ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การดำเนินชีวิต ๓ รูปแบบ



การดำเนินชีวิต ๓ รูปแบบ

ทุกชีวิตที่ถือกำเนิดมาบนโลก....
ย่อมต้องดำเนินไป ตามเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง...
และตามสถานการณ์..ที่ตนได้ไปปรากฏตัวอยู่.....
โดยสามารถจำแนกการดำเนินชีวิตออกได้เป็นหลายรูปแบบ
ตามเกณฑ์ที่ยกขึ้นมาใช้พิจารณาเป็นประเด็น
ซึ่งในที่นี้ ขอยกเอา "การใช้เหตุผล" มาเป็นเกณฑ์....
โดยจะขอกล่าวเพียงคร่าวๆ สั้นๆ ไม่ยาว ไม่ลึก..
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก สำหรับคนทั่วไป...

      ในการดำเนินชีวิตของคนเรา...
ขอสรุปเอาโดยอนุโลมว่า...
ทุกๆคน..ล้วนจะต้อง "ใช้ความคิด..."ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป
แม้ว่าในบางคน ในบางครั้ง จะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม....

      สิ่งที่นำมาใช้อ้างอิง-ใช้เป็นหลักในการคิด..อย่างหนึ่ง คือ
......"เหตุ-ผล"......
ซึ่งเป็นหลักที่อาจเรียกได้ว่า สำคัญที่สุด..ดีที่สุด...ถูกกล่าวถึงมากที่สุด...และง่ายที่สุด...
หลายๆท่านคงคิดว่า  ก็ไม่เห็นจะต้องเอามาอธิบาย...
แต่ขอให้ลองอ่านเนื้อหาต่อไปนี้ก่อน....
อาจมีอะไรที่น้อยกว่า / มากกว่าที่ท่านเคยคิดเอาไว้...ก็เป็นได้..

      ในที่นี้จะขอแยก"พฤติกรรมการใช้เหตุผล" ของคนออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ
๑.ไร้เหตุผล / ทำตามอำเภอใจ
๒.มีเหตุผล
๓.มีความสมเหตุสมผล

      พฤติกรรมการใช้ชีวิตตามหลักการดังกล่าวข้างต้น
สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ในครอบครัว..ที่ทำงาน..และสังคมทุกระดับ...
โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกตาม เพศ,วัย,ระดับการศึกษา,อาชีพ,สถานะภาพทางสังคม,
หรือแม้แต่ตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ตั้งแต่ท้องไร่ท้องนาไปจนถึงผู้บริหารประเทศ...

      ด้วยว่ามีการใช้ความคิด การตัดสินใจ บนพื้นฐานของระดับสติปัญญา สามัญสำนึก สภาวะทางจิตและระดับคุณธรรม
ซึ่งสิ่งที่ได้ยกขึ้นมากล่าวนั้น มิได้จำกัดว่า จะต้องมี / ไม่มีในบุคคลใด / ในระดับใด

๑.การไร้เหตุผล /ทำตามอำเภอใจ
      หมายถึง การคิดโดยยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดเอาความชอบ / ไม่ชอบ
ความพอใจ/ไม่พอใจ,ใช้อารมณ์-ความรู้สึกของตนเอง-ผลประโยชน์ของตนเองฯลฯ
เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่า จะเลือกตัดสินใจทำอะไร?อย่างไร?แค่ไหน?....?
แม้จะเป็นการคิดเพื่อทำให้แก่บุคคลอื่น / สังคมส่วนรวมก็ตาม
ก็ยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง
แม้จะมีการอ้างหลักการ-ความรู้หรือหลักศีลธรรมใดๆมาประกอบ ก็จะตีความ-บิดเบือนไปตามอำเภอใจ

      ลักษณะของบุคคลกลุ่มนี้ แสดงถึงภาวะความมืดมนทางสติปัญญาและวุฒิภาวะของบุคคลผู้นั้น
เพราะการยกเอาตนเองเป็นเกณฑ์ ยกเอาตนเองมาเป็นเหตุผลนั้น
หากทำในกรอบแคบๆ เช่นเลือกซื้อสินค้าส่วนตัว ก็ไม่กระไรนัก
แต่หากเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะสาธารณะ
ถ้าต่างคน ต่างจิตต่างใจ ต่างทำตามอำเภอใจเช่นนั้น...
ย่อมไม่สามารถ จะนำมาอ้างว่าเหตุผลที่ทำตัดสินใจเช่นนั้น
ว่าเป็นความถูกต้องเหมาะสม เป็นความชอบธรรม เป็นประโยชน์สาธารณะ
และจะส่งผล...ก่อให้เกิดความโกลาหล เดือดร้อน วุ่นวายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า.....

๒.มีเหตุผล
      หมายถึง การสร้างจิตสำนึกให้ใช้สติ ใช้ความคิด ใช้ปัญญา
ในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป
ผู้มีเหตุผลในการในการตัดสินใจกระทำการใดๆ
ย่อมแสดงออกถึง ความเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีสติปัญญา มีความยับยั้งชั่งใจ มีการควบคุมตน...ในระดับหนึ่ง
      ย่อมเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีมโนธรรม มีสามัญสำนึก ในระดับปานกลาง ว่า...
ในการตัดสินใจกระทำการใดๆ จะต้องคิดถึงเหตุ คิดถึงผล ของการตัดสินใจนั้นๆ
ไม่ใช่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก
จะต้องมีการยับยั้งชั่งใจ...คิด...ใคร่ครวญ...ให้รอบคอบเสียก่อน...ที่จะตัดสินใจ
      แม้ว่า การตัดสินใจใช้เหตุผลในบางครั้ง ในบางคน อาจมีความแตกต่างกันไป
ตามอัตตลักษณะ ตามระดับของวุฒิภาวะ สติปัญญา และประสบการณ์
      ความเป็นผู้มีเหตุมีผลนั้น สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในคนใดก็ได้....
โดยจะต้องให้การอบรม-สั่งสอน-ศึกษา-เรียนรู้-พัฒนา ฯลฯ ทำได้ตั้งแต่วัยเด็กจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
      หากได้ทำการใช้เหตุใช้ผลจนสั่งสมเป็นอุปนิสัยใจคอแล้ว
ก่อนการตัดสินใจกระทำการใดๆ ย่อมไม่ต้องใช้ความพยายามในการกระตุ้นเตือนตนเอง
ให้ระมัดระวังมากนัก จะไม่รู้สึกขัดเขิน / ติดขัดแต่อย่างใด
      ซึ่งการใช้เหตุใช้ผลบ่อยๆ ในทุกๆเรื่อง ทุกๆเหตุการณ์
ยิ่งสร้างความชำนิชำนาญ ได้ใช้สมอง
ได้พัฒนากระบวนการทางความคิด กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง กระบวนการแก้ปัญหา ฯลฯ
จนสามารถพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ดังจะขอกล่าวต่อไป

๓.มีความสมเหตุสมผล
      เป็นระดับสูงสุดของการใช้ความคิด ของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้
ในการตัดสินใจจะกระทำการอันใดลงไป
เป็นระดับที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจากการเป็นผู้ใช้เหตุผลตามข้อที่เพิ่งผ่านมา
      ด้วยความเป็นผู้ที่มีการใช้เหตุผลจนชำนาญ ประกอบกับการอบรมทางอารมณ์จนมีวุฒิภาวะที่สูงขึ้น
มีการใฝ่หาแสวงหาองค์ความรู้ที่สูงขึ้น-ลึกซึ้งขึ้น-เป็นปรัชญา-เป็นนามธรรม-พ้นระดับของปัจเจกชน....
      เป็นองค์ความรู้ที่ต่อยอดความคิด พัฒนาการตัดสินใจ พัฒนาชีวิต สั่งสม-พัฒนา-บ่มเพาะ...
จนเป็นผู้มีสติปัญญา คงแก่เรียน เมื่อประกอบกับการอบรมนิสัยใจคอ
ควบคุมความรู้สึกนึกคิด-อารมณ์ ได้เป็นอย่างดี
      มีการนำหลักศีลธรรม คุณธรรม มาเป็นหลักสำคัญในการประกอบการตัดสินใจ
จนเป็นผู้เข้าใจ-เข้าถึงหลักความถูก-ผิด,ดี-เลว,ควร-ไม่ควร ฯลฯ
มีประสบการณ์ชีวิต มีทักษะในการครองใจตน มีความสามารถในการควบคุมการกระทำของตน
ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
      บางคนบางท่าน ก็พัฒนาตนจนเป็นระดับ "นักปราชญ์ " - " พหูสูต"
สามารถคิดหาต้นต่อของเหตุุ-ผลเองได้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆได้ สามารถหยิบยกเอาองค์ความรู้ต่างๆ
มาใช้ได้อย่างถูกต้อง-เหมาะสม-สอดคล้อง ตามสถานการณ์และข้อเท็จจริง
      สามารถให้น้ำหนักขององค์ประกอบในเหตุและผล ได้อย่างพอดิบพอดี
โดยปราศจากอคติ ความลำเอียง หรือหลงใหล เพราะสามารถแยก"ตน" ออกไปจากการใช้เหตุผล
แยก"อัตตประโยชน์ "ออกจากการตัดสินใจ
      ซึ่งการจะกระทำการเช่นนั้นได้ จะต้องผ่านการอบรม-ขัดเกลา นิสัยใจคอ สติปัญญา อารมณ์ ฯลฯ
ให้สะอาด ด้วยกระบวนการทางศีลธรรม จริยธรรม ฯลฯอย่างยาวนานและประสบความสำเร็จ

บทสรุป

      ผลของการตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป ยอมตกแก่ตัวผู้กระทำเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ก่อให้เกิดการได้รับผลประโยชน์-เสียประโยชน์ ความสำเร็จ-ล้มเหลว ความสุข-ความทุกข์ ฯลฯ
      ดังนั้น ผู้มีความคิดทั้งหลาย พึงกระทำการตัดสินใจให้ละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน ก่อนการกระทำเทอญ ฯ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น