย                   สู่แห่งหน ตำบลไหน ไม่ขาดแคลน

      จะมีคู่ ชู้ชม ภิรมย์รัก                            ช่วยสมัคร สลักใจ ให้แนบแน่น
ไปสู่บ้าน ท่านผู้ใหญ่ ไม่ดูแคลน                    สร้างสัมพันธ์ อันแน่นแฟ้น ทุกแดนดล

      ศีลธรรม หลักความดี ที่จิตใจ                 สืบนิสัย ไม่ละเมิด เกิดกุศล
เพียรศึกษา ปฏิบัติ วิรัชมล                           ประเสริฐผล วิมลมาด ทุกชาติเทอญ ฯ

                                                       ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓   

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กลอนคติสอนใจ : แค่ขอโทษ

                                                                                              
 กลอนคติสอนใจ : แค่ขอโทษ

     มรสุม รุมเร้า แต่เช้าตรู่                     นภาดู หู่หด สลดไฉน
เมฆาหม่น ล้น-ระ เกิบฟ้าไกล                   สุรีย์ไร้ หายลับ นับเนื่องวัน

     หยาดพิรุณ โรยริน ไม่สิ้นสาย               ละอองอาย พระพายพัด สะบัดสรรค์
อณูนอง ผ่องพลิ้ว ปลิวพราวพลัน              ปรากฏพลัน เหมือนแพรว เพราแนวไพร

     หยาดฝนพราย ไล้พรม ชโลมพฤกษ์      ป่าดิบ ลึก กึกกรน เสียงฝนไส
สัตว์เปียกปอน ซ่อนปน หายตนไป             ใต้กิ่งใบ ไม้ขจี ไม่ปรีดิ์เปรม

     ไม่มีใคร ดายเดียว อยู่เปลี่ยวเปล่า         รอบกายเรา เคล้าระคน จน-หอบเหม ฯลฯ 
สาวะเน(คำผวน) เสวนา ระอา-เอม             ขืนเครียดเข้ม เต็มที คดีความ

     แม้นเมตตา ธรรมารมณ์ ชโลมจิต          ละถือผิด คิดอภัย ในพลาดพล่าม
มีเมตตา กรุณา จินดางาม                        วุฒินาม สำนึก ตรองตรึกไตร

     อหิงสา มหธรรม ค้ำจุนโลก                 สังคมปรก อโศกป้อง ครรลองใส
มโนธรรม สัมฤทธิ์ ...พลั้งผิดไป                  แค่ง่ายๆ ใช่..." ขอโทษ "  โปรดตรองดู ฯ

                                            ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กลอนรัก : ถ้าจะรัก

                                                       

กลอนรัก : ถ้าจะรัก

      ถ้าจะรัก              ฉันจะรักคน ที่รักเป็น
คนที่แลเห็น              คนอื่นเป็นคน เช่นเดียวกัน

      จิตใจเมตตา         อ่อนโยนปานฟ้า ยามสายัณห์
เปี่ยมความคิดอ่าน        เทิดทูนปัญญา เหนือมณี

      เข้าใจชีวิต           เคารพสิทธิ เสรี
ซาบซึ้งสุนทรีย์            กระทำหน้าที่ ให้ดีงาม

      พลีเพื่อสิ่งรัก         สุขนักคืนตน ผลล้ำ
อิ่มปลื้มดื่มด่ำ              เสมออำมฤต พิสมัย ฯ

                               ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๑

กลอนคติชีวิต : น้ำค้าง



น้ำค้าง : กาพย์ยานี ๑๑

     น้ำค้าง บนฟางข้าว             อ่อนเยาว์ ราวคราวดรุณ
แสงทอง ส่องอบอุ่น                 หมอกหนาวหนุน ละมุนละไม

     คำเทียบ เปรียบน้ำค้าง         ประดุจดั่ง ร่าง-ชีพ-วัย
ชั่วคราว ยืนยาวไม่                   เพียงภาพฉาย พรายมายา

     ในยาม น้ำค้างยัง               กระเพื่อมพรั่ง บนฟางนา
มั่นคง ทรงคุณค่า                    แม้ใครว่า แค่น้ำค้าง

     ชีวิต แม้นิดน้อย                 ใช่อาจปล่อย ลอยเคว้งคว้าง
ต้องกิน-ใช้-ไข้-วาง                  อนาคต จรดชีวิต

     น้ำค้าง ลางเลือนหาย           ฤามีใคร หมายตามคิด ?
คนตาย หลายตามติด                สังสารฤทธิ์ ทรงสิทธิ์ธรรม ฯ

                                            ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐

กลอนความรัก : รักแบบแมวๆ

                                                    

กลอนความรัก : รักแบบแมวๆ

      ขอกล่าวเรื่อง เนื่องแมวโสด หนุ่มโดดเดี่ยว    หัวใจเปลี่ยว เที่ยวเอกา น่าสงสาร
ขนลายส้ม สลับขาว หางยาวปาน                       แม้นอาหาร ไม่ขาดแคลน แต่แร้นใจ

      แล้ววันหนึ่ง ซึ่งเคยฝัน ก็บรรเจิด                 จู่ๆเกิด แมวเฉิดสาว เขาปล่อยไว้
กามเทพ ไม่ทำงาน ไม่ปานใด                        เมื่อหัวใจ สานใยรัก ถักอุรา

      เหมือนดอกไม้ บานไปหมด โลกสดชื่น        วันและคืน ตาตื่นอยู่ คู่ตัณหา
ปลาเคยโปรด หมดรสชาติ ฝาด..ระอา               ประหนึ่งว่า ขึ้นสวรรค์ วิมานลอย

      เวลาผ่าน เร็ววันไว คล้ายความฝัน              ทั้งสองนั้น พันผูกใจ ไม่เสื่อมถอย
แม้แยกห่าง ในบางครา รอท่าคอย                   สักครู่คล้อย เห็นคลอเคลีย เลียกายา

      เหมือนนิยาย สายน้ำเน่า เหล่ามนุษย์             แมวใหม่ผุด ดุจคนชั่ว ตัวอิจฉา
แมวหนุ่มแน่น แมน-(รวย)-หล่อ มาล่อตา               เกิดปัญหา รักสามเศร้า น้ำเน่า..จริงๆ

      แมวเจ้าถิ่น ได้กลิ่นก่อน ร้อนใจมาก                 เดินเกร็งกราก ขนพองฟู หู-ตาหยิ่ง
สันหลังโก่ง ตรงเข้าไป ขู่ให้วิ่ง                             แมวใหม่นิ่ง ไม่กริ่งเกรง นักเลงโต

      สงครามเสียง สำเนียงกร้าว "หง่าว...หง่าว..."ขู่    แมวตัวผู้ ดูเคร่งเครียด เกลียด-โมโห
ส่วนสาวเจ้า เฝ้าผ่อนคลาย ได้ดูโชว์                      ใจเลโล โอ้...ส่งใจ ช่วยใครดี ?

      ขอตัดบท โปรดอภัย เพราะใจอ่อน                เรื่องนี้ซ่อน สัจจะไว้ ให้คตี(คติ)
มีอะไร ? มั่นใจได้ ในชีวี                                  ผู้ไม่มี ความประมาท คือปราชญ์จริง

      เสื้อผ้ามี หลากสี-แบบ ดูแยบคาย                  รองเท้าหลาย ให้เข้าชุด สุดเพราพริ้ง
คบ / รักใคร อย่าง่ายนัก รักประวิง                        " คนดี "จริง จึงพิงพัก รักหนึ่งเดียว ฯ

                                                                              ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓                       

กลอน : อากาศร้อน

           

กลอน :  อากาศร้อน

     ตาย ! ตาย ! ตายไม๊ ?                       ร้อนอะไร ใจจะขาด ขนาดนี้
ฝนไม่ตก โลกร้อนเร่า เข้าทุกที                  ฟ้าไม่มี ขี้เมฆา น่ากังวล

     ทั้งพืชผัก ผลไม้ ตายแกร็นแคระ           ไม่เว้นแม้ แม่ไก่ไข่ ให้น้อยผล
ผลผลิตน้อย คนคอยกิน ลิ้นทุรน                 เป็นเหตุหน กลไกขื่น ขึ้นราคา

     คนเกิดมาก แส่อยากหลาย ทำร้ายโลก    แย่งบริโภค กิน-ใช้-ทิ้ง สร้างวิหิงสา
เมื่อธรรมชาติ ขาดสมดุล พูนนานา              ลงอาญา แก่มนุษย์ ที่สุดไป

     สภาวะ อากาศร้อน ไม่ผ่อนผัน             ยังโทษทัณฑ์ พลันพายุ อุทกภัย
ดินถล่ม ถมธานิน แผ่นดินไหว               แมลงร้าย โรคใหม่อุบัติ ฯลฯ พิฆาตคน

     ป่านฉะนี้ มากมีคน ไม่สนใจ             ผลาญต่อไป ไม่บันยัง สร้างทุรผล
ธรรมชาติ พินาศไป จะไหววน               อาเพศดล แก่คนสิ้น ดิ้นตายเอยฯ

                                                              ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓

กลอนธรรมะ : ธรรมรำพัน


                        
กลอนธรรมะ : ธรรมรำพัน

      แม้ฟ้าสาง ยังเมฆฝน ท้นทั่วฟ้า              สุริยา ระเรื่อเรือง ไม่เปลื้องหนาว
ทานตะวัน ดอกหันหา รอท่าคราว                 วัวควายก้าว ชิงเช้าออก จากคอกพัก

      ฝนห่าหนัก มักผ่านไว ไม่ตกนาน            สุขสำราญ โศกศัลย์ใหญ่ ไวกว่านัก
หลังฝนซา ป่าเบิกบาน ลำธารขวัก                 ปัญหาจาก กวักกมล เริ่มต้นใหม่

      กตัญญู รู้ตอบแทน แสนประเสริฐ            แต่ละเมิด หลักศีลธรรม อย่าทำให้
คนให้ก่อน เพื่อย้อนผล ท้นทั่วไป                 นับไม่ได้  ว่าให้ทาน = การลงทุน

      ทำดีให้ ใครไม่เห็น ใช่เร้นหน                กฎกรรมยล ดลผลกลับ หาสาบสุญ
คนรักใคร่ ในความดี ล้วนมีบุญ                     กุศลคุณ สู่คติ สุขีไป

     โลกย์ยกย่อง ยศทองคำ เงินอำนาจ          แต่นักปราชญ์ ศรัทธ์ศีลธรรม ความรู้ไซร้
โลกย์ภักดี ผู้มีบุญ เทิดทูนใจ                       ปราชญ์รักใคร่ ใครทำดี มิผันแปร

     ยามรวยร่ำ เรืองอำนาจ วาสนา                 คนแปลกหน้า ยังนับญาติ ไม่ขาด(ตอ)แหล
ยามสิ้นยศ หมดอำนาจ อนาถแล                   แม้แต่...ญาติ ยังตัดเยื่อ ไม่เหลือใย

     อย่าแน่ใจ อะไร"แน่" แม้แต่ตน                กระแสชล ยลใหญ่กว้าง ยังย้อนไหล
โลกไพศาล ผันแกนเอียง เพียงกาลไกล         ประสาอะไร หัวใจคน จล-จร-แจ

     สถานะ(ภาพ) หาทำให้ เป็น(อะ)ไรไม่ !    ทำอะไร ? อย่างไร ?เห็น เป็น(อะ)ไร ?แท้
"ผู้ปกครอง"? ไม่ป้องภัย ใจเชือนแช              เป็น "ญาติ"? แต่ ไม่แลเหลียว ไม่เกี่ยวรัด 

     เกิดเป็นลูก ไม่เชื่อฟัง ยังเรียก "ลูก"?        ไม่พันผูก คลอดลูก...ทิ้ง ยิ่งกว่า "สัตว์" !
หลอก-รีดไถ ใช่ "พิทักษ์ สันติรัฐ "?               ทำร้ายชาติ ขัดชื่อกว่า "ประชาชน"?

      "ความรัก"ต่าง ห่าง"ความใคร่" อย่าได้หลง      "รัก"ธำรง ตรง-จิตใส ไม่สับสน
"ใคร่"ร้อนเร่า เมา"กาย-กาม" ดำมืดมน            "รัก"เลอผล "ใคร่"ท้นโทษ โปรดทัศน์นัย

      แม้นอึดอัด เพราะขาดแคลน แร้นที่อยู่        ควรคิดสู่ ลู่สลับ ขยับไข
แม้นอับจน ไร้หนทาง ยับยั้งใจ                       อดทนให้ รอได้ที คลี่คลายกัน

      การเลือกเกิด ใครเลือกตาย ไม่ได้ดอก       อยู่เหนือนอก คนใดๆ ใคร่เสกสรรค์
แต่การใช้ วัยชีวิต คิดสำคัญ                          อย่าย่อหย่อน รู้ผ่อนผัน ด้วยปัญญา

      โลกย์โฉดร้าย คิดใช้คน เพื่อผลประโยชน์  ล่อ-หลอก-ปด โฉด-เอาเปรียบ เหยียบย่ำค่า
หมดประโยชน์ ปลดระวาง ร้างราคา               แล้วมองหา มาแทนใหม่ ใช้เหมือนเดิม

      เทียบฤกษ์ดาว พราวระยับ กับรัชนี           แม้นไม่มี รังสีสู้ ดูห่างเหิม
แต่ประกาย ใสแวววาว ดาวแต่งเติม               งามหยาดเยิ้ม เจิมนภา ราตรีกาล

      มวลคนดี มีศีลสัตย์ อาจยากไร้               แม้นไม่ได้ เปรียบปลายก้อย พาลถ่อยฐาน
แต่ความงาม ของความดี มีตระการ               ดุจแรมวาร ดารสุกใส ดาวพรายเพรียง

      การปลงใจ ให้ยอมรับ กับ"มี-เป็น"           ต่างประเด็น "เห็นดี-งาม" ตามลำเอียง
กิเลสมัก ชักนำใจ ไกลธรรมเที่ยง                 ยินแต่เสียง กระซิบบอก หลอก...มายา

      การหมกมุ่น มัวครุ่นคิด อดีตยึด              อย่าประพฤติ จะผิดพลาด อนาถหนา
อันอดีต ควรมีไว้ ให้พิจารณา                      เพื่อศึกษา หาบทเรียน เพียรต่อไป

     มองชีวัน กาลข้างหน้า อนาคต                อย่าละลด หมดกำลัง หวังจุดใฝ่
แม้เดินช้า สะดุด/เบน ไม่เป็นไร                     เพียงตั้งใจ ทำให้ดี สุดฝีมือ

     คนมุ่งดี มิย่อท้อ ต่อข้อง-คับ                    ชนสดับ จับศรัทธา จารึกชื่อ
ภูมิใจตน คนคุณค่า งามระบือ                        ชนยึดถือ คือตัวอย่าง ตั้งใจตรำ

     ให้ความรัก หักอาหาร การศึกษา              ไม่นำพา สัตว์ยอมเทิด เกิดศีลธรรม
ให้รางวัล อ้างจรรยา หาน้อมนำ                     ต้องหลอก-อำ "พาล"เลื่อมใส ในศาสดา

     "ความสงบ" สร้างสง่า น่าเลื่อมใส             ชนเกรงใจ ในอำนาจ แห่ง"ปัญญา"
"ความเที่ยงธรรม" นำเคารพ สบพิชยา            "ความเมตตา" ผูกใจให้ รักไม่เลือน

     กวีบท สะกดใจ ใกล้สุนทรีย์                   เสพความดี ที่ทำ...ให้ หายเศร้าเคลื่อน
การศึกษา ขำระใจ คลายมืดเหมือน               ปลง-ละ-ลืม เตือนดับร้อน ถอนโลกย์รก

     รู้สึก"ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี " = มีวุฒิแท้            ปริญญาแค่ แง่หางาน กันวิตก
ใครจะสน? คนชรา ชอบลามก                      คิดสกปรก ประพฤติทราม แล้งน้ำใจ

      สร้างความคิด วิจิตรจรัส ประภัสสร           อย่าสำส่อน อกุศล มลทิน-ไถย
คิดถูกต้อง ทำนองธรรม งามพิไล                  สวยจากใจ หน้าใสผ่อง ชวนมองเอยฯ
                                                         
                                                                    ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

กลอนธรรมะ : สิ่งตรงข้าม

                      

กลอนธรรมะ : สิ่งตรงข้าม

      ความมืดมน คนละข้าง สว่างไสว         สีดำใด ใช้ผสม ระดมขาว
สั้นเพียงใด ยิ่งไกลซ้ำ ย้ำความยาว            ยิ่งร้อนร้าว เท่าย้อนเย็น เป็นธรรมทัศน์

      เรื่องธรรมดา อันธพาล เบื่อบัณฑิต       คนทุจริต เกลียดคนซื่อ ถือศีลสัตย์
คนฟุ่มเฟือย ชังกมล คนมัธยัสถ์                ตระหนี่ขัด เคืองคนดี มีน้ำใจ

      จึงไม่มี คนดีใด ไร้ริปู                       จากมวลหมู่ ทุศีลสัตย์ ตระบัดไถย
ยิ่งรับรอง ส่องให้เห็น ใคร ?... เช่นไร ?       ปล่อยวางไป อย่าวายวุ่น ขุ่นเคืองเลย

      สีดำช่วย อวยขาวเด่น เห็นสะอาด        คืนแรมผัด ดาวสาดแรง แสงผ่องเผย
คนเลวทราม ค้ำคนดี ดีกว่าเคย                 คนโง่เอ่ย เชยภาษิต วิจิตรจริง ฯ

                                                                       ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

กลอนธรรมะ : สุขเพราะ...



กลอนธรรมะ : สุขเพราะ...

    ฝันถึงโลก ที่โศกไร้ ไม่เบียดเบียน             ผู้คนเพียร การกุศล กมลใส
ไม่แก่งแย่ง แข่งครอบครอง ป้องกันภัย           ไร้กฎหมาย ได้กฎกรรม ค้ำปกครอง

   มีสิทธิ เสรีภาพ ไม่สาบสุญ                       เกื้อการุณ เพราะคุณธรรม งามแผ่ผอง
ภราดร สะท้อนภาพ ประดับทอง                    วิชชาส่อง เรืองรองโลก วิโยค ลา

   สุขเพราะลด "โลภ-โกรธ-หลง" ส่งจิตสูง       สุขเพราะมุ่ง จูงจอง"อยาก" ตรำหนักหนา
สุขเพราะใจ ใสสงบ พบปัญญา                     สุขเพราะหา จากภายนอก ย้อนยอกใจ

   ทรัพย์ภายนอก เหมือนหลอกลวง ต้องหวงแหน    ช่างคลอนแคลน แร้นคงมั่น ชวนหวั่นไหว
ทรัพย์ในจิต สุจริตครอง เรืองรองไร                ทนทุกภัย ใสฤดี อริยทรัพย์

   คือคุณธรรม ใจงามดี ที่ประเสริฐ                ทรัพย์เลอเลิศ ค่าเฉิดฉาย ในสิ่งสรรพ
ผู้ใดครอง ต้องยินดี "อริยะ"นับ                     กุศลซับ สุขจับจิต เป็นนิจนาน

   เป็นธรรมดา สาธุชน จะยลเห็น                  แต่ลำเค็ญ เดนทุรชน คนบาปหาญ
ยากเข้าใจ ไม่เข้าถึง ซึ้งธรรมธาร                  วัฏฏ์สังสาร จึงพันผูก ทุกข์ต่อไปฯ

                                                                   ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓