ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

รวย-งามแต่ต่ำค่า : กาพย์ยานี๑๑



รวย-งามแต่ต่ำค่า : กาพย์ยานี๑๑


    ดอกหญ้า กลางนาข้าว....................ก้านยื่นยาว ราวแข่งขัน
อวดช่อ รอประชัน...............................กับรวงข้าว เพราเพริศพี

    สวยสด ประโมทย์ทรวง...................ขาวอมม่วง ห้วงหรรษ์สี
ฝอยฟู ดูนุ่มดี....................................แต่ไม่มี ค่าอันใด

    หากเปรียบ เทียบรูปลักษณ์.............ข้าวคงจัก ยากเคียงได้
หากตรอง ค่ารองใคร.........................ข้าวยิ่งใหญ่ ในปัฎพิน

    รวงข้าว ราวกับคน.........................(ความ)สามารถล้น กมลถวิล
ประโยชน์  ปรากฏยิน.........................แผ่นดินใหญ่ ได้พึ่งพา

    ช่วยเหลือ ชอบเผื่อแผ่...................ไม่เห็นแก่ ตัวตนกล้า
เกิดกาย ใช้ชีวา................................คงคุณค่า น่าคำนึง

    เทียบใย ถ้าใครยล.........................เพียงรูปล้น พิมลรึ้ง(พิมล=งาม,ไร้ตำหนิ)
ความดี มิตราตรึง...............................รำพึงโจษ (เฉพาะ)ประโยชน์ตน

    กอบโกย ให้โหยหา........................แต่อัตตา มหัทธน์ผล(มหัทธนะ=ความมั่งคั่ง,มั่งมี)
อื่นใคร ไม่คิดยล................................กมลมัว มืดชั่วมี

    รวย-งาม แต่ต่ำค่า..........................นับชีวา น่าบัดสี
อัปยศ สลดฤดี...................................เสมอค่า ดอกหญ้าเอย ฯ

๓๐ กันยายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ความเหลื่อมล้ำ : กาพย์ยานี๑๑



ความเหลื่อมล้ำ : กาพย์ยานี๑๑


    เดี๋ยวลม เดี๋ยวฝนร่ำ...................รุกกระหน่ำ กระแสหนุน
เดี๋ยวพัด เดี๋ยวสาดพรุน...................พนัสดุล โดนทำลาย

    พายุ ผันสู่เหย้า.........................โพยมเศร้า สุรีย์หาย
ความเย็น ชื้นเค้นกราย....................สยายทั่ว ทั้งอรพี(อรพี=แผ่นดิน)

    หยาดฝน จลจากฟ้า...................ร่วมธารา ประสานศรี
หลั่งตรง ลงนที.............................ชีวีหลาย ใช้แบ่งปัน

    โลกา ผลประโยชน์....................ความรุ่งโรจน์ ประโมทย์สรร
มากมี แม้ชีวัน...............................ทั่วกันได้ ใช้-อยู่-กิน

    หากแต่ แห่แหนเห็น-..................แก่ตัวเป็น เช่นถวิล
หมายจอง ครองแผ่นดิน..................สินทรัพย์ตวง ห่วงแต่ตน

    โลกใหญ่ ทั้งใบก็.......................มิเพียงพอ ต่ออกุศล
ของคน แค่บางคน..........................วิกลเกิน เพลิดเพลินไกร

    เสาะทรัพย์ ขับ(เคลื่อน)ชีวิน.........เสาะที่ดิน เอื้ออาศัย
ที่เหลือ เผื่อแผ่ไป..........................ให้ดื่นคน ได้ดลครอง

    มั่งมี ค่านิยม..............................จะระดม ความเศร้าหมอง
เหลื่อมล้ำ สูง/ต่ำตรอง.....................ช่องทางแข่ง แบ่งชั้นชน ฯ

๒๙ กันยายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ชีวิตใช้ให้คุ้มค่า : กลอนเจ็ด



ชีวิตใช้ให้คุ้มค่า : กลอนเจ็ด


    นับแต่ นภา (ยัง)ไม่กระจ่าง....................นกต่าง หลั่งไหล ไขขับเสียง
เพริศพราย สายพันธุ์ ขันแข่งเพรียง..............ร้องเรียง เพลงรับ สดับไกร

    สัญญาณ วารว่า อุษาโยค......................เบิกโลก วิจิตร ชีวิตศรัย
ประเดิม เริ่มเห็น ค่อยเป็นไป.......................ก่อนสูรย์ บูรณ์ไต่ พ้นไพรวัน

    เช้านี้ สิทำ กรรมประดิษฐ์?.....................ต่างคน ต่างคิด พิศใฝ่ฝัน
ต่างมี ค่านิยม สมสั่งกัน.............................ต่างสรร ต่างสร้าง แตกต่างมี

    ปรากฏ บทบาท ให้ทัศนา......................คุณค่า ของคน ตัวตนนี้
หาสุข ใส่ตัว มัวฤดี...................................หรือพร้อม น้อมพลี พิจิตรกรรม?

    ใช้ทรัพย์ อัปมาณ์ เพื่อระเริง...................บันเทิง ชีวัน ตัณหาส่ำ
ประโยชน์ ส่วนตน สนใจทำ........................สาธารณ์ วันค่ำ มองข้ามกราย

    พอมี บ้างหรือ ถือประจง?......................จำนง คงรัก มักขวนขวาย
ผลิต ผลงาน อันเพริศพราย........................เพื่อแล แพร่หลาย ให้โลกา

    บังเกิด คำถาม มาตามต่อ.......................อย่างไร ไหนส่อ พอใจหา?
อยากทำ กรรมกิจ พิจารณา.........................คุ้มค่า ชีวิน ชินชากัน

    ไม่มา ละเหี่ย เสียชาติเกิด......................ประเสริฐ สมใจ ดั่งหมายมั่น
ไม่คิด เสียดาย ในชีวัน...............................ก่อนสิ้น อาสัญ สังขารเอย ฯ

๒๘ กันยายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

การทำบุญ : โคลงสี่สุภาพ



การทำบุญ : โคลงสี่สุภาพ

. คนไทยใคร่เคยคุ้น..................บุญงาน
ตลอดปีมีแต่กาล.......................ทานให้
พระ-วัดจัดชำนาญ.....................ชาญจิต
เป็นพาณิชย์กิจไซร้....................บุญอ้างแลกเงินฯ

. (คนให้)เพลินใจไปว่าได้...........ทำบุญ
เสมือนเติมเสบียงตุน...................เปรียบล้วน
อธิษฐานกุศลหนุน......................บุญขับ
ลาภ-ยศ-สรรเสริญถ้วน................คืนข้าอนาคตฯ

. สลดใจทั้งผู้ให้........................ผู้รับ
ถือเอาเงินดำเนินนับ....................ขับสร้าง
ศีลธรรมมิสำทับ.........................สำเหนียก
เรียกหาวิมานกว้าง......................ใหญ่ตั้งสวรรค์รอฯ

. หากคำขอสมด้วย....................จินตนา
บนสวรรค์คงดาษดา....................พ่อค้า
อำมาตย์ทรงศักดา......................ทุจริต
คนจนหมดสิทธิ์ท้า......................ทายฟ้าแดนสรวงฯ

. (สรุปว่า)คือคำลวงล่อให้............เงินหา
(ทั้งๆที่)ธรรมวินัยถือเงินตรา...........ต้องห้าม
(พระ)กิน-อยู่อย่างราชา.................เปี่ยมสุข
ทำท่าทางวางกล้าม.....................ดั่งผู้เหนือคนฯ

. บุญดาลดลด้วยศีล....................ภาวนา
คนสามัญธรรมดา.........................ต่ำต้อย
เปลี่ยนเป็นพระอริยา.....................วิเศษ
หมดกิเลสตัณหาคล้อย..................เลิศล้ำอรหันต์ฯ

. ทำบุญโดยไม่ต้อง.....................เสียสตางค์
ฝึกจิตมิจฉาถาง............................ชั่วไร้
ที่สุดกุศลหนทาง...........................อุกฤษฏ์
มีสิทธิ์ทุกคนไซร้...........................แค่ให้ทำดีฯ

๒๗ กันยายน ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ความยับยั้งชั่งใจ : กลอนแปด



ความยับยั้งชั่งใจ : กลอนแปด

    การที่เท้า  ก้าวพลาด ประหวัดผิด...............ยังมีสิทธิ์ ถอยหลัง ตั้งต้นใหม่
แต่ถ้าพลัด ตกผา อย่าหวังใจ.........................จะหวนคืน มาได้ ไม่มีทาง

    การดำเนิน ชีวิต ที่ผิดพลาด......................(บ่อยครั้งที่)มีโอกาส แก้ไข ไม่ขัดขวาง
แต่ที่ต้อง เสียใจ จนวายวาง..........................ย่อมมีบ้าง อย่างไร ควรไต่ตรอง

    หากทบทวน หวนคิด ข้อผิดพลาด..............มักพบว่า สามารถ จะปัดป้อง
เมื่อไร้เหตุ (ย่อม)ไร้ผล กลไกกรอง.................แต่ที่ต้อง ผิดพลาด เพราะอาตมา(อาตม-=ตน)

    ถ้าหยุดยั้ง ชั่งใจ ให้ทันเจตน์.....................ปฏิเสธ เหตุอัน ก่อปัญหา
คิดรอบคอบ กรอบกรรม์ เกิดปัญญา................ประพฤติดี จริยา เป็นปราการ

    มิบุ่มบ่าม ย่ามใจ ภัยยากเกิด......................มิเลยเถิด ละเมิดกฎ พยศหาญ
มิอวดดี นิสัยดื้อ ทื่อ ดักดาน..........................มิชั่วช้า สามานย์ สันดานดล

    คงไม่ต้อง ระกำ น้ำตาตก..........................ร้อนเร่ารุม สุมอก ตระหนกล้น
คงไม่พาน ปัญหา สาละวน............................พบวิกฤติ จิตวิกล จนปัญญา

    แค่ยับยั้ง ชั่งใจ เอาไว้ก่อน........................ไม่รีบร้อน หุนหัน เห็นปัญหา
หัดรู้จัก หักห้าม มิตามอุรา.............................สุจริต พิจารณา สาระใน

    จะปลอดโปร่ง โล่งจิต ปลิดทุกข์เหตุ............ปฏิเวธ เจตนา อดิศัย(ปฏิเวธ=ลุล่วงผลปฏิบัติ)
มีชีวิต สิทธา สาธุไท....................................เป็นอยู่อย่าง ร้างไกล ไร้กังวล ฯ

๒๖ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

ปล่อยวางบ้างเถิด : กลอนคติสอนใจ



ปล่อยวางบ้างเถิด : กลอนคติสอนใจ

    เมฆพร้อย ลอยผ่าน.....................บันดาล บาลบ่ม ร่มเงา
ครู่เดียว เปลี่ยวเปล่า.........................แสงแดด แผดเผา ราวไฉน
ละเลย อุรา.....................................ดีกว่า จะมา ใส่ใจ
กับเรื่อง เกินไกล.............................เกินให้ สามารถ จัดแจง

    ชะตา ชีวิต..................................บ่อยครั้ง ช่างคิด ไม่ตก
เรื่องรุม สุมอก..................................เรื่องรก รุงรัง ฝังแฝง
เกินกรรม ดำริ..................................เกินสติ ปัญญา จะปรับแปลง
กระทบ ตบแต่ง................................เสียดแทง แรงเร่า เผาทรวง

    เท่าที่ ทำได้................................ทำใจ ได้แต่ ปล่อยวาง
หลายสิ่ง หลายอย่าง.........................โลกกว้าง สร้างไว้ อย่าไปห่วง
อิทธิพล คนหลาก.............................ฉุดกระชาก ดักไส ใดปวง
ประทุ ลุล่วง.....................................สู่ห้วง ปัญหา สาธารณ์

    เท่าทัน ปัญหา.............................บากบั่น ปัญญา ปรารภ
ทำใจ ให้สงบ...................................บรรจบ ขบคิด จิตศานติ์
กุศล สำรวม.....................................สวมรับ กับสถา นการณ์
กังวล พ้นผ่าน..................................กังวาน บานเบิก เกริกทวี

    บางอย่าง หวังได้..........................บางอย่าง อย่าได้ ไปหวัง
ทำเกิน กำลัง....................................จะยัง ทุกข์ใหญ่ ไร้สุขี
มองเป็น เวรกรรม..............................ทำใจ อย่าไป โศกี
โสมนัส ทัศนีย์..................................สวัสดี ปรีชา ประชัย

    ปล่อยวาง บ้างเถิด.........................ประเสริฐ ประสิทธิ์ จิตรา
บริหาร ชีวา......................................ใช่ว่า จะตะลุย ดุ่ยๆไม่
รู้เร่ง รู้ผ่อน.......................................รู้หย่อน รู้หยุด ฉุดใจ
รู้สัจ วิสัย.........................................ทำให้ สอดคล้อง ต้องการณ์เทอญ ฯ

๒๕ กันยายน ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

แล้วใจเราจะเบาสบาย : กลอนหก



แล้วใจเราจะเบาสบาย : กลอนหก

    ฝนกระหน่ำ หลังยามบ่าย.................เหมือนส่งท้าย เพื่อไพรสัณฑ์
ที่ขาดน้ำ ข้ามเดือนวัน..........................ให้หฤหรรษ์ สายัณห์เย็น

    เมฆฝนคล้อย ลอยลาจาก..................อุ้มน้ำมาก ใหญ่-หนักเห็น
กลับลอยได้ ไร้ลำเค็ญ..........................โดดเด่นเป็น ณ ปัศจิม(ปัศจิม=ทิศตะวันตก)

    อยู่บนโลก ใบเดียวกัน.......................ต่างประจัญ โศกศัลย์-ยิ้ม
ต่างพบยาม ความอด-อิ่ม.......................ต่างเปรมปริ่ม ประสบปอง

    มีโลกธรรม์ สัมพันธ์ทอด....................เวรกรรมสอด รับสนอง
มีสิ่งหวัง ตั้งใจจอง...............................เป็นครรลอง ครองชีวา

    ความยากเย็น เป็นเรื่องใหญ่...............กว่าจะได้ ดังปรารถนา
ต้องดิ้นรน โดนน้ำตา............................ไหลอาบหน้า ระอาจินต์

    พอใจเท่า ที่เราได้...........................ที่เราไม่ ไล่ถวิล
มิรันทด ลดมลทิน................................จากชีวิน จินดามัย

    รู้จักอด รู้จักทน...............................รู้จักจน(กว่า) จะพ้นได้
รู้จักทำ ความเข้าใจ.............................ในสัจจา ปัญญาเจริญ

    แล้วใจเรา จะเบาสบาย.....................ลำเค็ญหาย คลายห่างเหิน
แล้วเวลา จะดำเนิน..............................อย่างเพลิดเพลิน มิเกินการ ฯ

๒๔ กันยายน ๒๕๕๘

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ดอกไม้เปรียบได้ดั่งคน : สาลินีฉันท์



ดอกไม้เปรียบได้ดั่งคน : สาลินีฉันท์

    ดอกไม้ ไร้กลิ่นหอม.......................มิชวนดอม ถนอมดม
กล่าวใย (กลิ่น)คล้ายอาจม...................วิกรมอยาก สิผลักไส

    มาลี มีกลิ่นหอม.............................นราจ่อม ภิรมย์ใจ
อุตส่าห์ หามาให้................................ขจิตใช้ ณ เรือนชาน(ขจิต=ประดับ,ตกแต่ง)

    ดอกไม้ ได้เทียบยล........................เสมือนคน วิมลขาน
แต่งเสริม เติมบันดาล..........................สะคราญใคร่ พิไลมี

    หากแต่ ดวงแดตัด..........................มิซื่อสัตย์ สะบัดศรี
ความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี...........................มิประจักษ์ สลักใจ

    สวยแล แต่เพียงรูป.........................จะน่าจูบ สิหาไม่
ทำตัว ชั่วชาญชัย................................นิสัยทราม ประณามทรวง

    มาลี มีโสภา...................................สุคนธา คณาหวง
เทียบได้ ดั่งใครดวง-............................ฤดีงาม อร่ามดล

    ศีลสรร จรรยาสัตย์...........................วิสุทธิ์ทัศน์ มนัสท้น
ช่วยเหลือ เผื่อแผ่ชน............................กุศลร่า และอารี

    ปองเห็น เป็นที่รัก............................ประเสริฐศักดิ์ สมัครศรี
ย่อมได้ ซึ่งไมตรี..................................สวัสดี สุขีเอยฯ

๒๓ กันยายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

วิถีเบาสบาย : กลอนแปด



วิถีเบาสบาย : กลอนแปด

    เมื่อกิเลส ระงับ ไม่จับจิต..................กระบวนกรรม ความคิด ประสิทธิ์สม
เกิดสติ ปัญญา เหนืออารมณ์..................อธิคม บ่มเพาะ เสาะวิมล(อธิคม=การบรรลุ)

    เมื่อตัณหา มาห่าง มล้างเบา...............ย่อมบรรเทา เหง้ากราก รากอกุศล
ความอยากมี อยากเป็น เร้นเวียนวน..........ดั่งโลกา สากล ล้นโสภา

   เมื่ออกุศล พ้นไกล ไปจากจิต..............ดูชีวิต พิษภัย ไม่หนักหนา
หยุดกระเสือก กระสน บนมายา................ใช้ชีวา สะดวก บวกสบาย

    หลักผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี-มีประโยชน์...............บำบัดโทษ โฉดเขลา เบากระหาย
(สิ่งที่)ไม่จำเป็น ไม่มี มิเสียดาย................เดิน-กิน-นอน ผ่อนคลาย ไม่กดดัน

    ไม่กระทำ กรรมชั่ว พัวพันผิด................ไม่ทุจริต มิจฉา มนกระสัน
ไม่ต้องกลัว ต้องโทษ หมดห่วงทัณฑ์.........ไม่ต้องหวั่น วิตก อกตรอมตรม

    ทำในสิ่ง ที่ดี ที่ถูกต้อง........................ตามทำนอง คลองสัต พิพัฒน์สม(สัต=ดี,งาม)
มีสติ สัมปชัญญะ ละโง่งม........................ความระทม ขมขื่น ดื่นดับไป

    ปรารถนา อารี มีเมตตา.......................ไม่อิจฉา ตาร้อน นอนหลับใหล(ง่าย)
ตื่นเช้ามา สมาคม สังคมใคร.....................มิเป็นพิษ เป็นภัย ไร้ศัตรู

    แต่บางครั้ง บางคราว เราก็ถูก...............คนชั่วผูก พิพาท (จง)องอาจสู้
คนชั่วชอบ เบียดเบียน เพียรพันตู..............สิ่งสัจอยู่ คู่หล้า และฟ้าเอยฯ

๒๒ กันยายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ใฝ่สูง/ใฝ่ต่ำ : กลอนเจ็ด



ใฝ่สูง/ใฝ่ต่ำ : กลอนเจ็ด

    เขาสูง พุ่งชัน ดั้นด้นเมฆ....................อเนก อนันต์ ทะยานใหญ่
หุบเขา เล่ากลับ หวนลับไกล..................ลึกใต้ สมุทร สุดโลกา

    ชีวิต กิจกรรม ใจกำหนด....................บาทบท ลดหลั่น ตามตัณหา
นิยม สมสั่ง ตั้งเจตนา............................มุ่งมั่น ฝันหา จิตราลัย(จิตราลัย=จิต+อาลัย)

    ใฝ่สูง มุ่งศีล ระบิลธรรม.....................น้อมนำ สัมฤทธิ์ จริตใส
อกุศล มลทิน สาปสิ้นไป........................หัวใจ หาญกล้า หาเลิศคุณ

    ทัศนะ วิสัย ไกล-สูง-กว้าง..................เสริมสร้าง วิชชา มนาสุนทร์
เว้นบาป สดับทำ แต่กรรมบุญ..................เอื้อเฟื้อ เจือจุน หนุนเนื่องดี

    สุจริต จิตวาง ใจตั้งมั่น.......................ศีลธรรม์ จรรยา วัตรศรี(วัตร อ่าน=วัด-ตระ)
พัฒนา หทัย ให้โสภี..............................อวิรุทธ์ สุทธี คติธรรม(อวิรุทธ์=ไม่ผิดพลาด)

    อย่าคอย ก่อกรรม ตามกมล.................เฝ้าเห็น แก่ตน รนใฝ่ต่ำ
ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี มิจดจำ...........................น้อมนำ สำคัญ กรรมาครวญ

    ไม่มี ศีลธรรม สัมมาสัตย์.....................ตระบัด สาไถย จิตขวายขวน
ราคี นิยม ชมชื่นชวน..............................เรรวน ปรวนแปร ไม่แน่นอน

    ทำตน ฉลชั่ว คบชั่วชน.......................ไม่อด ไม่ทน รนเร่าร้อน
ทุจริต คิดโกง จำนงจร............................นิ่งนอน อ่อนใจ ไร้คุณธรรม

    มิรู้ หลักธรรม์ และจรรยา.....................(ย่อม)ไร้ปัญญา เข้าใจ ใครสูง/ต่ำ
เชิดเป็น ไฮโซ (แต่)โลว์กิจกรรม...............ระยำ ทำชั่ว มัวเมาเอยฯ

๒๑ กันยายน ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

ความคน : โคลงสี่สุภาพ



ความคน : โคลงสี่สุภาพ

. ฝนตกตรำแต่เช้า...................ชระมัว(ชระมัว=ขมุกขมัว)
หยาดร่ำหยดระรัว......................รดพื้น
ตรองตรึกสำนึกตัว.....................คืนสติ
สัมปชัญญะพละฟื้น....................กลับรู้สึกตนฯ

. อยู่บนมรรคาสู้........................ชีวิน
หาอาหารการกิน........................กรอกท้อง
ทำงานเพื่อเงินสิน......................ทรัพย์สู่
อุตสาหะมานะส้อง......................สอดคล้องความคนฯ

. ประจญสิ่งแวดล้อม..................วิปริต
สารพัดมลพิษ............................รอบด้าน
ประหลาดคนจลจริต....................ประหลาด
โลกธาตุสะเทือนสะท้าน...............ดิน-น้ำแปรปรวนฯ(โลกธาตุ=แผ่นดิน)

. ยวนใจจิตคิดคล้อย...................สัญชาตญาณ
ชีวิตคู่ชูประมาณ..........................ชีพต้อง
กำเนิดลูกปลูกหลาน.....................เป็นกิจ
สัมฤทธิ์สมจิตข้อง........................สุขได้สักกี่คน?

. เอาตนเป็นที่ตั้ง........................ตราตรอง
ค่านิยมสังคมครอง.......................ควบเข้า
ความสุขสนุกปอง........................แส่สรรพ
ทรัพย์-ศักดิ์-สรรเสริญฯลฯเป้า........หมายใช้ชีวินฯ

. ศีลธรรมมินำน้อม......................นับถือ
ประโยชน์ส่วนตนคือ......................ปรัชญ์เกล้า
เอารัดเอาเปรียบฤา........................เป็นคติ
อภิสิทธิ์อิฏฐาเฝ้า..........................ฟูมเบ้าปลูกฝังฯ(อิฎฐ-=เป็นที่ปรารถนา)

. หวังสิ่งเหลือเชื่อใช้....................โชคลาง
เพียงสุดหมายปลายทาง.................ชีพม้วย
สัจจะเสมือนเลือนราง.....................ลิขิต
ชีวิตปิดฉากด้วย............................ไม่รู้อะไรฯ

๒๐ กันยายน ๒๕๕๘

ทอดผ้าป่า : กาพย์ยานี๑๑



ทอดผ้าป่า : กาพย์ยานี๑๑

    ผ้าป่า ครั้งพุทธกาล.....................พระ(สงฆ์)อธิษฐาน ผ้าเขาทิ้ง
แก้ไข ใช้ประวิง.................................ปิดบังกาย ไม่อายชน

    ผ้าป่า สมัยนี้.................................ทอดกันถี่ มีทกหน
ทั้งปี กระทั่งจน..................................เข้าพรรษา มิรามือ

    มุ่งหมาย ได้เงินมา.........................มิใช่ผ้า พากันถือ
โรงเรียน เปลี่ยนไกลฤา?......................ฮือทอดผ้า แข่งวาวัด

    แปลกใจ ใช้ศาสนา.........................เพื่อบังหน้า เพาะอสัตย์
ทุจริต เป็นกิจวัตร................................ประจำชาติ อุบาทว์เชียร

    อย่าใช้ วิธีฉล.................................สร้างกุศล กมลเปลี่ยน
ซื่อตรง จงพากเพียร............................จำเนียนจิต ทำผิดกลัว(กลัวการทำผิด)

    กรรมดี วิธีใช้..................................ต้องไม่ใช่ วิธีชั่ว
เลิกเป็น (คน)เห็นแก่ตัว........................มัวเมาสู่ มุสากัน

    หยุดแอบ อ้างศาสนา........................เพื่อบังหน้า สนองกระสัน
จิตใคร ไร้คุณธรรม์...............................นั้นเป็นบาป จงกลับใจ

    อยากหา เงิน(จง)กล้าบอก.................อย่ากลิ้งกลอก หลอกสาไถย
ปรารถนา จะเรี่ยไร(เงิน).........................หยุดใช้ " ทอด ผ้าป่า "เทอญฯ

๑๙ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

คิดให้ตรงปลงให้ตก : กลอนคติสอนใจ



คิดให้ตรงปลงให้ตก : กลอนคติสอนใจ

    ลมฝน กระโชก...................เขย่าโยก ก้านใบ ไพรพฤกษ์
ครันยาม ค่ำดึก..........................ก้องกึก พลา น่าเกรงขาม
รวงข้าว เริ่มโต...........................ลมโล้ ล้มคลุก ลุกลาม
ปรากฏ หมดงาม.........................จมน้ำ จำนน จนใจ

    คนเรา ล้วนต่าง......................สร้างสรรค์ ตัณหา นานัตว(นานัตว=อ่าน นา-นัด=ความเป็นต่างๆ)
ชีวะ ปฏิบัติ................................อุรา สารพัด อัชฌาสัย
หลากสิ่ง สมหวัง.........................หลายสิ่ง พลาดพลั้ง ห่างไกล
ปลงเห็น เป็นไป..........................เท่าที่ ทำได้ ตั้งใจทำ

    ปัญหา เศรษฐกิจ....................ปัญหา ชีวิต อุปสรรค
สัจจะ ตระหนัก...........................ตามหลัก เหตุ-ผล หนล้ำ
สุจริต จิตใจ...............................ตรงไป ตรงมา สารธรรม
พิบุล หนุนนำ..............................ก้าวข้าม บำบัด วัฒนา

    เพราะใจ ไม่ซื่อ.......................ไม่ถือ สัมมา สุจริต
คดโกง คงจิต..............................ประดิษฐ์ วิตถาร ปัญหา
ความโง่ งมงาย...........................ทำลาย คุณธรรม์ ปัญญา
ผลผลิต อวิชชา...........................ชีวา ประจญ มลทิน

    อุปาทาน มั่นคง.......................ไม่รู้ จักปลง จงจิต
ประพฤติ ยึดติด...........................ประกฤติ ฤทธิไกร ไป่สิ้น(ประกฤติ=รากเหง้า)
สุขะ อุปสรรค..............................ทุกข์จัก หนักหนา อาจิณ
จงอย่า ชาชิน..............................ชีวิน ต่ำตก อกตรมฯ

๑๘ กันยายน ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

เรื่องของมึง : กลอนเปล่า



เรื่องของมึง : กลอนเปล่า

    คนหลากมักทำหน้าที่อย่างมิใส่ใจ
ยังผลให้ผู้อื่นดื่นคนต้องท้นทุกข์ร้อน
ตัวผู้กระทำ มินำพา มิอาทร
ไม่ใยดี มิตรึกย้อน
ตัดรอนว่าเป็น" เรื่องของมึง "

    การทำหน้าที่ย่อมมีค่าตอบแทน
มาดแม่นอยากได้ให้มากให้หลาย
แต่ตอนทำหน้าที่ ฤดีสิช่างดูดาย
ทำให้น้อย ทำตามสบาย ทำตามอำเภอใจ
" สะใจ,กำไร "หมายว่า หน้าลำพอง

    " หน้าที่ " ที่แท้เป็นสิ่งพึงรับผิดชอบ
เมื่อได้รับมอบ กอปรเกิดพันธะ อันตนจะต้องสนอง
การละเลยหน้าที่/การทำแบบขอไปที/ไม่ใยดี
บางก็มีที่จ้องจะละเว้นและเจนการทุจริต

    การทำให้ผู้อื่นทุกข์ร้อนคือการเบียดเบียน
แปลงเปลี่ยนเป็นเวรกรรมตามติด
การใช้หน้าที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนยิ่งย้อนฤทธิ์
เพราะเพิ่มการกระทำผิดต่อหน้าที่
ย่อมมีโทษเสริมเติมทัณฑกรรม

    " เรื่องของมึง " จึงมิวายกลายเป็น " เรื่องของบาป "
แลกลับเป็นเวรตอบสนองผู้กระทำ
ให้ตกระกำ พบกับความยากเข็ญ

    ผู้มีความกลัวและละอาย
ขอจงอย่าได้ก่อเวร
ทำหน้าที่อย่างตั้งใจอย่าใคร่แค่เล่น
ทำหน้าที่ดีย่อมได้ดี ทำอัปรีย์ย่อมมีลำเค็ญ
เป็นกฎเกณฑ์ครอบงำทุกคน

    หากมีเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
จงฉุกคิด ก่อนประดิษฐ์กิจกรรมนำผล
ทำหน้าที่ดี ย่อมมีบุญ
จุนเจือกลับสำหรับตน
จึงเป็น " เรื่องของตน "
อย่าฉลอุรา ว่าเป็น " เรื่องของมึง "ฯ

๑๗ กันยายน ๒๕๕๘

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

รอแก่ชราก็ช้าเกินไป : กาพย์สุรางคนางค์๓๒



รอแก่ชราก็ช้าเกินไป : กาพย์สุรางคนางค์๓๒

    เยาว์วัย ไม่เพียร....................พากเรียน ศึกษา
ศิลปะ วิทยา................................ทักษะ ฝึกฝน
รอเป็น ผู้ใหญ่..............................ไร้ปัญญา พาจน
ชีวิน ดิ้นรน..................................ยากจน ยากใจ

    มโนธรรม สำนึก.......................(วัย)เยาว์ไม่ ศึกษา
เพาะแต่ ตัณหา............................มนา สาไถย
รอแก่ ชรา...................................ก็ช้า เกินไป
บาปกรรม ทำไกร..........................ก่อนิสัย สันดาน

    มีงาน การกิจ...........................ไม่คิด เก็บออม(เงิน)
(ใช้)จ่ายเพลิน เกิน(ความ)พร้อม......หนี้ห้อม มหาศาล
กว่าจะ ชรา..................................พยาธิ พีพาน
ปัจฉิม วัยวาร................................ทรมาน ทานทน

    วัยหนุ่ม วัยสาว..........................สามหาว เอา(แต่)เล่น
สันทัด จัดเจน...............................แต่สิ่ง อกุศล
ทำตัว เหลวไหล............................ไร้สาระ ผจญ
แก่วัย กลายคน.............................ล้นชั่ว ทั่วชัง

    ผู้หลัก ผู้ใหญ่............................จงใคร่ ครวญเข้า
ลูกหลาน ท่านเยาว์.........................ฟูมเฝ้า ปลูกฝัง
ความดี ศีลธรรม.............................กุศลกรรม ; ลำพัง
ปล่อยเด็ก เล็กยัง...........................คิดได้(เอง) ไม่ดี

    ความดี ความชั่ว.........................(ผู้ใหญ่)ทำตัว เป็นอย่าง
อย่าแส่ แต่สร้าง.............................คำสั่ง หวังศรี
เด็กดู ผู้ใหญ่..................................ใฝ่ดี / ไม่ดี
เลียนแบบ แยบมี.............................วิถี ธรรมดาฯ(แยบ=ท่าทาง)

๑๖ กันยายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

วันทำงาน : กลอนแปด



วันทำงาน : กลอนแปด

    วันทำงาน ทำเงิน เพลิดเพลินจิต............เลี้ยงชีวิต ฤทธิไกร ยิ่งใหญ่แสน
มีงานทำ ล้ำเลิศ ประเสริฐ(ทด)แทน.............ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยแม้น ราบแปลนไป

    ได้ทำงาน ได้ทำ ความครุ่นคิด................ได้ประดิษฐ์ ผลิตสรรค์ จรรโลงไส
ได้พัฒนา (ความ)สามารถ องอาจไกร...........ได้ฝึกฝน ดลให้ ใจมั่นคง

    คนทำงาน การเกื้อ เพื่อแลกเปลี่ยน..........เกิดจำเนียร ปุญญา อานิสงส์
ทั้งลาภ-ยศ-สรรเสริญ-เจริญยง....................อีกกุศล ผลส่ง อลงกรณ์

    มีปฏิ สัมพันธ์ ปันน้ำจิต..........................พันผูกมิตร พิสมัย สโมสร
มีที่พึ่ง ซึ่งพา ชีวะบวร................................และสลาย คลายผ่อน ทุกข์ร้อนรน

    กำลังกาย กำลังใจ เพิ่มไกรแกร่ง.............เพราะออกแรง ทำงาน พานสุขท้น
คอยเพิ่มพูน คุณค่า ความเป็นคน..................เพิ่มน้ำอด น้ำทน พิมลทาน

    ได้ทำงาน ปานว่า ได้ยาวิเศษ..................บำรุงเจต เสร็จสม ภิรมย์ศานติ์
ประกอบกรรม ทำดี ที่ทำงาน.......................ประสบการณ์ บันเทิง รื่นเริงใจ

    เมื่อต่างคน ต่างขยัน ก่อการกิจ................ต่างพัฒนา ชีวิต พิสิฐใส(พิสิฐ=ประเสริฐ)
ต่างทุ่มเท ศักยภาพ อย่างฉับไว...................ประเทศไทย ไป่ปราศ ต้องพัฒนา

    แต่ต่างคน ต่างคิด ติดขี้เกียจ...................ต่างรังเกียจ งานทำ ร่ำปัญหา
คนไม่ซื่อ ไม่ตรง โกงเวลา...........................จึงนำพา ประเทศ สมเพชเอยฯ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ดอกพุดดุจเด็กดี : กลอนเจ็ด



ดอกพุดดุจเด็กดี : กลอนเจ็ด

    ดอกพุด ดุจผ้า ขาวสะอาด..................มิขาด ความงาม ตามวิสัย
พื้นหลัง เขียวเข้ม เต็มด้วยใบ.....................ขับให้ ขาวผ่อง ลำยองตา

    หลังฝน หล่นริน เพิ่งสิ้นสุด....................ดอกพุด หลุดร่วง ไร้ท่วงท่า
กระจัด กระจาย ในธารา............................ภายใต้ พฤกษา ผกากอง

    ดอกพุด ดุจเหล่า ผู้เยาว์วัย....................ใส่ใจ ในกิจ  ประสิทธิ์ส่อง
วิทยา ทั้งหลาย เรียนหมายปอง..................คัดกรอง ถูก-ผิด คิดชั่ว-ดี

    มิเอา การเล่น มาเป็นใหญ่.....................ฝักใฝ่ ทักษะ ศึกษาศรี
ถือเอา เป้าหมาย ในชีวี.............................วิถี วิจักษณ์ เป็นหลักใจ(วิจักษณ์=มีสติปัญญา)

    มิออก นอกลู่ สู่นอกทาง........................คอยสร้าง ความดี นิรัติศัย(นิรัติศัย=ประเสริฐยิ่ง)
อ่อนน้อม ถ่อมตน กมลไกร.........................อยู่ใน คลองธรรม คอยดำเนิน

    มิสรรค์ ปัญหา ราคีใคร่..........................อับอาย ในผิด คิดเก้อเขิน
มิก่อ เวรกรรม บาปกล้ำเกิน........................เจริญ เมตตา เอื้ออารี

    คนพาล ลานพบ ไม่คบข้อง....................ปกป้อง ตนไกล ภัยเภทหนี
คบหา แค่คน กุศลมี..................................เลือกสรร สถานที่ อยู่-ที่ไป

    ศีลธรรม นำพา ชีวาพัฒน์.......................ขจัด มลทิน จินต์สาไถย
มโนธรรม สำนึก ตรองตรึกไตร.....................เยาว์วัย ใสสะอาด สุทัศนาฯ(ไตร=ไกร)

๑๔ กันยายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

คิดผิดคิดใหม่ : กาพย์ฉบัง๑๖



คิดผิดคิดใหม่ : กาพย์ฉบัง๑๖

    พฤกษาสูงใหญ่ใบดก...................ผลัดใบไพรรก
ร่วงปกคลุมดินอินทรีย์

    พร้อมกับผลิใบใหม่มี................หมดจดสดสี
งามขจีบริสุทธิ์ใส

    อยู่เป็นเช่นนี้เรื่อยไป................จึงเจริญวัย
ยิ่งใหญ่ยืนต้นพ้นเวลา

    เกิดเป็นมนุษย์อุตสาห์................เสริมสรรค์ปัญญา
พัฒนาการอย่าละเลย

    ความคิดผิดใดให้เผย................มิควรคุ้นเคย
ชื่นเชยนิยมรมย์รอม

    มิจฉาทิฏฐิริถนอม...............แก้ไขไม่ยอม
สุดท้ายกลายกรอมตรอมตน

    คิดให้ถูกทางสร้างผล................ถูกต้องถ่องยล
จะดลเจริญจิตใจ

    สัมมาทิฏฐินิรามัย................อำนวยอวยชัย
ให้ไกลให้กาจพัฒนา

    เสริมส่งคงมาดปรารถนา.................สติปัญญา
ปรีชาชีวาปรารมภ์

    คือสิ่งที่ควรนิยม................ระรื่นชื่นชม
วิกรมวิกรานต์มานเอยฯ(วิกรม=เก่งกล้า,วิกรานต์=ก้าวหน้า)

๑๓ กันยายน ๒๕๕๘